ควรเข้าเฝือกเมื่อใด? ต้องบาดเจ็บแค่ไหน ถึงจะเข้าเฝือก เฝือกมีกี่ประเภท รวมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องเฝือก มาให้ได้อ่านกัน
เฝือก คืออะไร?
คือหนึ่งในอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ใช้ดามกระดูกและข้อจากภายนอก เพื่อต้องการให้อวัยวะนั้นอยู่นิ่ง ใช้กับบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น คอ แขน ขา ข้อมือ ข้อเท้า
เฝือกมี่กี่ประเภท
หลักๆ มีเฝือกอ่อน และเฝือกแข็ง โดยแยกตามวัสดุและการใช้งาน ดังนี้
เฝือกอ่อน
- เฝือกอ่อน อาจใช้วัสดุเช่นเดียวกับเฝือกแข็ง เช่น ปูนปลาสเตอร์ และไฟเบอร์กลาส
- พันไม่รอบส่วนที่ใส่ มีลักษณะคล้ายเฝือกแข็งครึ่งชิ้น ส่วนที่แข็งจะไม่คลุมปิดบริเวณที่บาดเจ็บทั้งหมด แต่จะถูกยึดไว้ด้วยผ้าพันแผลที่ยืดหยุ่นหรือวัสดุอื่น ๆ แทน
- เฝือกอ่อนมีแบบพันเองโดยแพยท์และแบบสำเร็จรูปอื่น ๆ ที่อาจทำจากโลหะแข็งหรือพลาสติกกับเนื้อผ้าชนิดทนทาน มีหลากหลายลักษณะและขนาด
- เฝือกอ่อนใส่ในที่เกิดเหตุ และใช้เลาใส่ไม่นาน หากนำผ้ายืดออก ก็นำเฝือกออกได้เลย
เฝือกแข็ง
มีวัสดุที่นิยมนำมาทำ ได้แก่
- ไฟเบอร์กลาส พลาสติกสังเคราะห์ชนิดหนึ่งมีหลายสี น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ทนทาน แสดงภาพเอกซเรย์กระดูกระหว่างใส่เฝือกได้ชัดเจน ใช้เป็นวัสดุกันน้ำชั้นนอก ส่วนการใช้วัสดุชั้นในขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- ปูนปลาสเตอร์ เป็นเนื้อพิมพ์วัสดุแข็ง ทำจากผงปูนผสมกับน้ำแล้วขึ้นรูปจนพอดีกับบริเวณที่บาดเจ็บ ราคาถูกกว่าและขึ้นรูปได้ง่ายกว่าไฟเบอร์กลาส ข้อเสียคือ ค่อนข้างหนัก อาจละลายออกมาได้เมื่อโดนน้ำ และแสดงภาพเอกซเรย์กระดูกระหว่างใส่เฝือกได้ชัดเจนน้อยกว่าไฟเบอร์กลาส
- เฝือกแข็ง ถูกผลิตขึ้นเฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อประคับประคองรูปร่างหรือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บอย่างพอดีและเหมาะสม
- มีลักษณะเหมือนผ้าพันแผลขนาดใหญ่สองชั้น ชั้นในอยู่ติดกับกับผิวหนัง โดยทำมาจากผ้าฝ้ายนุ่มและวัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ ส่วนชั้นนอกจะเป็นวัสดุแข็ง เพื่อป้องกันกระดูกเคลื่อน
- ช่วยป้องกันการบาดเจ็บและการแตกหักได้ดีกว่าเฝือกอ่อน
เฝือกอ่อน เฝือกแข็ง ควรใส่แบบไหน?
จะใส่เฝือกแข็งหรือเฝือกอ่อน ขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บ
- ถ้ากระดูกหัก ต้องพยุงกระดูกให้ขยับน้อยที่สุด จึงต้องใส่เฝือกแข็ง
- ถ้าเนื้อเยื่อบาดเจ็บ อักเสบ ใช้เฝือกอ่อน เพื่อให้การขยับลดลง ได้พักฟื้นฟูเนื้อเยื่อและลดความเจ็บปวด
เมื่อใดควรเข้าเฝือก?
- กระดูกหัก หรือข้อเคลื่อน กระดูกสันหลังคด หรือ โรคกระดูก เช่น โรคกระดูกโปร่งบาง หรือเป็นเนื้องอกของกระดูก
- ป้องกันการหดรั้งของกล้ามเนื้อ เช่น ผู้ป่วยแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- ดามกระดูก และข้อหลังผ่าตัด เพื่อให้แผลหายเร็ว ป้องกันการตกเลือดในแผลผ่าตัด หรือหลังการต่อเส้นเอ็น เส้นเลือด เส้นประสาท’
ใส่เฝือกกี่วันถึงจะหาย
- ผู้ป่วยที่ใช้เฝือกอ่อน อาจนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์
- ผู้ป่วยที่ใส่เฝือกแข็ง อาจนานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยเฉพาะผู้ป่วยกระดูกหักต้องใช้เวลาในการใส่เฝือกเพื่อให้กระดูกติดกัน
ทั้งนี้ ระยะเวลาการใส่เฝือกอาจขึ้นอยู่กับประเภทของเฝือก อาการของผู้ป่วย บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ และดุลยพินิจของแพทย์ด้วย
ขอบคุณที่มา : pobpad, supachokclinic, paolohospital