จากประเด็นข่าวสาวเพชรบุรีถอนฟัน 2 ซี่ แล้วเสียชีวิต ล่าสุด! นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เผยผลตรวจแล้วว่า สาเหตุเกิดจาก มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง กดทับทางเดินหายใจและโรคประจำตัว อย่างไรก็ตามทางครอบครัวได้เข้ายื่นเรื่องให้คณะกรรมการฯ ตรวจสอบ หากพบเป็นความบกพร่องของการรักษา ครอบครัวมีสิทธิรับค่าเยียวยา ไปทำความรู้จักโรคนี้กันว่า จะมีวิธีสังเกตหรือป้องกันอย่างไรได้บ้าง
มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง คืออะไร?
เนื้องอกของระบบน้ำเหลือง (Lymphatic System) เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของระบบน้ำเหลือง และความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว โดยถือเป็นระบบหนึ่งของภูมิคุ้มกัน ที่ประกอบไปด้วย อวัยวะน้ำเหลือง ได้แก่ ม้าม และไขกระดูก โดยอวัยวะเหล่านี้เต็มไปด้วยน้ำเหลือง มีหน้าที่นำสารอาหารและเซลล์เม็ดเลือดขาวไปทั่วร่างกาย เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านี้เกิดความผิดปกติ จึงทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้นมา
สาเหตุมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง
สาเหตุ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด โดยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะสามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ของระบบที่มีต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ม้าม ไขกระดูก ต่อมทอนซิล และต่อมไทมัส ส่วนอื่นๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้เพราะต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น คอ รักแร้ ข้อพับแขน ข้อพับขา ช่องอกหรือช่องท้อง
อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์เบื้องต้น ว่ามีปัจจัยเสี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้แก่
- ปัจจัยทางเคมี เช่น สารเคมีปราบศัตรูพืช น้ำยาย้อมผม เป็นต้น
- ปัจจัยทางภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีสมรรถภาพภูมิคุ้มกันโรคลดลง เช่น โรคเอดส์ การปลูกถ่ายอวัยวะ โรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น
- ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น พี่น้องอาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตามลำดับ หรือเป็นพร้อมกัน
- สาเหตุจากไวรัส การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัส HIV เป็นต้น
อาการของมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง
- คลำพบก้อนในบริเวณต่างๆ เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ หรือในช่องท้อง คลำที่ก้อนแล้วไม่เจ็บ (ถ้าเป็นโรคที่มีการติดเชื้อคลำแล้วจะมีอาการเจ็บที่ก้อน)
- มีไข้ หนาวสั่น เหงื่อออกตอนกลางคืน
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลง อ่อนเพลีย ไม่ทราบสาเหตุ
- ต่อมทอนซิลโต
- ไอเรื้อรัง หายใจไม่สะดวก
- ซีด เลือดออกง่าย พบจุดเลือดออกตามตัวหรือจ้ำเลือด
- หากเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง จะมีอาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง หรือท้องโตขึ้นเพราะมีน้ำในช่องท้อง
รักษาให้หายได้มั้ย?
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าไม่ได้อยู่ในระยะแพร่กระจาย ดังนั้นทุกคนควรสังเกตสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ หากคลำเจอก้อนเวลาอาบน้ำ ควรรีบไปพบแพทย์ จะได้ทำการรักษาได้ทัน
วิธีดูแลสุขภาพ
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ให้เน้นอาหารที่มีพลังงานเยอะ เช่น ไข่ขาว หรืออาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ
- หลีกเลี่ยงพวกยาชุด ยาชุด ยาหม้อ ยาลูกกลอน
- ควรออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง
ขอบคุณข้อมูลจาก : รพ. พญาไท, คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล