หากคุณ ถูกคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) หรือ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ควรเพิกเฉย เพื่อรักษาสิทธิในร่างกายของตนเอง มีวิธีรับมืออย่างไรได้บ้าง ไปอ่านคำแนะนำกันไว้ก่อน
Sexual Harassment คืออะไร?
Sexual Harassment คือ การคุกคามทางเพศหรือการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นการกระทำที่มีเจตนาที่ไม่ดี และกระทำโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทำให้เหยื่อได้รับผลกระทบทางร่างกายและอาจสร้างบาดแผลทางจิตใจอย่างรุนแรง ทั้งนี้การกระทำดังกล่าว มีหลายรูปแบบไม่ใช่เพียงแค่ภายนอกทางร่างกายเท่านั้น มีอีกหลายรูปแบบ ดังนี้
พฤติกรรมเข้าข่าย การคุกคามทางเพศ Sexual Harassment
การแสดงออกทางวาจา คำพูด หรือการสื่อสาร เช่น
- พูดจาล่วงเกิน พูดเกี่ยวกับเรื่องเพศ
- ผิวปากหรือส่งเสียงหยอกล้อ
- เล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ, พูดถึงสัดส่วนของร่างกาย
- พูดเล่นคำที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ
- ร้องขอหรือส่งข้อความซ้ำ ๆ เพื่อขอนัดเจอ ขอเบอร์ หรือข้อมูลส่วนตัวแม้จะถูกปฏิเสธ
- ส่งภาพ วิดีโอ และเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาทางเพศให้กับอีกฝ่าย
- ใช้คำพูดหรือส่งข้อความข่มขู่เมื่ออีกฝ่ายไม่ยินยอมที่จะทำตามคำขอ
- ร้องขอการกอด จูบ การมีเพศสัมพันธ์ หรือวิดีโอและรูปภาพส่วนตัว เป็นต้น
กิริยาท่าทาง การแทะโลมทางสายตา แสดงออกทางสีหน้า เช่น
- การจ้องมองส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- การแลบลิ้นเลียรอบปาก
- การจ้องมองที่หน้าอก
การสัมผัสทางร่างกาย เช่น
- พยายามใกล้ชิดมากเกินไปโดยไม่จำเป็น สัมผัสร่างกายโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม แตะเนื้อต้องตัว โอบกอด โอบไหล่ ลูบไล้หรือโดนนั่งเบียดบนรถสาธารณะ
- การสตอล์ก (Stalk) หรือการเดินตามเหยื่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ
- บีบบังคับให้อีกฝ่ายยินยอมต่อการถูกคุกคามทางเพศ โดยใช้หน้าที่การงาน ผลการเรียน ชื่อเสียง หรือผลประโยชน์ เป็นต้น
ผลกระทบเมื่อถูก Sexual Harassment
ผลกระทบของเหยื่อนเมื่อโดน Sexual Harassment จะรู้สึกกังวลใจ รู้สึกเครียดติดต่อกันเป็นเวลานาน รู้สึกโกรธและโทษตนเอง ยิ่งในบางกรณีผู้ที่คุกคามเหยื่อเป็นคนใกล้ตัว เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง อาจารย์ เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน ยิ่งทำให้เหยื่อเกิดความกลัว ไม่กล้าบอกใคร ส่งผลทำให้ถูกกระทำซ้ำๆ เรื่อยมา ทำให้สร้างบาดแผลให้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคทางอารมณ์ได้ทั้งแบบชั่วคราวและเรื้อรัง เช่น โรคเครียด ภาวะซึมเศร้า ภาวะ PTSD
ทำอย่างไรเมื่อโดนคุกคามทางเพศ
ตั้งสติ ออกจากบริเวณนั้นได้ควรออกมา หาทางหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตนเอง
แสดงออก ต้องแสดงออกทันทีว่าไม่พอใจ หรือถอยห่างจากบุคคลนั้น
ส่งเสียงร้อง ขอความช่วยเหลือ เรียกให้ผู้อื่นช่วย เพื่อให้ผู้กระทำหยุดการกระทำไม่ดีนั้น
บันทึกหลักฐาน หากทำได้ให้ตั้งสติแล้วกดบันทึกเสียง บันทึกภาพ วิดีโอ วัน เวลา ข้อมูลชื่อผู้คุกคามเพื่อนำไปเป็นหลักฐาน
แจ้งปัญหา เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้บุคคลที่ไว้ใจได้ทราบทันที หรือ แจ้งตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณที่มา : pobpad, petcharavejhospital