จากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อช่วงเย็นวันที่ 3 ต.ค. 66 ในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองกรุง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไม่เหตุการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสังคมไทย หลายคนตั้งคำถามว่าเราจะป้องกันเหตุการณ์ลักษณะนี้ หรือเอาตัวรอดกันอย่างไรได้ ล่าสุด คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำแนะนำเพื่อตัดวงจรพฤติกรรมการลอกเลียนแบบความรุนแรง สรุป “สิ่งที่ควรทำ และ สิ่งที่ไม่ควรทำ” หากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงลักษณะดังกล่าว
ควรทำ
- ห้ามให้ตัวตนคนร้าย อย่าเอ่ยชื่อ
- นำเสนอ การร่วมกัน ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายของผู้ประสบเหตุ
- เล่าเรื่องผู้แจ้งเหตุก่อน แล้วเล่าเรื่องผู้ที่ตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น
- อัปเดตเหตุการณ์ตามที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น!
- เน้นเรื่องการป้องกันและการเยียวยา
อย่าทำ
- เปิดเผยชื่อ ภาพ อาวุธ ประวัติส่วนตัว แรงจูงใจในการก่อเหตุของผู้ร้าย
- บรรยายพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ก่อเหตุรู้สึกเท่เก่ง เช่น “อุกอาจ”
- รายงานเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ว่าครั้งนี้มากหรือน้อยกว่าครั้งก่อนเท่าไร
แนวทางการเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสีย
ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สิ่งที่ควรทำในการเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสีย ดังนี้
ไม่ซ้ำเติมผู้ประสบเหตุ ด้วยการถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในเวลาที่เขาไม่พร้อมเพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แล้ว จะมีทั้งความรู้สึกของ ความกลัว ความรู้สึกผิด
สื่อสารระบายออกมา เพื่อบรรเทาความรู้สึกให้จางลงเมื่อพร้อม กับคนที่เราไว้วางใจ มันจะช่วยให้เราตระหนักและเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้นจากการพูดคุยกับคนอื่น
การดูแลคนใกล้ชิดสามารถทำได้ด้วยการแสดงความเข้าใจ เพื่อสื่อว่ายังอยู่ข้าง ๆ และพร้อมที่จะรับฟัง เมื่อเขาพร้อมที่จะสื่อสาร ทั้งนี้ผลกระทบทางจิตใจต่อเหตุการณ์ร้าย ๆ สามารถติดอยู่ในใจได้ยาวนาน 3-6 เดือน ถ้าใครผ่าน 6 เดือนไปแล้ว ยังคงรู้สึกกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ยังกลัวว่าจะมีใครมาทำร้าย ก็อาจจะต้องรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
สำหรับเด็กที่ยังสื่อสารไม่ได้ดีนัก พ่อแม่ต้องคอยสังเกตว่าเขามีพฤติกรรมถดถอยหรือไม่ เช่น จากที่ไม่ฉี่รดที่นอนแล้ว กลับมาฉี่รดที่นอน ที่เคยรักดูแลน้องกลับมาแกล้งน้องกัดน้อง ถ้าพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ควรพาไปพบจิตแพทย์เด็กหรือนักจิตวิทยาเด็ก