คัดลอก URL แล้ว

ความปลอดภัยในอาหารและยา กับเทคโนโลยีป้องกันแบคทีเรียดื้อยาจาก UniFAHS

ในปัจจุบัน แม้ว่ากระบวนการผลิตอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค จะมีกระบวนการและกรรมวิธีที่ทันสมัย ปลอดภัย และได้มาตรฐานที่ดีกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างก้าวกระโดด แต่พัฒนาการของเชื้อแบคทีเรียก็ไม่ได้หยุดนิ่ง และยังเป็นภัยเงียบที่พร้อมจะสร้างอันตรายด้านสุขภาพแก่ผู้บริโภคได้อย่างร้ายแรง มีการประมาณการกันว่า ภายในปี 2025 อัตราการเสียชีวิตจากสาเหตุของเชื้อแบคทีเรียดื้อยา จะมาเป็นลำดับหนึ่ง อาจจะไม่ใช่เรื่องราวที่เกินจริงจนเกินไปนัก 

แต่ด้วยความชำนาญ พัฒนา และต่อยอดการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้ คุณชลิตา วงศ์ภักดี และ ดร.กิติญา วงษ์คำจันทร์ สองผู้ก่อตั้งแห่ง UniFAS ได้นำองค์ความรู้ที่มีมาประยุกต์จนก่อเกิดเป็น
‘สารฆ่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยา’ ที่จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยในอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค
ที่มากยิ่งขึ้น เพื่อคุณภาพและสุขอนามัยที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

Phage Biotechnology: เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยในอาหารและยา

ในศาสตร์แห่ง Biotechnology สาขาปลีกย่อยนั้น สาขา ‘Phage’ หรือศาสตร์แห่งการฆ่าเชื้อนั้น เป็นสิ่งที่จะทวีความสำคัญอย่างยิ่งในอนาคตภายภาคหน้า ท่ามกลางการผลิตที่มีกระบวนการซับซ้อนยิ่งขึ้น และความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยจากสารปนเปื้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการก่อตั้ง UniFAS ของคุณชลิตา และ ดร.กิติญา 

‘จุดเริ่มต้นของ UniFAHS นั้น มาจากการต่อยอดผลงานวิจัยในระดับปริญญาเอก ซึ่งได้ทำวิจัยในส่วนของ Bacteriohage หรือตัวกินแบคทีเรียตามธรรมชาติ ซึ่งมีบทบาทในการฆ่าเชื้อปนเปื้อนและเชื้อดื้อยา และเราได้โฟกัสไปที่การใช้งานในส่วนของ Food Supply Chain เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำอย่างการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงโรงงานแปรรูปอาหาร และผลิตภัณฑ์สำเร็จอย่างอาหารสำหรับผู้บริโภค’ คุณชลิตากล่าวถึงที่มาที่ไป 

แน่นอนว่ากระบวนการฆ่าเชื้อหรือ Bacteriophage นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันแค่ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง
แต่ครอบคลุมในทุกกระบวนการ เพราะการปนเปื้อน สามารถเกิดขึ้นจากจุดใด เวลาใดก็ได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ UniFAHS เองนั้น ก็มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะใช้งานได้กับทุกกระบวนการดังที่กล่าวมา 

COVID-19 และความเข้มงวดด้านความปลอดภัยทางด้านอาหารที่มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

บริษัท UniFAHS ก่อตั้งในปี 2020 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีหลังการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่สร้างความระส่ำระสายให้กับโลก และแน่นอน ความปลอดภัยทางด้านอาหารและยาคือสิ่งที่ได้รับความสำคัญมาเป็น  ลำดับต้นๆ และเป็นจังหวะที่บริษัทเองได้เติบโตขึ้น

‘ในช่วง COVID-19 อาจจะเรียกว่าเป็นโอกาสของเราก็ว่าได้ เพราะผลิตภัณฑ์ของเรานั้นจะใช้สำหรับงานด้านสุขภาพและอาหารเป็นหลักอยู่แล้ว ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญซึ่งเราใช้เทคโนโลยีลดความเสี่ยง ลดแบคทีเรียติดเชื้อให้ลดน้อยลง’ คุณชลิตากล่าว 

แต่แน่นอน การดำเนินงานใช่ว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร้อุปสรรค เพราะภาคอุตสาหกรรมอาหารที่มีความติดขัด ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยปัจจัยที่หลากหลายกันไป แต่ทาง UniFAHS ก็ได้จัดเตรียมแนวทางที่พร้อมช่วยเหลือเอาไว้อย่างทันท่วงที 

การขยายตัว และความท้าทายในก้าวต่อไปของ UniFAHS

มาในวันนี้ UniFAHS สามารถผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 ได้ และสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตเนื้อไก่ส่งออกได้ถึง 20-30% ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สดใสและเป็นไปในทิศทางบวก แต่สำหรับก้าวถัดไปล่ะ จะเป็นเช่นใด 

‘เป้าหมายของเราอาจจะเป็นการขยายตัวต่อเนื่องขึ้นไป เพื่อให้ครอบคลุมกับอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างเพียงพอ แต่ทั้งนี้ ทาง UniFAHS ก็ยังมีพาร์ตเนอร์ที่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศได้ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย ตุรกี ซึ่งเป็น Hub ชุดแรกของการส่งออก โดยการขยายตัวก็ต้องเพียงพอ​ เพื่อที่จะส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวเหล่านี้ไปพร้อมกันด้วย’ ดร.กิติญา กล่าวถึงทิศทางถัดไป 

และเมื่อถามลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้งานจะได้จาก UniFAHS ในอนาคต โดยเทคโนโลยี Phage Biotechnology นั้น ดร.กิติญากล่าวเสริมได้อย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง

‘ส่วนตัวมองว่า เรานำปัญหาของลูกค้ามาเป็นโจทย์เพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างยั่งยืน ให้เกิดการใช้งาน มีประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าลูกค้าจะมีความต้องการอย่างไรก็ตาม เราต้องสามารถปรับเปลี่ยน ต้องตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อที่ทางผู้ประกอบการจะได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แม้กระทั่งหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ช่วยให้สินค้ามีความพรีเมี่ยมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ อาจจะเรียกได้ว่าการ ‘ปรับเปลี่ยนประสบการณ์และการใช้งาน’ ให้เหมาะสมตามแต่ละผู้ประกอบการเลยก็ว่าได้​ ’

และเมื่อถามถึงแนวทางคิดในการประกอบธุรกิจของทั้งสองท่านที่นำพา UniFAHS มาจนถึงปัจจุบัน
คุณชลิตาได้กล่าวสรุปเอาไว้ดังนี้ 

‘ในแนวคิดหลักนั้น เราใช้คำว่า ‘ความท้าทายคือโอกาส’ และถ้าถามว่าความยากง่ายการทำธุรกิจ
เราดูจากขนาดของปัญหาในตลาด ถ้าขนาดของปัญหามีอยู่เยอะ แต่ยังไม่มีแนวคิดหรือผลิตภัณฑ์อะไรที่สามารถนำมาตอบโจทย์ได้อย่างแม่นยำ และถ้าเราสามารถตอบสนองได้ ก็ถือว่าสามารถเข้าไปทำตลาดได้ไม่ยาก แต่ถ้าความยากเหล่านั้น ถ้าเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ ก็อาจจะต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อสร้างการตระหนักรู้ และประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้ ต่อยอดไปสู่ความเชื่อมั่น และการใช้งาน แต่โดยสรุปคือ พิจารณาจากขนาดของปัญหา และสองคือ ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่าที่ลูกค้าลงทุนให้ได้มากทื่สุด’ คุณชลิตากล่าวปิดท้าย

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://www.unifahs.com

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง