คัดลอก URL แล้ว

สัตว์เลี้ยงอยู่ในรถตามลำพัง อาจไม่ปลอดภัย รู้วิธีเลี่ยง และดูแลพวกเขาก่อนสาย

ไม่ใช่แค่เด็กเล็กที่ต้องเผชิญปัญหาถูกทิ้งไว้ในรถจนเกิดเหตุโศกนาฏกรรม แม้แต่สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก และอื่น ๆ ก็เผชิญปัญหาการถูกทิ้งไว้ในรถตามลำพังจนเกิดเหตุร้ายได้เช่นกัน ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียแก่เพื่อร่วมเดินทางโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ในบางครั้งผู้ขับขี่ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องนำสัตว์เลี้ยงร่วมเดินทางด้วยรถส่วนตัว อาทิ การพาไปหาสัตวแพทย์ การพาท่องเที่ยวต่างจังหวัด การเดินทางร่วมกิจกรรมสำหรับสัตว์เลี้ยว หรือมีความจำเป็นที่ต้องร่วมเดินทางเนื่องจากไม่มีสมาชิกครอบครัวช่วยดูแลได้

สำหรับเจ้าของรถที่มีสัตว์เลี้ยงคู่กาย การจะต้องนำขึ้นรถเพื่อร่วมเดินทาง และมีความจำเป็นที่อาจต้องอยู่ในรถชั่วคราว จะต้องรู้ความเสี่ยงอะไรบ้าง และจะมีวิธีในการดูแลอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรม

ภาพประกอบจาก freepik.com

อันตรายจากการทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถ

ด้วยการที่สัตว์เลี้ยงมีขนาดลำตัวที่เล็ก มีจุดระบายความร้อนที่แตกต่าง และน้อยกว่ามนุษย์ เช่น สุนัขที่มีต่อเหงื่อเฉพาะใต้ฝ้าเท้า จมูก กับที่ลิ้น ทำให้การระบายความร้อนนั้นเป็นไปอย่างจำกัด หากจอดรถทิ้งไว้โดยไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ ส่งผลให้ภายในห้องโดยสารเกิดการสะสมอุณหภูมิทั้งจากการถูกแสงแดด หรือคลื่นความร้อนจากภายนอกเข้าแทรก และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย

สมมุติว่าหากอุณหภูมิภายนอกรถรวมอยู่ที่ 29 องศาเซลเซียส สามารถทำให้อุณหภูมิภายในรถสูงขึ้นเกิน 38 องศาเซลเซียสในเวลาเพียง 10 นาที และหากอุณหภภูมิภายนอกร้อนทะลุ 32 องศา สามารถเปลี่ยนภายในรถร้อนจัดถึง 42 องศาเซลเซียสภายในเวลา 10 นาทีได้ ซึ่งจะเป็นอัตรายต่อสัตว์เลี้ยงอย่างรุนแรง และรวดเร็ว

โรคลมแดด (Heatstroke) และภาวะขาดน้ำ ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดภาวะช็อก อวัยวะภายในเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สุนัข” หากอุณหภูมิในร่างกายเกิน 40 องศาเเซลเซียสขึ้นไป จะเป็นอัตรายต่ออวัยวะภายใน และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 6 นาที ถึงจะช่วยหรือรักษาได้ทัน ก็จะเกิดความผิดปกติในการใช้ชีวิตเนื่องจากอวัยวะภายใน และสมองเกิดความเสียหายในระยะยาวแล้ว

แม้ว่าจะจอดในร่ม แต่หากทิ้งไว้นานเกินไป จะทำให้ห้องโดยสารเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย ไปจนถึงกลิ่นเหม็นอับที่ส่งผลต่อสุขภาพ

และถึงเปิดหน้าต่างทิ้งไว้ ก็ไม่ได้ช่วยการระบายความร้อนออกมามากนัก แถมเพิ่มความเสี่ยงเกิดอาชญากรรมต่อรถคุณได้เช่นกัน

ภาพประกอบจาก freepik.com

ป้องกันก่อนสาย

วิธีที่ดีที่สุดคือการให้สัตว์เลี้ยงของคุณอยู่เฝ้าบ้าน โดยฝากให้สมาชิกครอบครัวในบ้านช่วยดูแล เลี่ยงการนำสัตว์เลี้ยงออกทำธุระในวันที่อากาศหรือแสงแดดร้อนจัด หรือแนะนำใช้บริการรับฝากสัตว์เลี้ยงชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถตามลำพัง

แต่หากคุณไม่มีสมาชิกในบ้านช่วยดูแล หรือมีงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อการรับฝากชั่วคราวได้ และมีความจำเป็นต้องพาสัตว์เลี้ยงขึ้นรถด้วย เช่น ท่องเที่ยวทั้งครอบครัว หรือพาพบแพทย์ นี่คือเคล็ดลับที่ควรทำเพื่อลดความเสี่ยงจากภายในห้องโดยสารที่ร้อนอบอ้าว

1.เลี่ยงการจอดกลางแจ้ง ควรจอดรถในร่มให้ได้มากที่สุด และควรมีม่านบังแดดกระจกบังลมหน้าด้วย

2.เตรียมชามน้ำเย็นให้สัตว์เลี้ยงดื่มได้ง่ายที่สุด

3.ควรหาผ้ารองเบาะหนังด้วย เพราะเบาะหนังจะร้อนมากเป็นอัตรายต่อฝ่าเท้า ไปจนถึงหาแผ่นทำความเย็น หรือห่อถุงน้ำแข็ง หรือขวดน้ำแช่แข็งห่อทับในผ้าขนหนูเพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้นอนที่เย็น ๆ

ส่วนการเปิดแอร์ภายในรถไว้อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก เพราะสามารถปล่อยไอเสียรบกวนผู้อื่นได้

4.เจ้าของรถควรแวะเช็คสภาพสัตว์เลี้ยงภายในรถทุก ๆ 3 – 5 นาที และควรเปิดประตูเพื่อระบายความร้อน หรือระบายอากาศเสียออกก่อนทุกครั้ง สำคัญที่สุดคือต้องไม่ลืมโดยเด็ดขาด

5.หากมีเพื่อน หรือสมาชิกครอบครัวร่วมเดินทาง ก็จะสามารถช่วยเฝ้าและสามารถเปิดแอร์ในรถได้ รวมถึงสามารถติดต่อเจ้าของรถได้ตลอดเวลา

6.หากทุกอย่างไม่เอื้ออำนวยจริง ๆ ควรออกทำธุระพร้อม ๆ กับพาสัตว์เลี้ยงออกจากรถด้วยจะดีที่สุด

ในกรณีที่พบสัตว์เลี้ยงอยู่ในรถของคนอื่น ไม่ควรปล่อยผ่านหรือมองข้าม แต่ให้คุณถ่ายรูป หรือ จดข้อมูลของรถ อาทิ ยี่ห้อรถ รุ่นรถ ป้ายทะเบียน และตำแหน่งที่จอดเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทำการประกาศตามหาเจ้าของรถ

แต่หากเห็นอาการผิดปกติ เช่นมีอาการหอบ หายใจเร็ว หรือหมดสติ ควรรีบแจ้งหน่วยกู้ภัยให้มาช่วยทันที และควรเฝ้าสังเกตการณ์สภาพของสัตว์เลี้ยง หรือเคาะกระจกเพื่อให้สัญญาณอยู่เสมอ ประกอบกับบันทึกสภาพสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นหลักฐานแทนการทุบกระจกช่วยเหลือตามลำพังเพราะอาจผิดกฎหมายได้


สัตว์เลี้ยงที่คุณรักย่อมมีชีวิต มีจิตใจ และมีความรู้สึกที่เจ้าของรถหรือผู้โดยสารต้องให้ความใส่ใจ การที่ต้องถูกทิ้งไว้ในรถยนต์ย่อมสร้างความรู้สึกอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยวตามลำพัง ทุกข์ทรมานจากความร้อนหรืออากาศไม่เพียงพอ และกระวนกระวายรอเจ้าของมาช่วย ใจเขาใจเรา ไม่ควรทิ้งสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถตามลำพังจะดีที่สุด

ทั้งนี้ ในกฎหมายบางประเทศการทิ้งสัตว์เลี้ยงภายในรถตามลำพังถือว่าผิดกฎหมาย และพลเมืองดีสามารถแจ้งหน่วยกู้ภัยให้เข้าช่วยเหลือได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งเจ้าของรถอีกด้วย

เครดิตข้อมูลจาก


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง