การสอบ ก.พ. คืออะไร ต้องสอบอะไรบ้าง เมื่อผ่านการทดสอบแล้ว สามารถไปทำอาชีพอะไรได้บ้าง ต้องแต่งตัวยังไงไป สอบ ก.พ. ในบทความนี้รวมทุกข้อสงสัยมาให้รู้กัน
ก.พ. คืออะไร
คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. คือ คณะกรรมการที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2471 โดยมีชื่อเรียกในขณะนั้นว่า “ก.ร.พ.” หรือ “คณะกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน” เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการจัดสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการพลเรือน และจัดการศึกษาให้นักเรียนหลวงฝ่ายพลเรือนที่ส่งไปศึกษายังต่างประเทศ
ต่อมาได้เปลี่ยนจากชื่อจาก ก.ร.พ. เป็น ก.พ. ทำหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการด้านบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนนับตั้งแต่การกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนการสอบเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการการแต่งตั้งโยกย้ายการเลื่อนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไปจนถึงการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สรุปแล้ว ก.พ. คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นองค์การกลาง ที่ดูแลด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการบริหารกำลังคนในราชการให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหน้าที่สำคัญ ในการจัดสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามาบริหารงานในหน่วยงานราชการ โดยบุคคลที่จะผ่านการคัดเลือกเข้ามาทำงานราชการได้นั้นต้องผ่านการทดสอบทั้งภาค ก. ข. และ ค.
การสอบ ก.พ. มีทั้งหมด 3 ภาค ก. ข. และ ค.
ภาค ก คือ การสอบภาคความรู้ ความสามารถทั่วไป
ทำแบบทดสอบที่วัดระดับเชาว์ปัญญา ทุกคนที่จะสอบบรรจุข้าราชการต้องสอบภาค ก เมื่อสอบผ่านแล้วสามารถใช้ได้ตลอดชีพไม่ต้องสอบใหม่อีก โดยการสอบแบ่งเป็น 3 วิชา คือ
– ทดสอบวิชาความสามารถทั่วไป : ด้านการคิดคำนวณ และด้านการให้เหตุผล คะแนนเต็ม 100 คะแนน ( ป.ตรี ป.โท ต้องทำให้ 36 ข้อขึ้นไปถึงผ่าน)
– ทดสอบวิชาภาษาไทย : ด้านการเข้าใจภาษา ซึ่งจะทดสอบโดยการการอ่านและการทำความเข้าใจบทความ การเขียนประโยคให้ถูกต้องตามหลักภาษา จำนวน 40 ข้อ คะแนนเต็ม 50 คะแนน
– ทดสอบวิชาภาษาอังกฤษ : ทดสอบความรู้ในการใช้ภาษาอังกฤษเบื้องต้นจากการ ฟัง พูด อ่าน เขียน คะแนนเต็ม 50 คะแนน ข้อสอบแยกเป็นระดับวุฒิการศึกษา
จัดสอบทุกปี : เป็นการสอบ ก.พ. แบบ E-exam คือ การสอบสำหรับบุคคลทั่วไป ทำข้อสอบด้วยคอมพิวเตอร์ ติดตามกำหนดการสอบและรายละเอียดได้จากทางเว็บของ ก.พ. http://job.ocsc.go.th/Default.aspx
ภาค ข. การสอบภาคความสามารถเฉพาะตำแหน่ง
ผู้สอบต้องนำหนังสือรับรองมายืนยันว่าได้สอบผ่าน ภาค ก. แล้วจึงจะสมัครได้ โดยการสอบ ภาค ข. นั้นเป็นการสอบที่เน้นใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง เช่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ, นิติกร, เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน เป็นต้น ผู้ที่จัดสอบจะเป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เปิดรับสมัคร
ภาค ค คือ การสอบสัมภาษณ์
ผู้เข้าสอบจำเป็นต้องผ่านการสอบ ภาค ก. และ ภาค ข. มาก่อน โดย ภาค ค.เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ เพื่อดูถึงความเหมาะสมกับตำแหน่ง อาจมีการแบบทดสอบอย่างอื่นเพิ่ม เช่น ทดสอบร่างกาย หรือ ทดสอบจิตวิทยา ฯลฯ
คุณสมบัติการสอบ ก.พ.
– มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (ไม่กำหนดอายุสูงสุด)
– มีสัญชาติไทย
– จบการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษาชั้นปีสุดท้ายของระดับ ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี หรือปริญญาโท
– มีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม (ตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551)
แต่งตัวยังไงไปสอบ ก.พ.
- ชุดสุภาพ สวมใส่สบาย เช่น เสื้อเชิ้ตแขนสั้น เสื้อเชิ้ตแขนยาว เสื้อแขนยาว กางเกงผ้า,กางเกงสแล็คขายาว แนะนำไม่ควรใส่กางเกงยีนส์ และสามารถใส่รองเท้าผ้าใบได้
สอบ ก.พ. สอบได้กี่ครั้ง
- การสอบ ก.พ. ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการสอบ สามารถสมัครสอบได้ทุกปี และผลสอบก็ไม่มีวันหมดอายุด้วย
สอบ ก.พ. ผ่านแล้ว ทำอาชีพอะไรได้บ้าง?
หากสอบ ก.พ. ผ่านแล้ว สามารถสมัครเข้าทำงานในหน่วยงานราชการ ได้หลายหน่วยงาน หลากหลายตำแหน่ง เช่น
- นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ
- นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
- นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ
- นักวิชาการตรวจสอบภายในปฏิบัติการ
- พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ
- เภสัชกรปฏิบัติการ
- นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ
- นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ