จากประเด็นของ เบียร์ เดอะวอยซ์ ที่มีภาพหลุดบนโลกออนไลน์ และมีกระแสจากชาวอินเทอร์เน็ตวิจารณ์เธอในเชิง negative ทั้งๆ ที่เธอคือผู้เสียหาย ในประเด็นนี้ยิ่งทำให้เห็นว่ายังมีคนอีกมากมายที่ยังใช้คำพูดกล่าวโทษ วาจาคุกคามเหยื่อ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ควรหยุดกระทำและหมดไปจากโลกนี้ได้แล้ว ไม่ควรโทษเหยื่อว่าเป็นสาเหตุ ในที่นี่อยากให้ทุกคนตระหนักถึง Victim-Blaming หรือการหยุดการกล่าวโทษเหยื่อ เพื่อหยุดการผลิตซ้ำความรุนแรง ลองไปทำความเข้าใจกันก่อนว่าเพราะอะไร
ทำไมถึงยังมีฝ่ายที่โทษเหยื่อว่าเป็นต้นตอของสาเหตุ
ไม่ใช่เพียงประเด็นของ เบียร์ เดอะวอยซ์ เท่านั้น ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ในกระแสออนไลน์มีพฤติกรรมการกล่าวโทษเหยื่อ ทั้งๆ ที่เหยื่อคือผู้ถูกโดนกระทำ ยกตัวอย่างเช่น
กรณีข่าวผู้หญิงโดนข่มขืน จะมีคอมเมนท์โทษไปที่เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำว่า เพราะการแต่งกายไม่เหมาะสม โป๊เกินไปหรือเปล่า? หรือ ทำไมชอบไปไหนมาไหนคนเดียว กลับบ้านดึกๆ เพราะไปที่เสี่ยงจึงโดนกระทำอนาจารฯลฯ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนเรามีสิทธิที่จะแต่งกาย หรือ ไปไหนมาไหนคนเดียวได้ ฝ่ายผู้กระทำนั่นแหละทำไมถึงไม่ยับยั้งชั่งใจตนเอง!?
และทำไม?! ยังมีการตั้งข้อสงสัยหรือโทษเหยื่อว่าอาจจะเป็นเพราะตัวเหยื่อเองด้วยจึงทำให้เกิดเรื่องขึ้นมา แทนที่จะมุ่งไปที่ผู้กระทำความผิดนั้นไปเลยเมื่อเกิดเรื่อง ทั้งนี้อาจจะส่งผลให้ผู้เป็นเหยื่อตีตราโทษตัวเองจนไม่กล้าดำเนินคดีผู้กระทำไปเลยก็ได้
ไม่ได้กล่าวแต่เพียงลอยๆ หากไล่ย้อนไปอ่านถึงสาเหตุสถิติคดีการโดนข่มขืน หรือล่วงละเมิดทางเพศต่างๆ ที่เคยเกินขึ้นในประเทศไทยนั้น ตัวเลขสถิติต้นตอของปัญหาอาจจะทำให้รู้สึกตกใจ ทั้งในตัวเลขของผู้กระทำ และตัวเลขสถิติของเหยื่อที่เป็นฝ่ายโดนกระทำ
สถิติตัวเลขในไทยเกี่ยวกับปัญหาข่มขืน อณาจาร
ลองมาดูกันค่ะ ซึ่งต่อไปนี้เป็นตัวเลขสถิติจากมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ในระหว่างวันที่ 2 มกราคม ถึงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา มีการรับเรื่องราวร้องทุกข์รวมทั้งสิ้น 10,147 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2562 ถึง 2,505 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นก็สูงขึ้น 32.78%
-หลักๆ แล้วมีผู้มาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือในเรื่องปัญหาข่มขืน/อนาจาร 863 ราย เฉลี่ยวันละ 2.40 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 77 ราย หรือ 9.80 %
ผู้กระทำนั้นมีสถิติที่สะท้อนถึงปัญหาว่าเป็นคนใกล้ตัวนี่แหละที่มากที่สุด ได้แก่
– อันดับ 1 คนรู้จัก แฟน หรือเพื่อน 340 ราย (43.26%)
– อันดับ 2 ญาติ คนในครอบครัว และพ่อเลี้ยง 241 ราย (30.6 เปอร์เซ็นต์)
– อันดับ 3 คนข้างบ้าน 44 ราย (5.60 %)
ตัวเลขสถิติที่น่าตกใจอีกประการคือ เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำมีตั้งแต่เด็กสุดจนอายุชรามากสุด ดังนี้
– เด็กอายุ 0-5 ขวบถูกข่มขืน 28 ราย
– เด็กอายุ 5-10 ปีถูกข่มขืน 94 ราย
– ซึ่งผู้เสียหายที่อายุน้อยที่สุดคือเด็กหญิงอายุ 2 ขวบ 10 เดือน ส่วนผู้เสียหายที่อายุมากสุดคือหญิงชราอายุ 70 ปี
มีหลายเหตุการณ์จากการที่เหยื่อโดนข่มขืนหรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นข่าวและยังมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นลักษณะเดียวกันแล้วไม่เป็นข่าวก็มี ยังมีข้อมูลจาก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศในปี 2562 นั้น เท่าที่ทางมูลนิธิฯ รวบรวมมาได้จากหนังสือพิมพ์ 14 ฉบับ มีทั้งหมด 333 ข่าว แบ่งเป็น
– ข่าวข่มขืน 43.9%
– ข่าวบังคับค้าประเวณี 11.7%
– ข่าวพยายามข่มขืน 10.2 %
โดยภาพรวมมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศมากขึ้นกว่าสถิติที่รวบรวมเมื่อปี 2560 และผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ทั้งนี้สถิติผู้กระทำมีดังนี้
-ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนแปลกหน้า 45.9%
-รองลงมาคือคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัว 45.6%
สถานที่เกิดเหตุ
– มากที่สุดคือที่พักของผู้เสียหาย 21%
– รองลงมาคือที่พักของผู้ก่อเหตุ 14.9 %
– จังหวัดที่มีข่าวความรุนแรงทางเพศสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี และขอนแก่น
จากสถิติจะเห็นได้ว่า ผู้กระทำความผิด เป็นได้ทั้งคนใกล้ตัว คนที่ไว้ใจมากๆ หรือคนแปลกหน้า แต่ก็รุกล้ำเข้ามายังพื้นที่ส่วนตัวของเหยื่อ
หยุด Victim-Blaming เพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเหยื่อ!
การโทษเหยื่อ (victim blaming) คือ การที่ผู้ถูกกระทำ หรือว่าเหยื่อ ถูกกล่าวโทษ หรือถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นต้นเหตุ หรือมีส่วนให้การกระทำผิดหรือภัยอันตรายให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง เช่น เพราะแต่งตัวโป๊ เพราะกลับบ้านดึก เพราะไปไหนมาไหนคนเดียว เลยทำให้โดนข่มขืน โดนล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ โดนชุดความคิดดังกล่าวเป็นการมุ่งความผิดโทษไปที่เหยื่อไม่ว่าจะโทษทั้งหมดหรือโทศบางส่วน แทนที่จะมุ่งความผิดนั้นไปที่ผู้กระทำความผิดนั้นไปเลย
ผลเสียของวัฒนธรรม การโทษเหยื่อ
เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ เมื่อได้รับรู้คอมเมนท์หรือการแสดงความคิดเห็น คำพูดหรือการกล่าวโทษมาที่ตนเอง ทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายผู้เสียหาย เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง ยิ่งตอกย้ำบาดแผลของเหยื่อหรือผู้ถูกคุกคาม อาจจะทำให้รู้สึกกล่าวโทษ ตีตราตัวเอง กระทบทางด้านจิตใจเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ไม่กล้าไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำ และหลายครั้งนำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ อาจจะทำให้เกิดอคติไม่กล้าจัดการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องไปเลยก็ได้และในแง่สังคมเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมข่มขืนให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้ถูกคุกคามไม่กล้าที่จะร้องเรียน ดังนั้นทุกคนควร #ยุติการกล่าวโทษเหยื่อ #ยุติความรุนแรง
ข้อมูลอ้างอิงจาก : กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, unicefthailand, gqthailand