อุทยานประวัติศาสตร์ คือ บริเวณสถานที่ ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เน้นที่โบราณสถานเป็นหลัก โดยมีสภาพแวดล้อมทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วมในการตกแต่งเพิ่มเติม เป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ ต้องมีการผสมผสานกันอย่างกลมกลืน และสามารถที่จะรักษาสภาพอันเป็นของแท้ และดั้งเดิมนั้นไว้ได้
มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ
- อาคารสถาปัตยกรรม ซากโบราณสถาน ที่อยู่อาศัย วัดวาอาราม และศาสนสถาน
- สภาพแวดล้อมของโบราณสถานรวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น สระน้ำ คูคลอง ถนนและทางเดิน สวนป่า
- การผสมผสานกันระหว่างการก่อสร้างของมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม
รายชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย มีดังต่อไปนี้
1.อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง เมืองสิงห์
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย ในเขตตําบลเมืองสิงห์ อําเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 641 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา ประกอบด้วยเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์
เมืองสิงห์เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ําแควน้อย อันเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงทําให้มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และมีพัฒนาการทางด้านวัฒนธรรมต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ดังปรากฏพบหลักฐานทางด้านโบราณคดีจํานวนมาก ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนให้เห็นอารยธรรมช่วงหนึ่งของมนุษย์ซึ่งเคยมีบทบาทในดินแดนแถบจังหวัดกาญจนบุรีคือ โครงกระดูกมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ กําหนดอายุได้ประมาณ 2,000 ปีมาแล้วที่พบบริเวณทางทิศใต้ ของเมืองสิงห์ที่ติดกับแม่น้ําแควน้อยและหลักฐานในสมัยประวัติศาสตร์ อันเป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างเมืองสิงห์
ภาพจาก : http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/muangsing/index.php/th/
เช่น การมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือการสร้างศาสนสถานคือ ปราสาทเมืองสิงห์ไว้กลางเมือง หรือการพบประติมากรรมหลายรูปแบบอันเป็นศิลปะแบบขอมสมัยบายน จากคุณค่าและความสําคัญดังกล่าว กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2478 ทั้งนี้ได้ดําเนินการพัฒนาเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2517 – 2519 ต่อมาจึงจัดทําเป็นโครงการพัฒนาโบราณสถานปราสาทเมืองสิงห์และเสนอให้บรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พุทธศักราช 2520 – 2524) และในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พุทธศักราช 2525 – 2529) จึงเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์และทําการขุดแต่งและบูรณะจนแล้วเสร็จ พร้อมกับเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2530 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิด
2.อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ภาพจาก: http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/ayutthaya/index.php/th/
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นที่ตั้งของอดีตราชธานีอันยิ่งใหญ่ คือ กรุงศรีอยุธยา ประกอบไปด้วยพื้นที่เกาะเมืองที่มีแม่น้ำล้อมรอบ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี รวมทั้งพื้นที่โดยรอบเกาะเมือง อันประกอบไปด้วยโบราณสถานประเภทพระราชวัง ศาสนสถาน สะพานโบราณ ย่านการค้าโบราณ รวมทั้งร่องรอยชุมชนชาวต่างชาติ โดยมีโบราณสถานไม่ต่ำกว่า 300 แห่ง
กรุงศรีอยุธยาเริ่มมีบทบาทตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 จากหลักฐานระบุว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ หรือพระเจ้าอู่ทอง ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาใน พุทธศักราช 1893 ต่อมาอาณาจักรอยุธยาได้ขยายดินแดนออกไปตามลุ่มแม่น้ำต่างๆรวมทั้งดินแดนชายฝั่งทะเลทางทิศใต้ มีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด 34 พระองค์ จนกระทั้งสิ้นสุดลงจากการรุกรานโดยอาณาจักรข้างเคียงในปี พุทธศักราช 2310 ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินจะทรงเปลี่ยนศูนย์กลางเมืองใหม่ไปอยู่ที่กรุงธนบุรี ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีอายุยืนยาวถึง 417 ปี จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สงวนที่ดินภายในเกาะเมืองให้เป็นสาธารณะสมบัติ และทรงโปรดให้พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ดำเนินการขุดแต่งพื้นที่พระราชวังโบราณ ถือเป็นการเริ่มต้นการอนุรักษ์พื้นที่พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรเริ่มเข้ามาสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานสำคัญของอยุธยาตั้งแต่ พุทธศักราช 2478 จนถึง พุทธศักราช 2499 จึงเริ่มบูรณะโบราณสถานสำคัญ เช่น วิหารพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์ และมีการจัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ในปี พุทธศักราช 2525 เพื่อดูแลรักษาพื้นที่โบราณสถานพระนครศรีอยุธยาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
จนกระทั่ง วันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2434 พื้นที่โบราณสถานสำคัญของอยุธยา ได้ถูกประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกในชื่อ “นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ปัจจุบัน พื้นที่นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและโบราณสถานต่างๆ ในเขตเมืองอยุธยา ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรักษาพื้นที่
3.อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ภาพจาก : finearts
เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์จำนวน สิบแห่งของประเทศไทยปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 สำหรับชื่อเรียก“ศรีเทพ” นั้นเป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2447
บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน ประกอบไปด้วยสองส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่ในส่วนเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,889 ไร่ มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ยังคงสามารถรักษารูปแบบแต่เดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุดโดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแห่งหนึ่งของประเทศไทย แบ่งพื้นที่ภายในเป็นสองเมืองที่นับได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่พบไม่มากนักในเมืองร่วมสมัยเดียวกันที่พบในปัจจุบัน โดยเมืองในมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ เป็นเมืองรูปเกือบกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทางและมีโบราณสถาน ซึ่งได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้วทั้งหมดประมาณ 40 แห่ง อันมีโบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์สองพี่น้องและโบราณสถานปรางค์ศรีเทพเป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญ รวมทั้งมีสระน้ำและหนองน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ 70 สระ ในขณะที่ เมืองนอกมีพื้นที่ประมาณ 1,589 ไร่ เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อออกไปทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทางและมีโบราณสถานซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและยังไม่ได้มีการขุดแต่งและบูรณะทั้งหมดประมาณ 54 แห่ง รวมทั้งมีสระน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ 30 แห่ง มีสระขวัญเป็นสระน้ำสำคัญที่มีขนาดใหญ่และตั้งอยู่กลางเมืองและ ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเท่าที่สามารถสำรวจได้ในปัจจุบันนั้นมีโบราณสถานที่ยังมิได้มีการขุดแต่งและบูรณะประมาณ 50 แห่งและส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ โดยมีโบราณสถานเขาคลังนอกที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเช่นเดียวกันกับโบราณสถานเขาคลังใน และโบราณสถานปรางค์ฤาษีที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมรเช่นเดียวกันกับโบราณสถานปรางค์สองพี่น้องและโบราณสถานปรางค์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญ
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจะเปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับค่าธรรมเนียมเข้าชมนั้น ประชาชนชาวไทย คนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศ คนละ 100 บาท
4.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ภาพจาก : virtualhistoricalpark
มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่เมืองโบราณสุโขทัย ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา ลาดเอียงไป ทางตะวันออก มีเทือกเขาประทักษ์ทอดตัวเป็นแนวยาวทางด้านตะวันตก ต่อเนื่องมาจนถึงด้านทิศใต้ซึ่งเทือกเขานี้ถือเป็นแหล่งทรัพยากร ที่สำคัญของเมืองสุโขทัย โดยเป็นทั้งแหล่งของป่าแร่ธาตุ และแหล่งต้นน้ำที่นำมาใช้อุปโภค บริโภคภายในเมือง นอกจากนี้ยังมีลำน้ำสายเล็กๆ เรียกว่า คลองแม่ลำพัน ที่มีต้นกำเนิดจากจังหวัดลำปาง ไหลผ่านเมืองแล้วไปบรรจบกับแม่น้ำยม ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 12 กิโลเมตร
กรมศิลปากรได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของเมืองโบราณสุโขทัย จึงได้มีการขึ้นทะเบียนโบราณสถานเพื่อคุ้มครองพื้นที่ไว้เป็นมรดกของชาติและเพื่อมิให้มีการบุกรุกอันเป็น การทำลายสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของเมือง จึงได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนขอบเขตพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานทั้งหมด 43,750 ไร่ หรือประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 92 ตอนที่ 112 วันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2518 และก่อตั้งเป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในปีถัดมา แล้วเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2531
นอกจากนี้คณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครอง มรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ได้ประกาศในการประชุม ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนีเซีย ให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2534 นับเป็นมรดกโลกตามบัญชีในลำดับที่ 574 จากการดำเนินงานสำรวจและศึกษาโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พบโบราณสถานจำนวน 217 แห่ง
5.อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
ที่มา : finearts
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 6 ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน ตัวเมืองตั้งอยู่บนที่ราบริมแม่น้ำยม มีเทือกเขาสามเทือกโอบรอบเมืองลักษณะเหมือนป้อมปราการธรรมชาติ เทือกเขาที่โอบล้อม ได้แก่ เขาพระศรี เขาใหญ่ และเขาพระบาท สภาพภูมิประเทศมีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐาน คือมีทั้งที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ลาดเชิงเขา ทำให้มีทั้งความอุดมสมบูรณ์ ของพื้นที่และปราการธรรมชาติที่ใช้ในการป้องกันข้าศึกศัตรู
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรในปีพุทธศักราช 2534 เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงผลงานทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น นับเป็นตัวแทนของศิลปกรรมไทยยุคแรก และเป็นต้นกําเนิดของการสร้างประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราช ดําเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช 2533
ปัจจุบันมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยทั้งหมด 28,217 ไร่ และสํารวจพบโบราณสถานทั้งหมด 281 แห่ง โบราณสถานที่สำคัญในเขตกำแพงเมือง เช่น วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดนางพญา และโบราณสถานที่อยู่นอกกำแพงเมือง เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง วัดชมชื่น วัดเจ้าจันทร์ วัดพญาดํา วัดสระปทุม นอกจากนั้นยังมีโบราณถานที่ตั้งอยู่บนเขา เช่น วัดเจดีย์เก้ายอด วัดเจดีย์เอน วัดเขาใหญ่ล่าง และวัดเขาใหญ่บน เป็นต้น
6.อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
ที่มา : virtualhistoricalpark
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่เมืองโบราณกำแพงเพชร ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำสามารถติดต่อกับที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านในท้องที่จังหวัดพิจิตรและพิษณุโลกได้และยังต่อเนื่องไปถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสักในจังหวัดเพชรบูรณ์ ส่วนพื้นที่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นภูเขา จากลักษณะทางภูมิประเทศดังกล่าว พบว่ามีความเหมาะสมในการตั้งชุมชนโบราณมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สามารถใช้ติดต่อกับชุมชนในพื้นที่ราบได้สะดวก และเป็นชุมชนพักสินค้าเพื่อเปลี่ยนแบบแผนการคมนาคมจากที่ราบสู่เขตภูเขาที่ขึ้นไปทางทิศเหนือและทางทิศตะวันตกต่อไป
มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2534 โดยขอบเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรในปัจจุบันพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมดรวม 2,114 ไร่ หรือ 3.34 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่
- เขตกำแพงเมือง มีพื้นที่ 503 ไร่ ตั้งอยู่ในขอบเขตของเมืองกำแพงเพชรโบราณบนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง มีคูเมืองและกำแพงเมืองศิลาแลงรอบล้อม
- เขตอรัญญิก มีพื้นที่ 1,611 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรัง นอกเขตกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ
ปีพุทธศักราช 2534 คณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลกได้ประกาศในการประชุม ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซียให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชรเป็นมรดกโลก เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรมที่มีความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่ได้รับการสร้างสรรค์จากอัจฉริยภาพด้านศิลปะอย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นพยานหลักฐานที่แสดงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรมซึ่งยังคงหลงเหลือและปรากฏให้เห็น
7.อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
ที่มา : finearts
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ 320 – 350 เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม
จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมาได้พบว่าบนภูพระบาทแห่งนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุได้ราว 2,500 – 3,000 ปีมาแล้ว ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า 54 แห่งบนภูเขาลูกนี้ นอกจากนี้ก็ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่อยรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขนาดพื้นที่ 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด และได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด
ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม มีโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 78 แห่ง มีภารกิจหลักในการดูแลรักษา อนุรักษ์และพัฒนา และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานฯและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังเปิดให้บริการในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป
8.ปราสาทหินพิมาย
ที่มา : finearts
ปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้นก็คือ ปราสาทหินพิมาย ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางและเป็นปากประตูสําคัญจากลุ่มแม่น้ํามูลไปสู่เมืองพระนครของอาณาจักรกัมพูชา และบ้านเมืองในเขตลุ่มแน่น้ําเจ้าพระยา โบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในเมืองพิมายนั้นปรากฏมีอยู่หลายแห่งทั้งนอกเมืองและในเมืองโบราณพิมาย แต่ที่สําคัญได้แก่ ปราสาทหินพิมาย
เกือบทั้งหมดมีสภาพปรักหักพังทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในพุทธศักราช 2507 กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศฝรั่งเศส สนับสนุนองค์ปรางค์ประธานของปราสาทหินพิมายจนแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2511 ปราสาทหินพิมายนับเป็นพุทธศาสนสถานในลัทธิมหายานที่สร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมายในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479
9.อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ที่มา : virtualhistoricalpark
ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว อยู่ในเขตตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่สุภาพงจากกรุงเทพมหานคร ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ รวมระยะทางทั้งสิ้น 372 กิโลเมตร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งใน วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ขนาดพื้นที่ 451 ไร่ 11 ตารางวา
ที่มาข้อมูลจาก : https://www.finearts.go.th/main/categorie/learning-center?type_id=19