การประชุมสภา หมายถึง การประชุมของสมาชิกรัฐสภา เมื่อรัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยรัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกันย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (มาตรา 88 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550)
สามารถแบ่งการประชุมสภาได้ 3 ประเภทตามประเภทของสมาชิกสภา คือ 1.การประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2.การประชุมวุฒิสภา และ 3.การประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีรายละเอียด ดังนี้
1.การประชุมสภาผู้แทนราษฎร
หมายถึง การประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเรื่องใดๆ ตามอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นอกจากจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์ประชุมแล้วยังมีรัฐมนตรี และผู้ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมอนุญาตเข้าร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ โดยมีข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นเครื่องมือในการดำเนินการประชุม ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้ทำหน้าที่แทน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นการทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ คือ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ ร่างพระราชบัญญัติ และพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนด ทำหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถาม และการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบเรื่องต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดด้วย
2.การประชุมวุฒิสภา
หมายถึง การประชุมของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อพิจารณาเรื่องใดๆ ตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ในการประชุมวุฒิสภานอกจากจะมีสมาชิกวุฒิสภาเป็นองค์ประชุมแล้วยังมีรัฐมนตรี และผู้ที่ประธานวุฒิสภาหรือผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมอนุญาตเข้าร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ โดยมีข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการประชุม ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมวุฒิสภา ได้แก่ประธานวุฒิสภาหรือรองประธานวุฒิสภาผู้ทำหน้าที่แทน การประชุมวุฒิสภาเป็นการทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ทำหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ทำหน้าที่การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยการตั้งกระทู้ถามและเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ทำหน้าที่ในการพิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำหน้าที่พิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
3.การประชุมร่วมกันของรัฐสภา
หมายถึง การประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาร่วมกัน เพื่อพิจารณาเรื่องใดๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนด
เช่น การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การแถลงนโยบาย การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภานั้นจะต้องมีข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแยกต่างหากอีกฉบับหนึ่ง แต่ถ้ายังไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภาจะต้องนำข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาใช้บังคับโดยอนุโลม และผู้ทำหน้าที่ประธานของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้แก่ ประธานรัฐสภา ซึ่งก็คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่เป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง คือ ประธานวุฒิสภา
ประวัติของการประชุมสภา เกิดขึ้นครั้งแรกในไทยเมื่อ 2475
การประชุมสภาไทยเกิดขึ้นครั้งแรก ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลา 14.00 นาฬิกา โดยกำหนดให้ห้องโถงชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถานที่ประชุม มีการจัดโต๊ะเป็นรูปครึ่งวงกลมตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเป็นการชั่วคราว ซึ่งการประชุมครั้งแรกเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมได้เลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร พระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาเมื่อมีพฤฒสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ขึ้นมาอีกสภาหนึ่งจึงได้กำหนดให้ใช้พระที่นั่งอภิเษกดุสิต เป็นที่ประชุมพฤฒสภาอีกแห่งหนึ่ง ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และใช้เป็นที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และเมื่อเปลี่ยนจากพฤฒสภาเป็นวุฒิสภาในปี พ.ศ. 2490 แล้ว ได้กำหนดให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมวุฒิสภาเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2514 ได้มีการดำเนินการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2517 จึงได้เปลี่ยนมาทำการประชุมสภา ณ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และได้เปิดการประชุมเป็นครั้งแรกในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 ครั้งที่ 67 ในวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 และได้ใช้ห้องประชุมของอาคารรัฐสภาแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมแม้ไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ประชุมสภาแล้ว แต่ยังคงใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาจนกระทั่งปัจจุบัน
สมัยประชุม-การประชุมสภาสามารถแบ่งเป็น 2 สมัย คือ
สมัยประชุม หมายถึง ระยะเวลาการประชุมรัฐสภาที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าในปีหนึ่งรัฐสภาจะมีการประชุมกี่ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลานานเท่าใด โดยหลักการกำหนดสมัยประชุมได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เป็นครั้งแรก
ในการประชุมสภาสามารถแบ่งการประชุมเป็น 2 สมัย คือ
- สมัยประชุมสามัญ เป็นการกำหนดวันประชุมสภาโดยปกติในระยะเวลาหนึ่งปี ซึ่งระยะเวลาของสมัยประชุมจะกำหนดโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2489 ถึง ปี 2538ได้บัญญัติให้สมัยประชุมสามัญมีกำหนดเวลา 90 วัน แต่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 สมัยประชุมสามัญมีกำหนดระยะเวลา 120 วัน แต่สามารถขยายระยะเวลาได้
อย่างไรก็ตามสมัยประชุมสามัญสามารถแบ่งออกได้ 2 ลักษณะคือ สมัยประชุมสามัญทั่วไปและสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ โดยมีการแยกสมัยประชุมครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ในการแยกสมัยประชุมทั้งสองลักษณะดังกล่าว มีเจตนารมณ์เพื่อให้การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการตรากฎหมายมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดีในการดำเนินการประชุมทั้งสองสมัยประชุมมีความแตกต่างกันกล่าวคือ
1.1 สมัยประชุมสามัญทั่วไป เป็นสมัยประชุมที่รัฐสภาสามารถดำเนินการในเรื่องใดๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ได้ทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น เช่น การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ
1.2 สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ เป็นสมัยประชุมที่รัฐสภาสามารถดำเนินการประชุมได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติการอนุมัติพระราชกำหนด การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา การเลือกหรือการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การตั้งกระทู้ถาม และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เว้นแต่รัฐสภาจะมีมติให้พิจารณาเรื่องอื่นใดด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
- สมัยประชุมวิสามัญ เป็นการประชุมรัฐสภาในกรณีพิเศษนอกเหนือไปจากสมัยประชุมสามัญที่มีขึ้นเป็นปกติ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดเงื่อนไขในการเปิดสมัยประชุมวิสามัญของรัฐสภา ดังนี้
- เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้โดยทรงตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญตามคำแนะนำของฝ่ายบริหาร
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ทั้งสองสภารวมกันหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้
ลักษณะของการประชุม
ในการประชุมสภานั้นจะต้องดำเนินการประชุมตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 133 “การประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภาย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมแต่ละสภา แต่ถ้าคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกของแต่ละสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภาเท่าที่มีอยู่รวมกันแล้วแต่กรณี ร้องขอให้ประชุมลับก็ให้ประชุมลับ”
ดังนั้นจึงแบ่งการประชุมออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
- การประชุมโดยเปิดเผย
ในการประชุมโดยเปิดเผยนั้น บุคคลภายนอกสามารถเข้าฟังการประชุมได้ตามระเบียบที่ประธานสภากำหนด นอกจากนี้ประธานสภาต้องจัดให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียงและหรือวิทยุโทรทัศน์ และต้องจัดให้มีการถ่ายทอดการประชุมทางเครื่องขยายเสียงและหรือวิทยุโทรทัศน์วงจรปิดภายในบริเวณของรัฐสภา และล่ามภาษามือ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้ได้อย่างทั่วถึง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเปิดเผย โปร่งใส สุจริตและตรวจสอบได้ และเป็นหลักประกันว่าการประชุมทุกครั้งจะดำเนินไปโดยยึดถือเอาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงความเห็นของเสียงข้างน้อยด้วย
- การประชุมลับ
เป็นการประชุมที่ต้องกระทำเป็นการลับตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภา ในการประชุมลับนั้นผู้ที่จะอยู่ในที่ประชุม หรือ ณ ที่ใดในระยะที่จะฟังการประชุมได้ คือ สมาชิกสภาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกหรือแม้แต่สื่อมวลชนเข้าฟังการประชุม เว้นแต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาเท่านั้น และห้ามใช้เครื่องบันทึกเสียง หรือเครื่องมือสื่อสารใดๆ
ขั้นตอนการประชุมสภา
- การจัดระเบียบวาระการประชุม หมายถึง การลำดับเรื่องราวที่จะต้องพิจารณากันในที่ประชุมสภา ซึ่งโดยปกติจะจัดลำดับเรื่องที่อยู่ในวาระการประชุม ดังนี้
ก) เรื่องที่ประธานสภาจะต้องแจ้งต่อที่ประชุม
ข) รับรองรายงานการประชุม
ค) กระทู้ถาม
ง) เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
จ) เรื่องที่ค้างพิจารณา
ฉ) เรื่องที่เสนอใหม่
ช) เรื่องอื่นๆ
- การนัดประชุมสภา ต้องทำเป็นหนังสือส่งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันก่อนการประชุม พร้อมแจ้งระเบียบวาระการประชุมและเอกสารที่เกี่ยวข้องด้วย เว้นแต่ในกรณีที่บอกนัดในที่ประชุม ให้ทำหนังสือนัดเฉพาะสมาชิกที่ไม่ได้มาประชุม ในกรณีมีเรื่องด่วนประธานสภาจะนัดประชุมโดยแจ้งให้สมาชิกทราบน้อยกว่าสามวันก็ได้
- องค์ประชุม การประชุมสภาต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เว้นแต่องค์ประชุมเพื่อพิจารณากระทู้ถามเป็นไปตามข้อบังคับของแต่ละสภา โดยสมาชิกที่มาประชุมต้องลงชื่อในสมุดที่วางไว้ก่อนเข้าประชุมทุกครั้ง และเมื่อถึงเวลาประชุมจะมีสัญญาณให้เข้าประชุม และสมาชิกจะเข้านั่งในที่ที่กำหนดไว้ เมื่อสมาชิกเข้าประชุมครบองค์ประชุมแล้ว ประธานจะดำเนินการประชุมต่อไป
- เลื่อนการประชุม สามารถทำได้ในกรณีต่อไปนี้
- ในกรณีที่พิจารณาเรื่องหรือญัตติต่างๆ ยังไม่เสร็จสิ้น แต่เห็นว่าเรื่องนั้นมีปัญหาต้องพิจารณานาน หรือเรื่องค้างพิจารณาหลายเรื่องไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ สามารถเลื่อนการประชุมได้
- หากพ้นกำหนดเวลาประชุมครึ่งชั่วโมงแล้ว สมาชิกยังไม่ครบองค์ประชุม ประธานจะสั่งให้เลื่อนการประชุมไปก็ได้
5. การพักการประชุม เป็นการหยุดการดำเนินการประชุมชั่วคราว เมื่อประธานในที่ประชุมสภาเห็นสมควร เช่น การพักการประชุมเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน หรือพักการประชุมหลังจากที่ประธานเห็นว่าประชุมนานหลายชั่วโมงแล้ว เป็นต้น ภายหลังการพักการประชุม เมื่อถึงเวลานัดประชุมใหม่ ก่อนจะดำเนินการประชุม จะต้องมีสมาชิกมาประชุมครบองค์ประชุม จึงจะดำเนินการประชุมสภาต่อไปได้
6.การเลิกประชุม เป็นการยุติการประชุมตามคำสั่งของประธานสภาตามข้อบังคับ ซึ่งประธานสภาจะสั่งให้เลิกประชุมเมื่อหมดระเบียบวาระของวันนั้น หรือสั่งเลิกประชุมตามที่เห็นสมควรก็ได้
ดังนั้น การประชุมสภา จึงมีความสำคัญต่อการปกครองในระบบรัฐสภา เพราะถือเป็นกลไกการทำงานของสมาชิกรัฐสภา ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ อันจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานทั้งด้านนิติบัญญัติ ด้านการควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงการทำงานในด้านอื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้