ใครไม่อยากไปเยอรมนี
ชั้นน่ะสิ ชั้นน่ะสิ
คุณหย่ง โสภาพร ควร์ซ เจ้าของเพจ เรื่องเล่าจากหย่งศรี น่าจะยกมือขึ้นสูงสุดแขนเป็นคนแรก
เมื่อเธอต้องมานับหนึ่งเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน จากผู้สื่อข่าวสำนักพิมพ์เดอะเนชั่น หน้าที่การงานกำลังฟูเฟื่อง ต้องมาลงหลักปักฐานนับหนึ่งใหม่
ปัจจุบันคุณหย่งอาศัยอยู่ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ตด้วยประสบการณ์ชีวิตสุดเข้มข้นถึง 16 ปีแล้ว เป็นคุณแม่ลูกสองที่ยังคงสนุกกับการเขียนบล็อก เขียนข่าว และงานแปลหนังสือ
เธอบอกว่าไม่สามารถจินตนาการตัวเองไปใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีได้
คุณพระ! ผู้ถามเองแอบตกใจกับคำบอกเล่าที่ฟังแล้วได้รสขมเฝื่อนปาก คอนทราสกับภาพชวนฝันในหัวเป็นที่สุด
สามีหน้าที่การงานก็ดี ตัวพี่หย่งเองก็ดูเก่งรอบด้าน หนึ่งในตองอูเลยนะนั่น ลองนึกภาพเด็กจุฬา เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นักเรียนทุนฟุลไบร์ท ปริญญาโทสองใบจากสหรัฐอเมริกา อีกหนึ่งใบจากสิงคโปร์ ฟังดูมันควรจะราบรื่นดีสิ
แต่พี่หย่งกลับแย้งทันควันว่า ใต้ภาพที่ใครๆ ก็คิดว่าสวยงามนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย มีความชอกช้ำและมันช่างเปราะบางเหลือเกิน
“พี่เจอสามีตอนปฐมนิเทศของทุนฟุลไบรท์ ก่อนจะแยกย้ายกันไปเรียนค่ะ โดยพี่ไปเรียนที่อินเดียน่า ส่วนเขาไปเรียนที่นอร์ธ แคโรไลน่า เป็นรักทางไกลระยะทางประมาณกรุงเทพฯ – กัวลาลัมเปอร์”
“หลังศึกษาดูใจกันตลอดสองปี เราตกลงแต่งงานกัน แต่พี่ไม่อยากย้ายมาเยอรมนี เขาก็เลยตัดสินใจหอบผ้าหอบผ่อนตามมาอยู่ด้วยที่เมืองไทย (ยิ้ม) และส่งใบสมัครงานถึง 60 ที่จนได้งาน Consult กินเงินเดือน 25,000 บาท ซึ่งเมื่อ15 ปีที่แล้ว ก็ไม่ได้น้อย แต่เรารู้ว่ามันไม่มีเหลือเก็บ”
“เค้าก็เสียสละสุดๆ กับเราแล้วเหมือนกัน มันก็เลยถึงเวลาที่คงต้องเป็นเราบ้างที่ต้องเสียสละ” นักข่าวสาวกล่าวสำทับเหตุผลที่ต้องย้ายอย่างไร้เงื่อนไข
“การย้ายมาต่างประเทศ เพื่อติดตามคู่ชีวิต แตกต่างแทบจะสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับการไปเที่ยวหรือไปเรียนหนังสือ มีสิ่งที่ต้องเผชิญ ปรับตัว มากมาย แต่มักไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึง เพราะมันถูกฉาบไว้ด้วยความสวยงามของ “การได้ไปเมืองนอก”
ช่วงปีแรกเป็นอย่างไรบ้าง เหมือนที่จินตนาการไว้มั้ย
พี่หย่งถอนหายใจยาวก่อนตอบว่า อึดอัดมาก ทุกข์ใจ และหาสาเหตุไม่ได้ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่
“พี่เปรียบให้เห็นภาพก็คือ ถ้าเป็นนก ก็เหมือนเป็นนกที่ถูกมัดปีกไว้ บินไม่ได้ดั่งใจ เปรียบเป็นคน ก็เหมือนโดนมัดมือไพล่ไว้ข้างหลัง จะทำอะไรก็ไม่ถนัด ต้องมีคนช่วยเหลือตลอดเวลา”
มาช่วงแรกไม่ได้คิดอะไรมาก ลงเรียนภาษาเยอรมันก่อนเลย ต้องยอมรับเป็นภาษาที่ยากมาก ก ไก่ล้านตัว ภาษาอังกฤษที่ทุ่มเทมาทั้งชีวิตแทบจะไม่มีประโยชน์ที่นี่ อาจเทียบเคียงได้บ้างด้วยพื้นฐานรากภาษาเดียวกันแต่การวางรูปประโยคต่างกัน แถมคำศัพท์มีแบ่งเป็นสามเพศอีกจ้า
ไอ้ครั้นจะให้เรียนให้ดีชนิดคล่องปรื๋อจนสามารถทำงานในสายนักข่าวตามที่ตนเองถนัด ต้องใช้ภาษาเยอรมันระดับสูงเบอร์นั้นก็ขาดแรงบันดาลใจอีก อุตส่าห์ทุ่มเททั้งชีวิตมาด้วยภาษาอังกฤษ จนสามารถรายงานข่าวได้ ต่อให้พูดเวทีระดับ UN ก็ไม่มีกลัว พอต้องมาติดกับดักตรงนี้มันเลยใจสลายเหมือนกัน
เมื่องานที่ถนัดก็ไม่สามารถทำได้ เหมือนความสามารถของตัวเองใช้การไม่ได้ คุณค่าในตัวถูกลดทอนลงไปอีก ชัดเจนว่า Self esteem กับ Self identity หล่นหายไประหว่างทางเยอะจนน่าตกใจ
“พี่โตมากับภาพที่ผู้หญิงยุคนี้มีสิทธิเท่าเทียม ทำให้พี่แบกโจทย์ไว้ในใจหลายสิ่งอย่างทั้งอยากมีหน้าที่การงานที่ดีแบ่งเบาสามีได้ ไหนจะงานบ้านงานเรือน และงานลูกอีก
ในด้านการงานนี่ลืมไปได้เลย ถ้าภาษาไม่ได้งานก็ไม่มี ช่วงแรกพยายามหางานค่ะ ไม่เคยปิดกั้นตัวเองเลย แม้กระทั่งงานนวด จนพี่คนไทยที่นี่แซวว่า จะมาแย่งงานเค้าทำไม (ยิ้ม)
บ่อยครั้งเจอประกาศรับสมัครจากองค์กรใหญ่ๆ ของไทยในแฟรงก์เฟิร์ต แต่ติดเรื่องภาษานี่ล่ะค่ะที่ทำให้ไม่ได้ไปต่อ”
หลังจากอยู่ได้สักระยะเริ่มมีคอนเนคชันเพิ่มขึ้น โชคดีที่แต้มบุญยังพอเหลือ ทางหัวหน้างานที่ไทยยังเปิดโอกาสให้ได้ทำข่าวส่งกลับไปที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารที่ไทยบ้าง คนเริ่มรู้จักในฐานะนักข่าวที่เพิ่งมาอยู่ที่นี่ ก็แนะนำต่อๆ กันไป ค่อยๆ เป็นที่ยอมรับในแง่การงาน จึงรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
พี่หย่งได้ไปทำข่าวชุมชนไทยในหลายประเทศในยุโรป รวมไปถึงงานแสดงสินค้า แฟชั่นโชว์ ที่คนไทยมีส่วนร่วม สัมภาษณ์เอง เขียนข่าวเอง ถ่ายภาพเอง เพื่อเงินเพียง 3,000 บาทต่อชิ้น
ถามว่าทำเพื่ออะไร พี่หย่งบอกจากใจว่า มันได้เติมเต็ม รู้สึกถึงความมีคุณค่าในตัวเองอยู่ และทำให้แต่ละวันที่ผ่านไปมีความหมายได้ นั่นแหละเป็นแรงขับที่สำคัญ
ทราบว่าบทความเรื่อง Trailing Spouse Syndrome (TSS) มีคนแชร์จากเพจเยอะมากช่วยเล่าให้ฟังหน่อยค่ะ
อันนี้ค่อนข้างเซอร์ไพรส์เหมือนกัน ที่ได้รู้ว่าตลอดเวลาที่สงสัยในตัวเองว่าเราเศร้าอะไรนักหนา จริงๆ แล้วมีชื่อเรียกนะ และมีคนเป็นแบบเราเยอะมาก
“Trailing Spouse Syndrome พี่แปลเป็นไทยว่า “อาการของคู่ชีวิตผู้ติดตาม” ไม่ใช่โรค แต่เป็นกลุ่มอาการที่คู่ชีวิตฝ่ายที่เสียสละหน้าที่การงาน ย้ายประเทศติดตามอีกฝ่ายไป มักจะเป็น และหากไม่ดูแลให้ดี อาจพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าได้”
อาการคือ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และสูญเสียตัวตนของตัวเองไป
เกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ไม่เกี่ยงสถานภาพ
สารตั้งต้นของพี่น่าจะมาจาก ด่านแรกเลยคือ ความคับข้องใจด้านภาษาที่เราลงทุนกับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิตนั้นแทบจะตีเป็นศูนย์
ต้องมาเริ่มเรียนภาษาเยอรมันใหม่ เรียนจบขั้นต้น B1 แล้วก็ยังไม่หนำใจ ยังไปต่อจนถึง C1 แต่ก็ยังไม่ทำให้มั่นใจว่าจะเอาไปใช้เพื่อรายงานข่าวได้
ไม่นับเรื่องข้อเปรียบเทียบความก้าวหน้าในสายอาชีพของเพื่อนร่วมรุ่นที่ไทย ในขณะที่ตัวเองไม่มีงานทำ บวกความคาดหวังของตัวเราเองอีกที่มันทำร้ายกัดกร่อนเราทีละเล็กทีละน้อย
ไปร้านขนมปังแล้วเค้าคิดเงินแล้วทำหน้าแปลกๆ เหมือนฟังเราไม่ออก สีหน้าท่าทางเค้าแค่นี้ก็รู้สึกเจ็บแล้ว จะเล่าให้ใครฟังว่าเราทุกข์ก็คงไม่มีใครเข้าใจ บางทีบริบทต่างๆ ที่เค้าไม่ได้มาประสบด้วยตัวเอง เค้าก็ไม่เก็ทว่าเราสู้อยู่กับอะไร
มี How to หลุดพ้นความรู้สึกเหล่านี้มั้ยคะ
ความสามารถในการปรับตัวแต่ละคนไม่เท่ากัน การปรับใจตัวเองคืองานหินมหันต์ สิ่งที่เราควบคุมได้คือ ใจของเราเองนี่แหละ พี่หย่งบอก
“เราต้องรักตัวเองมากๆ เตือนกับตัวเองบ่อยๆ ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ของการถอนรากถอนโคน มาตั้งต้นในประเทศใหม่ อย่าเฆี่ยนตี อย่าใจร้ายกับตัวเองด้วยเสียงในหัวจนเกินไป ให้อภัยตัวเองเยอะๆ”
การตระหนักรู้ของตัวเองถึงปัญหา รวมถึงกำลังใจจากคนในครอบครัวและคนรอบข้างมีส่วนช่วยได้มากเช่นกัน
ต้องเปิดใจคุยกันว่าเราไม่มีความสุขเพราะอะไร แล้วค่อยๆ ปรับตัวปรับใจ หาทางแก้ไข
การรู้จักชุมชนชาวไทย และมีเพื่อนในประเทศใหม่ จะช่วยเราผ่อนคลายในแง่ของความเข้าใจหัวอกเดียวกันได้บ้าง
“จัดการกับความคาดหวังของตนเอง มองในแง่บวกว่านี่คือโอกาสสู่ประตูบานใหม่ให้เราค้นเจอศักยภาพที่แอบซ่อนในตัวเรา ถ้ามัวแต่มองสิ่งขาดก็พลาดจะเห็นสิ่งที่เรามี”
ทำไมถึงเปิดเพจคะ แรงบันดาลใจมาจากอะไร
เอาจริงๆ ต้องย้อนไปตั้งแต่เด็กๆ คือพี่ไม่ใช่คนสวยที่จะไปเป็นดรัมเมเยอร์หรือเชียร์ลีดเดอร์ได้ เลยมาเอาดีเรื่องเรียน ขีดขีดเขียนเขียนน่าจะรุ่งกว่า (ยิ้ม) เริ่มจากชอบเขียนจดหมาย เขียนการ์ดให้เพื่อนๆ และมีความฝันว่าอยากเขียนหนังสือตีพิมพ์เป็นชื่อของตัวเอง”
ซึ่งตอนนี้ พี่ก็ทำได้แล้ว คือ หนังสือ “ก้าวตามฝัน” รวมผลงานเรื่องเล่าแสนสนุกจากเพจเรื่องเล่าจากหย่งศรี
“เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงโรงเรียนรัฐบาลคนหนึ่ง ที่มีความฝันว่าอยากไปท่องโลกกว้าง การตระหนักรู้ถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ ความพยายามและขวนขวาย มุมานะ ตั้งใจ ทำให้ได้ไปท่องโลกกว่าสิบประเทศ ห้าทวีป และคว้าทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาโทสามใบ”
ช่วงแรกที่มาอยู่เยอรมนี พี่เขียนข่าว บทความ แปลหนังสือ ตั้งแต่มีลูกพี่ก็เขียนบันทึกลงเฟซบุ๊ค เริ่มเล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ที่เยอรมนี เรื่องที่ประสบพบเจอแต่ละวัน จิปาถะ ตามสไตล์ พอเขียนไปเรื่อยๆผลตอบรับดีทั้งจากเพื่อนๆ รุ่นพี่ รุ่นน้องว่า อ่านสนุก เพลินดี บวกแรงเชียร์จากเพื่อนด้วยว่าให้ลองเปิดเพจ ก็เลยกลายมาเป็นเพจเรื่องเล่าจากหย่งศรีค่ะ
ล่าสุดเริ่มมีไลฟ์เข้ามา ไลฟ์แรกเป็นไงบ้างคะ
พี่ไม่ชอบตัวเองเลย (ฮา) แต่ก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆค่ะ พยายามไม่กดดันตัวเอง และไม่จัดเสาร์อาทิตย์ จะได้ไม่เบียดเบียนเวลาของครอบครัวด้วย
สารภาพว่าที่เริ่มไลฟ์เพราะอยากฝึกและพัฒนาตัวเอง หลังจากหยุดเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ไป 5 ปี สนิมเกาะเหมือนกันนะ รู้สึกเคอะเขิน วางตัวเองไม่ถูก ไปไม่เป็นเสียอย่างงั้นกับเรื่องง่ายๆ ที่เราเคยผ่านมาแทบนับไม่ถ้วน
อย่างตอนที่สมาพันธ์ครูภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในยุโรป มาจัดงานสามัญประจำปีที่กรุงเบอร์ลิน ทางฝ่ายเจ้าภาพได้มาขอให้สมาคมธาราไปช่วย พี่เองซึ่งเป็นสมาชิกธาราก็ถูกพี่เล็ก (สุชาดา ไบเยอร์) บอกแกมบังคับว่าให้ไปช่วยเป็นพิธีกรในงานตอนกลางคืน
พี่ถึงกับเหวอ ปฏิเสธ แต่พี่เล็กบอกว่าส่งชื่อไปแล้ว ไม่ทำไม่ได้แล้ว เลยคิดว่า เอ้า… ทำก็ทำ ลุยแบบฝ่อๆ นะตอนแรก ทั้งที่งานพูดต่อหน้าผู้คนนี่เราก็ทำมาตลอดสมัยเป็นนักเรียน เหมือนเราลืมไปหมดแล้วว่าเคยเจนเวทีขนาดไหน
ถ้ามองย้อนกลับไปและให้เลือกได้อีกครั้ง ยังเลือกย้ายมาเยอรมนีมั้ยคะ
ก็ต้องเลือกย้ายมานะคะ เพราะสามีเราอยู่ที่นี่ (หัวเราะ)
จริงๆ ถ้าย้อนกลับไปได้ พี่จะบอกตัวเองว่าให้ปรับทัศนคตินิดนึง มองเสียว่าเราโชคดี มีโอกาสได้ย้ายมาอยู่ต่างประเทศ เป็นโอกาสที่ไม่ใช่มีทุกคน และประสบการณ์หลายอย่าง ถ้าไม่ได้มาสัมผัสด้วยตัวเองก็จะไม่มีวันรู้
ประสบการณ์หลายอย่างเปิดโลกมาก มีเรื่องสนุก ตื่นเต้น ท้าทายมากมาย รวมทั้งได้ฝึกทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ทำขนม เลี้ยงลูกด้วยตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์
พี่หย่งเสริมอีกว่าเดี๋ยวนี้ทำฝอยทองกินเองได้ด้วยนะ ไม่ใช่เล่นเล่น
พอเราได้ออกมามีชีวิตเองนอก comfort zone ที่ประเทศไทย เราก็มีเวลาและโอกาสทบทวนอะไรหลายๆ อย่าง เริ่มมองเห็นสุขจากภายใน และความสำเร็จมันมาได้ในหลายรูปแบบ ไม่เฉพาะหน้าที่การงานเท่านั้น ทุกวันนี้ พี่พยายามรักษาสมดุลชีวิตของตัวเองให้ดี ใช้ทุกวันอย่างมีคุณค่าและมีความสุข หมั่นพัฒนาตนเองโดยเฉพาะการเดินทางภายใน เพราะอยากเป็นคุณแม่ที่ดีของลูก”
เล่าสู่กันฟังกับหลายสิ่งที่ประทับใจในเยอรมนี
ชอบเมืองแฟรงก์เฟิร์ต เป็นเมืองแห่งตึกระฟ้าพอๆ กับกรุงเทพ มีความหลากหลายของผู้คนในเมือง ต่างชาติก็เยอะ ทำให้ลูกเราไม่รู้สึกแปลกแยกมาก
โครงสร้างพื้นฐานของที่นี่ทำให้การมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเรื่องที่ไม่ต้องดิ้นรนมากนัก ทั้งเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ ทุกอย่างหลอมรวมให้เด็กๆ ฝึกคิด รู้จักสิทธิของตัวเองตั้งแต่เล็ก ตัวอย่างเช่น ในทุกเช้า ลูกได้เลือกว่าอยากจะเดิน หรือจะปั่นจักรยานไปโรงเรียน เพราะส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนใกล้บ้าน เป็นต้น
ประทับใจกับสไตล์นิ่งๆ ไม่โอ้อวด ทำอะไรทำจริง การแต่งกายเหมาะกับกาละเทศะของคนเยอรมัน
เป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับเวลามาก นัดเป็นนัด ต้องเป๊ะ รักสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
หากใครชื่นชอบการอ่านเรื่องเล่าที่เรียบเรียงมาอย่างดี ที่ยาวเกินมาตรฐานคอนเทนต์ประเทศไทย เชิญพบกันได้ที่เพจเรื่องเล่าจากหย่งศรีเลยค่า