Life is art
เมื่อพูดถึงชื่อ “ชุบ นกแก้ว”
ภาพในหัวที่ยังจำได้เสมอ คือ ผู้ชายไทยร่างเล็ก ตัวตึง ตัวฉกาจแห่งวงการสื่อโฆษณา แต่งตัวเซอร์ๆแบบอาร์ติสต์ ยิ้มกว้าง พูดน้อย และมีออร่าความใจดีแผ่กระจายตลอดการสนทนา
ผู้เขียนเองมีโอกาสได้นั่งคุยเรื่องสัพเพเหระกับเขาหลายครั้ง เมื่อสมัยที่ยังเปิดร้านกาแฟที่หัวหิน
พอทราบว่าเขากำลังทำโปรเจ็คสนุกๆสไตล์ชุบอีกแล้ว จึงขอถือโอกาสนี้ชวนมาอัพเดทชีวิตกันสักหน่อย
คนส่วนใหญ่จะรู้จักเขาในฐานะช่างภาพมือรางวัลระดับโลก เซียนรีทัชระดับเทพบ้าง
แต่เขานิยามตัวเองว่าเป็น “คนสร้างภาพ”
เขาคือเจ้าของ ชุบชีวิต สตูดิโอ ‘Chubcheevit studio bangkok’
และ Chubcheevit Cambodia ที่กัมพูชา
เจ้าของร้านกาแฟ ชุบชีวา Chubcheeva ที่ฮอตฮิตที่สุดของหัวหินในช่วงหนึ่ง ถ้าคุณได้แวะไปเที่ยวในช่วงนั้นแล้วไม่ได้เช็คอินที่นี่ถือว่าเอ้าท์สุดสุดเลยล่ะ
เขากำลังคืนถิ่นอีกครั้งในบั้นปลาย เพื่อชุบชีวิตผืนดินของพ่อแม่ ในชื่อ Chubpydoo land
เส้นทางก่อนมาเป็นศิลปิน
เติบโตมาในครอบครัวชาวไร่ชาวนาค่อนข้างยากจนที่ จังหวัดเพชรบุรี ก่อนย้ายตามพ่อแม่มาเรียนหนังสือชั้นประถมที่หัวหิน แล้วก็ย้ายกลับมาอยู่คนเดียวที่เพชรบุรี ตอนมาเรียนมัธยมที่โรงเรียนบ้านลาดวิทยา เขาไม่ได้โตมาท่ามกลางงานศิลปะแต่อย่างใด รู้แค่ว่าชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก วันดีคืนดีเดินไปเจอใบปลิวเรียนวาดรูปของไทยวิจิตรศิลป โรงเรียนสอนศิลปะชื่อดังย่านจตุจักร เลยรบเร้าบอกแม่ว่าอยากเรียนที่นี่ แม่ก็ใจดีมากพานั่งรถบัสสีส้มเข้ากรุงเทพฯ ไปสมัครเรียน ฝากให้อยู่กับคุณครูที่นั่น
สองปีหลังย้ายไปอยู่เองกับเพื่อนสนิทแถวเกษตร เป็นห้องเล็กๆ ทึบแบบกล่องสี่เหลี่ยม ไม่มีหน้าต่างด้วย แต่คงยังเด็กมากเลยไม่ค่อยได้คิดอะไร (เป็นคนง่ายๆตั้งแต่เด็กจริงๆ )
เล่าความทรงจำสมัยเรียนในรั้วไทยวิจิตรศิลปและราชภัฏพระนครให้ฟังหน่อย
ยังจำได้ตอนนั้นพี่ไม่รู้หรอกว่าไทยวิจิตรศิลปเป็นโรงเรียนเอกชนค่าใช้จ่ายก็แพง รู้แค่ว่าที่นี่สอนวาดรูป มาเรียนเราก็มุ่งมั่นฝึกฝนแบบเต็มที่
เพื่อนๆก็สนุกกันสุดเหวี่ยงแต่ด้วยความที่เราไม่มีตังค์ ก็จะนั่งๆ ขีดๆ เขียนๆ เรียนๆ แล้วก็เดินกลับหอหลังโรงเรียนที่แม่พามาฝากครูไว้
“เรียนได้ปีสองปีก็เริ่มรับเขียนรูปพอมีรายได้ จนปี 3 ครูรับงานมาให้โปรเจ็คใหญ่ คือ ช่วงที่ซาฟารีเวิลด์ เปิดใหม่ๆ ก็ไปกินนอนทำงานเป็นช่างศิลปได้เงินดีมากจนไม่อยากกลับไปเรียน พอจบเพื่อนๆก็ไปสอบเอ็นท์กันหมด ไอ้เราก็ไม่ได้ไปมัวแต่ทำงาน จนตอนหลังอาจารย์รู้เรื่องก็มาตามให้ไปสอบเรียนต่อแต่เขาก็สอบกันไปหมดแล้วแต่อาจารย์บอกเหลือราชภัฏพระนครให้ไปสอบผมก็อิดออด แกเลยพาไป พอเห็นบบรยากาศเท่านั้นแหละรู้สึกได้ทันที ว่ามันใช่เลย เป็นตึกเก่าร้อยกว่าปีที่รุ่นพี่เพ้นท์ตึกอย่างศิลป์ หลังจากวันนั้นก็กินนอนอยู่ตึก 6 ในตำนาน บรรดาอาจารย์ก็ช่วยให้เรียนจนจบ”
ด้วยความผูกพัน หลังจากนั้นพอมาทำงานถ่ายภาพรีทัชจนประสบความสำเร็จ อาจารย์ก็เสนอชื่อให้ รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆในยุคที่คอมพิวเตอร์เริ่มบูม พี่ขอไปฝึกงานเองแบบไม่ได้เงินไม่เป็นไร ขอแค่ได้ทำงานแบบนี้ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ทั้งที่ก็ไม่ได้มีเงินเยอะมากมายในตอนนั้น รู้สึกว่ามันแปลกใหม่ ท้าทายดี
“ไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่งนะ พี่อาจโชคดีที่สนใจและเลือกถูกทางด้วยตอนที่คนทำงานด้านนี้ยังมีน้อย พี่ลองผิดลองถูกเอาเองเยอะมาก วาดทุกแนวเพื่อให้ได้ไอเดีย ชอบภาพ แต่ไม่ชอบอ่าน และเป็นคนที่ภาษาอังกฤษก็ไม่กระดิกเลยต้องขยัน ขวนขวายมากกว่าชาวบ้านเค้าหน่อย”
สตูดิโอชุบชีวิต
โครงเหล็กและปูนเปลือยสลับความร่มเงาของไม้ใหญ่ อีกสเปซแห่งอิสระเสรี ที่พนักงานในออฟฟิศต่างคนต่างทำงานในมุมตัวเอง ดึงดูดกันด้วยพลังบวก สร้างสรรค์งานด้วยความรักและแพสชัน มากไปกว่านั้นที่นี่คือ “บ้าน” คือ Safe zone แห่งความสบายใจที่ทำให้ชีวิตประจำวันเรียบง่าย ไม่ต้องออกไปวุ่นวายกับรถติดแบบชาวบ้านชาวเมือง เพราะแค่เดินขึ้นลงบันไดระหว่างชั้นสองห้องทำงานก็กลายเป็นห้องนอนแล้ว
“พี่บอกน้องๆ ทุกคนว่า ให้ใช้ใจทำงานอย่างเดียว จงทำเพื่อตัวเอง ให้อิสระเต็มที่เลย ไม่ต้องทำเพื่อพี่ เขาแค่ต้องไปคิดต่อ ไปเลือกดีไซน์ผลงานกันเอง และสิ่งที่ปลูกฝังไว้มันก็ผลิดอกออกผล บริษัทก็เติบโตไปพร้อมๆกับพวกเราทุกคน ”
งานคือชีวิตเลยนะ ต่อให้วันนึงคุณจะเละเทะอกหักรักคุด เหลวแหลกขนาดไหน คุณยังมีงานมันยังเป็นแกนหลักให้ชีวิต ค่อยๆพยุงตัวได้ แต่วันไหนที่คุณไม่ได้ทำงาน ชีวิตมันเป็นศูนย์ ไร้ค่าเลย
รางวัลของคนทำงานคือ Company trip ที่ออฟฟิศจัดขึ้นทุกปี
“ที่พาน้องๆมาเที่ยวได้ไม่ใช่เพราะพี่มีตังค์ แต่มันคือพลังจากการทำงานของทุกคน จนทำให้มีลูกค้าใจดีและเอเจนซี่น่ารักๆ ส่งงานมาให้เราทำ ดังนั้นงานทุกชิ้นอย่าเพียงแค่ใช้มือทำ แต่ต้องทำด้วยหัวใจ ”
พี่เป็นคนที่เรียบง่าย อะไรก็ตัดง่าย จะเจอปัญหาอะไรก็ช่าง ไม่แบกไว้นาน อย่างตอนที่ไปเปิดสตูดิโอที่กัมพูชา พอเริ่มรู้สึกว่าไม่สนุกแบบที่คิด ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องมุมมอง นิยามความสวย ความงามแบบเขากับแบบเราไม่เหมือนกัน สุดท้ายก็เลือกที่จะปิดม่านลงแบบไม่ได้ผิดหวังอะไรมาก อย่างน้อยก็ได้ลงมือทำ
เวลามีคนมาปรึกษาก็บอกว่าอย่าไปทุกข์นาน “ช่างแม่ง ” ไปบ้างทุกอย่างก็จบ
ทำหนังสือภาพเล่มท้ายๆ ที่จะกลายเป็นตำนาน
ถ่ายภาพวาบหวิวเป็นงานอดิเรก จนล่าสุดได้รวมเล่มทำหนังสือ Photo Book แนวเซ็กซี่อีโรติก ชื่อ CHUBPYDOO (ภาพปกเป็นรูปสตอเบอรรี่ผ่าซีก ) พี่มองว่ามันคือการถ่ายทอดศิลปะ ทุกอย่างอยู่ที่มุมมองและความคิด ถ้ามองให้เป็น ให้เห็นศิลปะ สิ่งที่คิดสิ่งที่เห็นมันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติทั้งสิ้น
เริ่มต้นจากอยากรู้ฟีดแบคคนสมัยนี้ด้วยว่ายังชอบงานสิ่งพิมพ์อยู่ไหม โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าการดูภาพ ได้เปิดกระดาษจากหนังสือนั้นมันได้อรรถรสมากกว่าการนั่งเลื่อนจอกดดูจากโทรศัพท์เป็นไหนๆ
ไม่ถามไม่ได้เลย พาร์ทของงานเจอสาวๆ เยอะขนาดนี้ ไม่เจอคนถูกใจหรือหวงแหนอิสระภาพคะ
คำถามนี้พี่เจอคนถามบ่อยมาก (ยิ้มแบบรู้ทัน) พี่มองว่าเป็นงานมากกว่า ส่วนเรื่องคู่คิดว่าน่าจะไม่ค่อยเหมาะกับไลฟสไตล์ของตัวเองเท่าไหร่ อาจดูเหมือนเห็นแก่ตัวเกินไป แต่มันคือเรื่องจริง ยิ่งทำงานแบบนี้ด้วยมันยาก ถ้าเราดูแลใครได้ไม่ดีพอก็อย่าไปทำให้เค้าทุกข์ใจดีกว่า อีกอย่างทุกวันนี้มันมีความสุขดีอยู่แล้ว อยากไปไหนก็ไป อยากทำอะไรก็ทำ อยู่คนเดียวสบายใจดี
ศิลปะกับการขับเคลื่อนทางสังคม ผ่านมุมมองใหม่ๆ ที่ทันปัจจุบันสมัย
ตลอดชีวิตทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว พี่ไม่ค่อยได้แพลนอะไรจริงจัง เหตุผลคือใช้ความชอบส่วนตัวเข้าว่า พอว่างจากงานหลักเลยหันไปทำงานสร้างสรรค์ที่ทำเพื่อการรับรู้ จับประเด็นที่เกิดขึ้นในกระแสสังคมช่วงนั้นมาเล่าสู่กันฟังในรูปแบบของภาพถ่ายและงานรีทัช เพื่อให้คนมองเห็นปัญหา ฉุกคิดบ้าง ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่อย่างน้อยก็ได้มีความสุขกับการได้ลงมือทำในสิ่งที่เรารัก
ผลงานรีทัชที่กลายเป็นไวรัล ผู้คนแชร์กันในเฟสหลักหมื่น ก็มีภาพยักษ์ที่ใส่หน้ากากอนามัย ภาพพาแม่เที่ยวรอบโลก ตู้โทรศัพท์ที่กลายมาเป็นตู้ใส่นางเงือก
โอกาสที่จะ stand out ในวงการ retouch มีมากน้อยแค่ไหนในปัจจุบัน
ปัจจุบันงานรีทัชไม่ใช่สิ่งใหม่อีกต่อไป ตอนนี้ใครก็ทำได้ ยิ่งต่อไปมี Ai เข้ามาอีกถ้าจะคิดว่าจะทำงานรีทัชเป็นอาชีพ
มีรายได้เหมือนที่ผ่านมาน่าจะยาก สมัยก่อนงานรีทัชเน้นมืออาชีพงานคราฟต์ เพราะเอาไปใช้กับสื่อ มีเดีย บิลบอร์ด หนังสือต่างๆ แต่ทุกวันนี้ใช้แค่สื่อโซเชียล ความพิถีพิถันมันน้อยลง แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นคือคอนเท้นต์มากกว่า
แรงกระแทกจาก Media Change
การรับสารวันวันหนึ่งของผู้คน เลื่อนไถ 1 นาที ข่าวสารก็เต็มกระดานไปหมด การเสพสื่อที่เปลี่ยนไปมาก สื่อสิ่งพิมพ์ก็ลดลงอย่างเป็นที่ประจักษ์ ส่วนงานโฆษณา ภาพถ่ายแนวเซเลบ ถ่ายโปรดักซ์ที่ใครใครก็ถ่ายได้ เริ่มไม่ใช่ทางของเรา
อาจเพราะเริ่มอิ่มตัวด้วยแหละ เกือบ 30 ปีแล้วที่ทำงานมา สมัยนี้การทำงานต่างจากเมื่อก่อนมาก โลกแห่งเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตหมุนไปไวแบบ Fast forward ทำให้ความสนุกจากงานถ่ายภาพลดลง บอกไม่ถูกเหมือนกัน อธิบายยาก เหมือนคุณค่าบางอย่างของงานศิลปะค่อยๆเลือนหายไป และเราก็ไม่ได้อยากต่อสู้ วิ่งตามอีกแล้ว ค่อยๆเฟดตัวเองไป ให้เด็กรุ่นใหม่เขาสนุกกัน ทุกวันนี้แค่อยากมีลมหายใจเพื่อทำในสิ่งที่รักต่อก็พอแล้ว
งานประกวดที่ถูกรับเชิญให้ไปเป็นกรรมการ
ช่วงหลังบอกปฏิเสธไปเยอะเหมือนกัน เพราะเราไม่อยากตัดสินงานว่า ของใครดีหรือไม่ดี ศิลปะมันไม่มีถูกผิด อยู่ที่มุมมองของคนตัดสิน
คิดว่าวันนึง AI จะครองโลกแล้วมาทำงานศิลปะแทนคนได้มั้ย
แต่ก่อนไม่เชื่อเลยนะ ปัจจุบันต้องยอมรับเลยว่า Ai มันแน่จริงๆ มีหลายสิ่งที่คิดว่าไม่น่าทำได้แต่สุดท้ายมันทำได้และทำได้ดีซะด้วย เเค่ป้อนข้อมูลลงไป ใส่คอนเซปต์ที่ต้องการ งานออกมารวดเร็วทันใจและเผลอๆดีกว่าคนอีก เพียงแค่มันยังคิดเองไม่เป็นเท่านั้นเอง
“ ตอนสมัยเรียน ชอบไปเดินดูเขาวาดภาพเหมือนที่ชั้นล่างมาบุญครอง อยากวาดได้เหมือนเขา ทั้งสีชอร์ค สีฝุ่น สีนำ้มัน แล้วก็กลับมาฝึกวาดเป็นปีๆ ได้ดีบ้างไม่ดีบ้างแต่ก็สร้างความภูมิใจให้ตัวเอง ปัจจุบันคนรุ่นใหม่สามารถหาเงินได้จากอากาศ ไม่ต้องมานั่งรีทัช นั่งวาดนั่งเพ้นท์ จนเส้นเอ็นยึดอย่างแต่ก่อน “
จัดการตัวเองคืนสู่ธรรมชาติ
ปลูกบ้านไม้หลังเล็กเตรียมในวัยเกษียณ
บนพื้นที่ทำไร่สัปปะรดของพ่อแม่ที่ปล่อยให้ชาวบ้านเช่าไร่ละไม่กี่ร้อยต่อปี บ้านหนองคร้า ตำบล หินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน
“ช่วงหลัง ๆ รู้สึกพอและมีความสุขกับชีวิตแบบไม่ต้องการอะไรแล้ว แถมไม่ตื่นเต้นกับอะไรเลย เมื่อก่อนอยากทำโน่นทำนี่ ก็ได้ทำมาหมดแล้ว”
ตอนแรกคิดเพียงแค่ว่าจะกลับบ้านเกิด
มาสร้างบ้านอยู่ในบั้นปลายชีวิต พอคิดอีกที คงจะดีไม่น้อยถ้าผืนดินของพ่อจะเอามาทำประโยชน์ให้ชุมชนมากกว่านี้
โจทย์คือต้องเป็นอะไรที่ทำแล้วมีความสุขและสนุกไปกับมันได้ เลยลงมือทำแบบไม่มีแพลน ไม่คาดหวัง จะได้ไม่ผิดหวัง จัดไปจัดมากลายเป็นโปรเจ็คใหญ่กว่าที่คิด เหมือนปลูกต้นไม้ในป่า เริ่มตั้งแต่ตัดทางทำถนนเข้าบ้าน ทำสระน้ำ พอเข้าเค้าดูเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้าง
อนาคตที่นี่น่าจะเป็นแลนด์มาร์คหรือ Creative Space ที่ให้ศิลปินหรือคนที่สนใจงานศิลปะแวะมาแชร์ผลงานกัน ที่ Chubpydoo land ดินแดนแห่งความสุข
เหมือนได้ค้นพบอะไรระหว่างทางที่คืนถิ่น
เมื่อก่อนคิดมาตลอดว่าตัวเองเป็นคนใจเย็น แต่พอได้ลองปลูกต้นไม้ คนงานที่ไร่บอกว่าพี่ใจร้อน อาจเพราะงานเราเป็นอะไรที่เนรมิตร เสกได้ที่ปลายปากกา คลิกเดียวก็ได้ดั่งใจ
แปลกดีที่แต่ไหนแต่ไรไม่เคยดู หรือได้สังเกตใกล้ชิดธรรมชาติ ทุกวันนี้แค่ได้เห็นต้นไม้ออกดอกมาให้ชื่นชมก็อิ่มใจแล้ว
“และพี่เข้าใจหัวอกชาวนาชาวไร่เลยเรื่องอุปสรรคจากลมฟ้าอากาศ กว่าจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต กว่าจะโต พูดแล้วก็เสียดาย ถ้ารู้ว่าต้นไม้โตช้าแบบนี้จะปลูกตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ”
สัจธรรมจริงๆนะ หลายอย่างกว่าจะตกผลึกได้ต้องใช้เวลาค่อนชีวิต แต่กว่าจะคิดได้ก็ช้าเกินไปเสียแล้ว
“สมัยที่พ่อแม่ยังอยู่เราชอบบอกไม่มีเวลาบ้างงานยุ่งบ้าง เลยไม่ค่อยได้กลับบ้านมาเจอ ทั้งๆที่รู้ว่าแกอยากเจอ แต่มาวันนี้ท่านลาลับไป ทำไมเราถึงกลับมาบ้านได้ทุกอาทิตย์”
คำว่าไม่มีเวลา ไม่มีอยู่จริง มันเป็นแค่ข้ออ้าง
ใครยังมีพ่อแม่อยู่ก็ควรดูแลท่านดีๆ ทำให้เต็มที่ตอนที่ท่านยังอยู่
พี่ชุบบอกว่า หัวหินตรงเชิงเขาอากาศดีมาก แค่ยืนดูวิวตอนพระอาทิตย์ตกดิน ก็สุขใจได้แบบง่ายๆ เป็นรางวัลชีวิตที่ไม่เสียสตางค์สักบาท ในยุคที่คนกับธรรมชาติห่างเหินกันมากขึ้น….พอจบบทสนทนาก็อยากจะว้าบหายตัว โผล่ไปสูดโอโซนที่หัวหินเสียตอนนี้เลย