คัดลอก URL แล้ว
การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก เรื่องหลอกจากพ่อแม่ เสี่ยงทำให้เด็กโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่โกหกเก่ง

การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก เรื่องหลอกจากพ่อแม่ เสี่ยงทำให้เด็กโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่โกหกเก่ง

ถ้าดื้อจะให้จับส่งตำรวจ, ถ้านอนกินจะกลายร่างเป็นงู ถ้าลูกยอมทำการบ้านเสร็จแม่จะพาไปเที่ยวสวนสนุก ฯลฯ

คำหลอกล่อดังกล่าวหลาย ๆ คนในสังคมไทย อาจจะเคยได้ยินกันมาในวัยเด็ก ซึ่งเป็นวิธีที่พ่อแม่และผู้ปกครองหลายๆ ครอบครัว คิดว่าเป็นเจตนาดี เป็นกุศโลบายที่ใช้ทำให้เด็กเชื่อฟังไม่ดื้อ แต่ในทางจิตวิทยา การเลี้ยงลูกด้วยการโกหกอาจจะส่งผลเสียตามมาในระยะยาวได้ และมีแนวโน้มสูงด้วยว่าเด็กอาจจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่โกหกเก่ง โดยมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ออกมาด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทย วิธีการเลี่ยงลูกด้วยการโกหกหลายๆ ประเทศก็ทำกัน

คนที่มีนิสัยชอบโกหก อาจเพราะการเลี้ยงดูในวัยเด็ก

เลี้ยงลูกด้วยการโกหก “Parenting by lying”

จากงานวิจัยสรุปออกมา 4 ประเภท ที่พ่อแม่มักใช้โกหกกับลูก เพราะคิดว่าเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องพูดอธิบายอะไรเยอะ และใช้กับลูกได้ผลทำให้ลูกเชื่อฟังได้จริงๆ

1.โกหกเพื่อให้ลูกทำบางสิ่งบางอย่างให้เสร็จ เช่น “ถ้าทำการบ้านเสร็จ พ่อกับแม่จะพาไปเที่ยวทะเล”
2.โกหกเพื่อความปลอดภัย เช่น “อย่าไปวิ่งซนที่ไหนนะ ไม่อย่างนั้นตำรวจจะมาจับตัวลูกไปขังคุก”
3.โกหกเพื่อให้ลูกเป็นเด็กดี เช่น “กินข้าวให้หมดนะ กินให้เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นจะโดนหมอมาฉีดยา”
4.โกหกเพื่อหลีกเลี่ยงคำขอของลูก เช่น “ของเล่นยังไม่ขาย วันนี้ยังซื้อไม่ได้”

ทั้งนี้วิธีดังกล่าวได้ผลระยะเวลาสั้น ๆ และจะส่งผลเสียในระยะยาวให้เด็ก ๆ ได้ ดังนี้

1.ลูกไม่เชื่อใจพ่อแม่

ตอนเด็กลูกอาจจะเชื่อและคิดว่าที่พ่อแม่พูดนั้นจริง แต่เมื่อโตขึ้นก็จะรู้ว่าที่พ่อแม่พูดนั้นไม่จริง และก็จะคิดว่าไม่จำเป็นต้องทำตามที่พ่อแม่พูดก็ได้ เพราะถึงทำไปแล้วก็ไม่ได้ไปทะเลอยู่ดี จะทำให้ลูกรู้สึกไม่เชื่อใจพ่อและแม่ อาจทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก

2.เข้าใจว่าการโกหกเป็นเรื่องปกติ

ลูกจะเรียนรู้ว่าการโกหกหรือการไม่ทำตามสัญญาเป็นสิ่งที่ทำได้เพราะพ่อแม่ก็ทำกับลูกได้ ซึ่งเด็ก ๆ จะเรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่ทำมากกว่าสิ่งที่พ่อแม่พูด

3.โกหกลูกบ่อยจะพัฒนาเป็นปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาทางใจ

งานวิจัยพบว่า “การเลี้ยงลูกด้วยการโกหก” อาจมีความเกี่ยวข้องกับ “ปัญหาลูกโกหกพ่อแม่” ลูกจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือต่อต้านพ่อแม่ หรือปัญหาความวิตกกังวล ซึ่งต้นตอปัญหาเหล่านี้อาจเริ่มมาจากการที่ลูกไม่เชื่อใจพ่อแม่ และมีความรู้สึกโกรธอยู่ในใจที่ถูกพ่อแม่โกหก

ยิ่งพ่อแม่พูดโกหกกับลูกมากขึ้นเท่าใด ยิ่งเสี่ยงที่ลูกจะมีนิสัยชอบโกหก

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (NTU) มีการทดสอบผู้ใหญ่ชาวสิงคโปร์ 379 คน ให้พวกเขาตอบคำถามและประเมินตนเองในแบบสอบถาม 3 ชุด มีแบบสอบถามชุดแรกสำรวจถึงประสบการณ์ของกลุ่มตัวอย่างในวัยเด็กว่า เคยถูกผู้ใหญ่พูดลวงด้วยเรื่องโกหกบ่อยครั้งแค่ไหน อย่างไร

ส่วนแบบสอบถามชุดที่สองและสามเป็นการประเมินว่า กลุ่มตัวอย่างพูดโกหกกับพ่อแม่และคนรอบข้างบ่อยครั้งแค่ไหนในปัจจุบัน รวมทั้งสำรวจถึงประสบการณ์ที่เป็นอุปสรรคหรือความยากลำบากในการปรับตัวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวด้วย

ผลงานวิจัยพบว่า การโกหกของพ่อแม่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของลูกในระยะยาว เด็กที่ถูกพ่อแม่โกหกบ่อยครั้ง มีแนวโน้มที่จะพูดโกหกเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และเผชิญปัญหาในการปรับตัวทางสังคม เช่น พฤติกรรมก้าวร้าวและการไม่เคารพกฎหมาย การพูดโกหกจากพ่อแม่ที่มีนัยเชิงแสดงอำนาจส่งผลเสียมากกว่าการบิดเบือนความจริงทั่วไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เซตอห์ เปเป ชี้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยคำโกหกแม้จะง่าย แต่กลับสร้างความขัดแย้งและทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจในครอบครัว แนะนำให้พ่อแม่แสดงความเห็นใจและให้ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างที่บอกว่าตนเองถูกหลอกด้วยเรื่องโกหกบ่อยครั้งในวัยเด็ก มีแนวโน้มมากกว่าคนอื่น ๆ ที่จะชอบพูดโกหกหรือพูดเกินจริงเสียเองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แม้เรื่องโกหกที่ว่ามานั้นจะหมายรวมถึง “การโกหกสีขาว” ซึ่งเป็นการพูดเพื่อรักษาน้ำใจหรือเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้อื่นด้วยก็ตาม

ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก : คณะจิตวิทยาจุฬาลงกรฤณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
, bbc


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง