คัดลอก URL แล้ว
ทำไมคนไทยบางกลุ่ม ถึงถูกหลอกได้ง่าย

ทำไมคนไทยบางกลุ่ม ถึงถูกหลอกได้ง่าย

สถานการณ์ที่เห็นกันได้บ่อยๆ ในปัจจุบัน เกี่ยวกับการถูกหลอกจากมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางโทรศัพท์ ทางออนไลน์ หลอกให้ลงทุนทรัพย์สิน เช่น จากการขายตรง แชร์ลูกโซ่ โดยมีผลลัพธ์หลอกล่อเหยื่อเป็นความสำเร็จที่ตอบแทนด้วยเงินทอง ถึงแม้จะมีข่าวสารหลายเคสออกไปให้เห็นก็ยังมีผู้คนหลงเชื่อมิจฉาชีพในรูปแบบเดิมๆ ดังที่กล่าวมาอยู่ ทำความเข้าใจกระบวนการทางจิตวิทยาที่มิจฉาชีพชอบใช้เทคนิคกลโกงและการโน้มน้าวใจเหยื่อ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่โดนมิจฉาชีพหลอกได้ง่าย ๆ

คนไทยจำนวนมากทำไมโดนหลอกได้ง่าย

ข้อมูลจาก ไอเอฟดี ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,199 คน ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ในประเด็น “คนไทยจำนวนมากทำไมตกเป็นเหยื่อการถูกหลอก อยู่เสมอ โดยใช้ตัวอย่างจากเหตุการณ์ลอยแพนักท่องเที่ยวไปญี่ปุ่นในช่วงสงกรานต์ และกรณีอื่นๆ ที่ประชาชนถูกหลอก เช่น แชร์ลูกโซ่ แชร์เหมืองทอง ฯลฯ มาสู่คำถามว่า เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงคนไทยเป็นอย่างไรในมุมมองของท่าน

จากผลการสำรวจพบว่า สาเหตุ 3 อันดับแรกที่ทำให้คนไทยถูกหลอกหรือถูกต้มตุ๋นได้ง่าย คือ

1.เชื่อคนง่าย คนไทยยังขาดความเข้าใจในการคิดและวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผลหรือการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น เพื่อพิสูจน์ข้อมูลที่ได้รับมาว่าเป็นจริงหรือไม่

2.สนใจของถูกหรือผลตอบแทนสูงในเวลาสั้นแบบไม่สมเหตุสมผล ต้องการรวยทางลัดหรือค่าตอบแทนจากการลงทุนที่สูงเกินความเป็นจริง

3.ทำตามเพื่อนฝูงหรือกลุ่ม ไว้ใจคนง่าย เชื่อจากคำบอกกล่าวของผู้อื่นหรือแหล่งข้อมูลต่าง ๆ

งานวิจัยทางจิตวิทยาวิเคราะห์การหลอกลวงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมากกว่า 580 ประเภท ชี้ว่า

มิจฉาชีพใช้เทคนิคจิตวิทยาการโน้มน้าว 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

1.การอ้างอำนาจ (authority)
2.การกดดันโดยการจำกัดเวลาหรือจำนวนรางวัลตอบแทน (scarcity)

นอกจากนี้มิจฉาชีพยังใช้วิธีอื่น ๆ อีก อาทิ

สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้วยกฎหมายและความน่าเชื่อถือ

โดยแสดงให้เห็นว่าข้อเสนอที่มิจฉาชีพหลอกเหยื่อนั้น มีความถูกต้องตามกฎหมายและมีหน่วยงานหรือบริษัทที่น่าเชื่อถือรองรับ เช่น อาจจะอ้างอิงว่าตนเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นคนมีชื่อเสียง จึงทำให้เหยื่อรู้สึกไว้ใจเชื่อใจ

ใช้การโน้มน้าวทางอารมณ์มากกว่าเหตุผล

เช่น จงใจจำกัดระยะเวลาในการส่งข้อมูลหรือโอนเงิน จำกัดจำนวนสินค้าที่จำหน่าย หรือจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมการลงทุน เป็นการกระตุ้นล่อตาล่อใจทำให้เหยื่อรู้สึกว่าต้องรีบเพื่อจะได้รับผลตอบแทนตามที่มิจฉาชีพสัญญาไว้

คำแนะนำไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจาชีพ

ไตร่ตรองข้อมูลให้ดี

หากได้รับข้อมูลมา โดนชวนให้ลงทุนอะไรสักอย่างหรือให้โอนเงิน ยิ่งต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลาย ๆ แหล่ง ปรึกษาคนรอบตัว แม้จะมีกฎหมายมาอ้างอิงที่ดูน่าเชื่อถือก็อย่าเพิ่งรีบไว้ใจ ให้ไตร่ตรองให้ดีก่อน

ผลตอบแทนมากความเสี่ยงยิ่งมาก

ย้ำเตือนตัวเองว่าโอกาสการได้รับผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจมักมาพร้อมกับความเสี่ยงไม่น้อย

ขอบคุณที่มาจาก : คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์ อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน, IFD สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง