คัดลอก URL แล้ว
ครม.มีมติตรึงราคาค่าไฟ 4.18 บ./หน่วย ถึงสิ้นปีนี้

ครม.มีมติตรึงราคาค่าไฟ 4.18 บ./หน่วย ถึงสิ้นปีนี้

วันที่ 23 กรกรฏาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมรับทราบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เกี่ยวกับมาตรการลดราคาพลังงาน ซึ่งเรื่องนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้แถลง

จากนั้นนายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เรื่องค่าไฟฟ้า ที่ประชุม ครม.มีมติต่อระยะเวลาตรึงราคา 4.18 บาทต่อหน่วยไปอีก 4 เดือน (กันยายน – ธันวาคม) รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยเช่นเดิม พร้อมกับยืนยันในกระแสข่าวที่ว่า จะขึ้นค่าไฟฟ้านั้นไม่มี

ส่วนการตรึงราคาไฟฟ้าให้อยู่ในราคาดังกล่าวนั้นกระทรวงฯ มีวิธีการของตนเอง ยืนยันว่าจะไม่มีผู้ใดเดือดร้อน และไม่ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ไปแบกรับ ซึ่งจะได้เงินส่วนต่างจากค่าไฟฟ้าไปจ่าย แต่จะจ่ายในจำนวนที่ลดน้อยลง และนำไปชำระหนี้ให้ กฟผ.ด้วย ซึ่งการชำระจะจ่ายตามงวดค่าไฟฟ้า และการชำระหนี้ไม่จำเป็นต้องจ่ายในงวดเดียวทั้งหมด เพราะการจ่ายหนี้งวดเดียวจบ ประชาชนจะเป็นผู้เบาะแบกรับหนี้ ซึ่งไม่มีเหตุจำเป็นที่จะทำเช่นนั้น ฉะนั้นการทยอยจ่ายเป็นรายงวดก็มีค่าเท่ากัน

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีมติตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร โดยใช้มาตรการจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567

ส่วนการตรึงราคาน้ำมันนั้น จะเป็นการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ใช้น้ำมันเบนซินก็เดือดร้อนเช่นกัน นายพีระพันธ์ุ กล่าวว่า กลไกน้ำมันเป็นเช่นนี้มานานนับเวลา 50 ปี ซึ่งตนก็ไม่พอใจ แต่ขณะนี้กำลังดำเนินการแก้ไข ซึ่งอยู่ระหว่างการร่างเป็นกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ตนได้ร่างกฎหมายต้นฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังส่งให้ฝ่ายกฎหมายของทีมตรวจสอบ และจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่ขึ้นอยู่ในทุกวันได้

เมื่อถามว่าร่างกฎหมายดังกล่าว จะไม่ทันใช้ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ใช่หรือไม่ นายพีระพันธ์ุ ยืนยันว่าไม่ทัน เพราะต้องส่งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังจะมีร่างกฎหมาย เพราะที่ผ่านมา 50 ปี ไม่เคยมีร่างกฎหมายนี้

เมื่อถามย้ำว่าหลังวันที่ 31 ตุลาคมนี้ จะมีการบริหารเรื่องราคาน้ำมันอย่างไร ระหว่างรอร่างกฎหมายดังกล่าว นายพีระพันธุ์ ชี้ว่าต้องใช้ตามกฎหมายเดิมไปก่อน แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ ก็มีการปรับระบบทั้งหมด พร้อมเชื่อว่าหลังวันที่ 31 ตุลาคมนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังจะแบกรับไหวอยู่ แต่อย่างไรก็ตามต้องไปพูดคุยกับกระทรวงการคลังว่าจะมีวิธีการอย่างไรต่อไป

เมื่อถามย้ำว่าหลังวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ใช้กลไกของลดภาษีสรรพสามิตมาช่วยใช่หรือไม่ นายพีระพันธ์ุ เปิดเผยว่า ต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อถามว่า การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันจะได้รับความร่วมมือจากฝ่ายอื่นหรือไม่ ในการออกกฎหมายดังกล่าว หรือจะมีการขัดแข้งขัดขากันหรือไม่ นายพีระพันธ์ุ กล่าวว่า ไม่มีเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ประชาชน และประชาชนคือผู้ได้ผลประโยชน์โดยรวม และจากการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่มีใครมีปัญหา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง