คัดลอก URL แล้ว
กัมพูชาเปิด ‘ท่าเรืออเนกประสงค์’ ยกประตูสู่นานาชาติ การค้ากับจีนโตต่อเนื่อง

กัมพูชาเปิด ‘ท่าเรืออเนกประสงค์’ ยกประตูสู่นานาชาติ การค้ากับจีนโตต่อเนื่อง

กัมพูชาเปิดตัวท่าเรืออเนกประสงค์ในเมืองโบกอร์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดกัมปอตอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดี (6 มิ.ย.) โดยตั้งเป้ายกระดับภาคโลจิสติกส์และการขนส่งทางทะเลของประเทศ

ฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวระหว่างงานเปิดตัวท่าเรืออเนกประสงค์กัมปอตในระยะแรกว่าท่าเรือแห่งนี้จะเป็นประตูสู่นานาชาติแห่งใหม่ ซึ่งช่วยส่งเสริมการค้าของกัมพูชากับประเทศอื่นๆ พร้อมเสริมว่าท่าเรือแห่งนี้จะกลายเป็นเส้นทางการขนส่งทางทะเลสายใหม่ที่สำคัญของกัมพูชา ซึ่งจะปรับปรุงกิจกรรมการค้าและการแลกเปลี่ยนสินค้า พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมของประเทศ

ภาพ – Ly Lay/Xinhua

ฮุนมาเนตชี้ว่าท่าเรืออเนกประสงค์กัมปอตจะมีบทบาทช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของท่าเรือปกครองตนเองสีหนุวิลล์ และท่าเรือปกครองตนเองพนมเปญ

ด้านเพ็ง โพเนีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมของกัมพูชา กล่าวว่าท่าเรือดังกล่าวก่อสร้างบนพื้นที่รวม 600 เฮกตาร์ (ราว 3,700 ไร่) และลงทุนโดยบริษัทท้องถิ่นอย่างกัมปอต พอร์ต (Kampot Port) ซึ่งการพัฒนาท่าเรือระยะแรกมีค่าใช้จ่ายประมาณ 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.1 พันล้านบาท)

โพเนียกล่าวว่าท่าเรืออเนกประสงค์กัมปอตประกอบด้วยอู่ต่อเรือ ท่าเรือคอนเทนเนอร์ โกดัง และท่าเทียบเรือสำหรับเรือท่องเที่ยว โดยสามารถรองรับเรือน้ำหนัก 10,000 ตันหรือเทียบเท่า 666 ทีอียู (TEU : หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) ด้วยความลึก 10 เมตร ส่วนในระยะสอง ระดับความลึกของน้ำของท่าเรือแห่งนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 13 เมตร

ภาพ – Ly Lay/Xinhua

ด้านการค้า ‘จีน-กัมพูชา’ โตต่อเนื่องในช่วงม.ค.-พ.ค.

ทางด้านของ

กระทรงพาณิชย์ของกัมพูชารายงานว่าการค้ากัมพูชา-จีนยังคงเติบโตแข็งแกร่งในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมของปีนี้ เนื่องด้วยอานิสงส์จากข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคหลายฉบับ

รายงานระบุว่าปริมาณการค้าสองทางระหว่างกัมพูชากับจีนในช่วงห้าเดือนแรกของปีนี้รวมอยู่ที่ 5.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.18 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ตามด้วยเวียดนาม สหรัฐฯ ไทย และญี่ปุ่น

กระทรวงฯ ชี้ว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน ซึ่งต่างมีผลบังคับใช้ในปี 2022 ถือเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตทางการค้านี้ โดยข้อตกลงทางการค้าทั้งสองฉบับส่งเสริมการส่งออกสินค้าของกัมพูชาสู่จีนภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอย่างข้าวสาร กล้วยเหลือง มะม่วง ลำไย มันสำปะหลัง และพริกไทย


ที่มา – ซินหัว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง