ประเทศไทยในช่วงฤดูร้อน การเลือกรับประทานอาหารนับเป็นสิ่งที่สำคัญในการดูแลสุขภาพ หากรับประทานอาหารเป็นพิษเข้าไปสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเข้าไป อาจจะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องและท้องเสียถ่ายเหลวตามมา อาการเหล่านี้ทำให้สงสัยว่า “อาหารเป็นพิษ” ซึ่งบทความนี้ขอนำข้อมูลความรู้จาก คุณพรกนก คำวัฒน์ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ แผนกโภชนาการ โรงพยาบาลนวเวช มาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจถึงลักษณะอาหารที่ก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย สามารถนำไปสังเกตตนเองและคนรอบข้าง เพื่อจะเลือกรับประทานอาหารในช่วงหน้าร้อนให้ถูกสุขลักษณะที่สุด
อาหารเป็นพิษ อาจก่อให้เกิดโรคในช่วงฤดูร้อน
1.อาหารที่มีกะทิ
อาหารที่มีกะทิเมื่อตั้งทิ้งไว้นานช่วงหน้าร้อนจะทำให้บูด เสียได้ง่าย เช่น แกงกะทิ ขนมหวานที่ใส่กะทิ หรือราดน้ำกะทิ
2.ผักสด
ผักที่มาจากแหล่งผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน มีโอกาสพบสารปนเปื้อน ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และอาจเสี่ยงมีเชื้อ Enteroaggregative E. coli ที่มากับมูลของสัตว์ ซึ่งบางร้านล้างผักไม่สะอาด ทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ เช่น สลัดผัก ผักแกล้ม ผักแนม ผักจิ้ม
3.ส้มตำ ยำ ขนมจีน
กลุ่มอาหารเหล่านี้เป็นกลุ่มอาหารที่ไม่ผ่านความร้อนอย่างทั่วถึง จึงทำให้ปนเปื้อนจุลินทรีย์ได้ง่าย ส้มตำ และยำต่าง ๆ บางร้านอาจใช้น้ำปลาร้าไม่ได้มาตรฐาน ถั่วลิสงอาจขึ้นรา กุ้งแห้งใส่สี และมีรสชาติที่เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ซึ่งระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร ส่วนเส้นขนมจีนทำมาจากแป้ง รวมถึงน้ำยากะทิ ซึ่งบูดง่าย และมีผักเครื่องเคียงที่ทานสด ๆ อาจจะล้างไม่สะอาด จะทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
4.อาหารทะเล
อุณหภูมิที่สูงในช่วงหน้าร้อนจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในอาหารทะเลเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ ควรเลือกวัตถุดิบอาหารทะเลที่สด ไม่มีกลิ่นหรือสีผิดปกติ และเลือกรับประทานเมนูที่ผ่านความร้อนปรุงสุกทุกครั้ง
5.น้ำดื่ม น้ำแข็ง
ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค มีผงหรือเศษฝุ่นติดอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ
เคล็ดลับทานอาหารหน้าร้อนให้ปลอดภัย
ทั้งนี้ อาหารเป็นพิษ เป็นภาวะที่เกิดจากรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเหลวตามมา ในช่วงที่อากาศร้อนแบบนี้ ขอแนะนำเคล็ดลับการรับประทานอาหาร
- “เน้นปรุงสุก สะอาด ผ่านร้อน”
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เสียง่าย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางอาหาร และน้ำ ก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษ
- ควรล้างมือให้สะอาด ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
โดยทั่วไปเป็นภาวะไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง โดยรักษาตามอาการ หากมีอาการรุนแรงแนะนำให้ควรรีบมาพบแพทย์ สอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ แผนกโภชนาการ โทร. 1507 I Line: @navavej