คัดลอก URL แล้ว
สายสีเขียวสูงสุดต้องไม่เกิน 47 บาท หลัง กทม.เคาะ ต่อขยาย 15 บาท

สายสีเขียวสูงสุดต้องไม่เกิน 47 บาท หลัง กทม.เคาะ ต่อขยาย 15 บาท

สภาผู้บริโภค ย้ำจุดยืน ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดต้องไม่เกิน 47 บาทตลอดสายตามที่กำหนดไว้ในสัมปทาน หลังกทม. มีมติเก็บค่าโดยสารบีทีเอสส่วนต่อขยาย 15 บาท

จากกรณีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 รถไฟฟ้าบีทีเอส ประกาศ การกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บโดยกรุงเทพมหานคร ในส่วนต่อขยายสายสีเขียว เริ่มมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 2 มกราคม 2567 “ในเส้นทางที่มีการเปิดให้บริการฟรี” ทั้ง 2 เส้นทางช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ 9 สถานี และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ – คูคต 16 สถานี โดยจะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ทำให้อัตราค่าโดยสารของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว สูงสุดที่ 62 บาท นั้น

วันที่ (29 ธันวาคม 2566) นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า เห็นด้วยกับการเก็บค่าโดยสาร 15 บาท เนื่องจากเป็นข้อเสนอของสภาผู้บริโภคที่เคยเสนอต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาที่ถูกกว่าการคำนวณค่าโดยสารตามระยะทาง ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคยังคงจุดยืนเดิม คือการเก็บค่าโดยสารต้องไม่กระทบภาระค่าใช้จ่ายผู้บริโภค หากเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายในราคา 15 บาท ตลอดสาย เมื่อรวมเส้นทางหลักจะเก็บค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 47 บาท ตามสิทธิที่ระบุในสัญญาสัมปทานของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้บริการระบบรถไฟฟ้าได้มากขึ้น

นายคงศักดิ์ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดให้ใช้บริการฟรีมาตั้งแต่ปี 2560 ทำให้ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการและการจ้างเดินรถ หากมีการเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยาย กทม.สามารถนำรายได้ดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ค้างจ่ายได้

“สภาผู้บริโภคเห็นด้วยกันการเรียกเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยาย แต่อย่างไรก็ตามการเก็บเงินเพิ่มในส่วนนี้จะต้องไม่กระทบผู้บริโภค ค่าโดยสารสูงสุดต้องไม่เกินตัวเลขที่เคยระบุไว้ในสิทธิสัญญาสัมปทาน ซึ่ง กทม. และ บริษัทฯ ต้องหารือกันต่อไปว่ามีแนวทางเรียกเก็บค่าโดยสารอย่างไร ไม่ให้กระทบผู้บริโภคและไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค” นายคงศักดิ์ ระบุ

นอกจากนี้ การคิดค่าโดยสารควรมีให้ทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น อย่างเช่น นำบัตรโดยสารแบบเดินทาง 30 วัน กลับมาจำหน่ายเหมือนเดิม แม้ว่าการเดินทางไม่กี่สถานีบัตรโดยสารแบบเติมเงินอาจคุ้มค่ากับผู้บริโภค แต่สำหรับผู้บริโภคที่ต้องใช้รถไฟฟ้าหลายสถานีเพื่อเดินทางไปเรียนหรือทำงานทุกวัน บัตรโดยสารแบบเดินทาง 30 วัน จะตอบโจทย์มากกว่า และแม้ว่า ปัจจุบันจะมีโปรโมชั่นสะสมแต้ม เพื่อนำมาแลกเที่ยวเดินทางฟรี แต่สิทธิพิเศษดังกล่าว ใช้ได้กับบัตรแรบบิท รีวอร์ดส (Rabbit Rewards) เท่านั้น ซึ่งบัตรแรบบิทฯ อาจมีข้อจำกัดกับผู้บริโภคบางกลุ่ม จึงควรมีทางเลือกที่มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับผู้บริโภคในทุกกลุ่ม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง