ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “War on Scam Gang” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ที่มีฐานในเมียนมา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล”

จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อมาตรการของรัฐบาลในการตัดไฟ ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตและระงับการส่งออกน้ำมัน เพื่อจัดการปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ในเมียนมา พบว่า ตัวอย่าง
- ร้อยละ 70.54 ระบุว่า เห็นด้วยมาก
- ร้อยละ 21.07 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย
- ร้อยละ 5.34 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
- ร้อยละ 3.05 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย
ด้านมาตรการของรัฐบาลในการตัดไฟ ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต และระงับการส่งออกน้ำมันกับการช่วยแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ในเมียนมา พบว่า ตัวอย่าง
- ร้อยละ 60.92 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
- ร้อยละ 17.71 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก
- ร้อยละ 15.95 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้น้อยมาก
- ร้อยละ 5.42 ระบุว่า ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรเลย
สำหรับการมีส่วนเกี่ยวข้องหรือการสนับสนุนแก๊งคอลเซนเตอร์ในเมียนมาจากเจ้าหน้าที่รัฐของไทยบางคนพบว่า ตัวอย่าง
- ร้อยละ 69.85 ระบุว่า มีแน่นอน
- ร้อยละ 26.87 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
- ร้อยละ 3.28 ระบุว่า ไม่มี
ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผู้ที่ทำงานในแก๊งคอลเซนเตอร์ในเมียนมาถูกหลอกหรือสมัครใจมากกว่ากัน พบว่า ตัวอย่าง
- ร้อยละ 49.77 ระบุว่า น่าจะมีจำนวนพอ ๆ กันทั้งคนที่ถูกหลอกและเต็มใจไปทำงาน
- ร้อยละ 25.80 ระบุว่า ส่วนใหญ่ไปทำงานด้วยความเต็มใจ
- ร้อยละ 20.38 ระบุว่า ส่วนใหญ่ถูกหลอกไปทำงาน
- ร้อยละ 4.05 ระบุว่า ไม่แน่ใจ