นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวชี้แจงกรณีโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนน และเกี่ยวสายไฟฟ้า บริเวณถนนติวานนท์ ระหว่างสถานีแคราย ถึง สถานีแยกปากเกร็ด ยืนยันระบบรถไฟฟ้ามีความปลอดภัยในการเดินทาง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมขอยืนยันว่าระบบการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความปลอดภัย สำหรับอุบัติเหตุในส่วนงานก่อสร้างสาธารณูปโภค โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่เกิดเหตุ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบทุกสถานี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิศวกร ได้เข้าทำการตรวจสอบอีกครั้ง ทำให้ช่วงเช้าของวันที่ 25 ธันวาคม 2566 สามารถเปิดให้บริการจำนวน 23 สถานี
ตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ (PK08) – สถานีมีนบุรี (PK30) ตั้งแต่เวลา 06.00 – 24.00 น. ในส่วนสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) รวม 7 สถานี ยังคงปิดให้บริการอยู่ จนกว่าจะติดตั้งระบบรางจ่ายไฟให้แล้วเสร็จและตรวจสอบให้เรียบร้อยอีกครั้ง สำหรับระยะเวลาที่เปิดทดลองใช้บริการฟรีที่เสียไปจากการปิดให้บริการ 7 สถานี ดังกล่าว จะมีการเจรจากับผู้ประกอบการให้ขยายระยะเวลาการเปิดทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูทั้งเส้นทางอีกครั้ง เพื่อประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนได้รับเป็นสำคัญ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า จากที่ได้ลงพื้นที่หาตรวจสาเหตุที่เกิดขึ้น และทำการประมวลผล ได้ข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากการรื้อถอนอุปกรณ์ด้านโครงสร้างจากการดึงเข็มพืดเหล็ก (sheet pile) ของโครงการระบบสาธารณูปโภคบริเวณด้านล่างของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ออกตามขั้นตอนก่อสร้างเมื่องานแล้วเสร็จ
ซึ่งอาจมีเหตุการณ์ที่ทำให้ระดับของรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ส่งผลให้เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้า (Collector Shoe) ที่ติดกับตัวรถตรวจความพร้อมของเส้นทาง (รถไฟฟ้าหมายเลข PM40) ซึ่งกำลังเคลื่อนที่ไปกระแทกส่งผลให้เกิดการขยับตัวของรางนำไฟฟ้า (Conductor Rail) ออกจากจุดยึดแล้วร่วงลงมาด้านล่างบนถนนบางส่วน (ประมาณ 300 เมตร)
และส่วนใหญ่ติดค้างอยู่บนโครงสร้าง ระหว่างสถานีแคราย (PK02) ถึงสถานีกรมชลประทาน (PK05) ระยะทางรวมประมาณ 4.3 กม. นอกจากนี้ ยังพบว่า มีรอยไหม้จากประกายไฟที่เกิดจากการลัดวงจร (Short Circuit) 1 จุด บริเวณคานทางวิ่ง เหนือสถานที่ก่อสร้างโครงการระบบสาธารณูปโภคดังกล่าว (ใกล้ปากซอยติวานนท์ 34)
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องนำมาเป็นบทเรียนที่สำคัญของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าทั้งงานก่อสร้างและระบบเดินรถ เมื่อมีการดำเนินการใด ๆ เช่น ก่อสร้าง รื้อถอน ต้องมีการแจ้งและส่งมอบพื้นที่ ควบคุมงานพร้อมกัน ทั้งผู้ประกอบการ และ ขร. รฟม. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก
ที่ผ่านมาได้มีการหารือระหว่างหน่วยงานรัฐ และเอกชนมาโดยตลอด และปัจจุบันมีรถตรวจการพร้อมเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบความพร้อมเส้นทาง ก่อนให้บริการในทุก ๆ เช้าเวลา 04.00 น. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูตลอดการเดินทาง ทั้งนี้จะต้องเพิ่มมาตรการตรวจการทำงาน และความเรียบร้อยสำหรับงานที่มีการดำเนินงานใกล้เส้นทางการวิ่งของรถไฟฟ้าให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัยในอนาคต