คัดลอก URL แล้ว
“กลุ่มคาราบาว” ปักธงสู้ศึกตลาดเบียร์ไทย 2.6 แสนล้าน

“กลุ่มคาราบาว” ปักธงสู้ศึกตลาดเบียร์ไทย 2.6 แสนล้าน

กลุ่มคาราบาวทุ่ม 4,000 ล้านส่งเบียร์ “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” สู้ทุกกลุ่มผู้บริโภค ปักธงชิงเค้กตลาดเบียร์ไทย 2.6 แสนล้านลั่นแม้เป็นน้องใหม่ แต่ “ไม่คิดเป็นเบอร์ 3 ในตลาด”

หลังใช้เวลาพัฒนาสูตรนานกว่า 2 ปี ร่วมกับสถาบันวิจัยเบียร์ในเยอรมัน  ต่อยอดจากเบียร์สด รสชาติที่คุ้นเคยของโรงเบียร์ตะวันแดง ล่าสุด “กลุ่มคาราบาว” ประกาศตัวลงสู้ในสมรภูมิตลาดเบียร์ไทยที่มีมูลค่า 2.6 แสนล้านอย่างเป็นทางการภายใต้แบรนด์ “คาราบาว” และ “ตะวันแดง” วางจำหน่ายพร้อมกัน 5 รสชาติ เจาะทุกกลุ่มเป้าหมายนักดื่มโดยเฉพาะกลุ่ม Economy Beer ซึ่งกินส่วนแบ่งถึง 75% มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท

แม้จะเป็นผู้เล่นน้องใหม่ในตลาด แต่ประสบการณ์ที่สั่งสมกว่า 24 ปี ‘นายเสถียร เสถียรธรรมะ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “กลุ่มคาราบาว” ได้วางเป้าหมายชัดเจนว่า “ไม่คิดเป็นเบอร์ 3 ในตลาด” โดยกลยุทธ์หลักในช่วงแรก จะมุ่งเน้นการชูมาตรฐานใหม่ของเบียร์ขั้วที่ 3 ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจและเปิดใจ ว่าเบียร์ที่ได้รับมาตรฐานระดับโลก และเบียร์ที่คนนิยมดื่มกันในระดับสากลเป็นอย่างไร ทั้งรสชาติ และความเข้มข้น ที่แตกต่างจากเบียร์เดิมที่อยู่ในตลาด

ปัจจุบันตลาดเบียร์ในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว การเข้ามาในตลาดของคาราบาวกรุ๊ปในครั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “กลุ่มคาราบาว” เชื่อว่าจะทำให้เห็น Movement ของตลาดที่เปลี่ยนไป จากมาตรฐานใหม่ของเบียร์ที่บริษัทสร้างขึ้น และมาพร้อมตัวเลือกที่หลากหลาย ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยกลุ่มคาราบาวได้ทุ่มเงินลงทุน 4,000 ล้านบาทสร้างโรงงานผลิตเบียร์ที่ชัยนาทโดยนำร่องผลิต 200 ล้านลิตรในปีแรกจากกำลังผลิตรวม 400 ล้านลิตรต่อปี

นายเสถียร กล่าวว่า จากการดำเนินธุรกิจโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงไมโครบริวเวอรี่ (Microbrewery) ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงจากรสชาติเบียร์ต้นตำรับเยอรมัน และได้รับการยอมรับจากลูกค้ามากกว่า 10 ล้านคน ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ในการนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับตลาด จึงตั้งใจให้เบียร์ทั้ง 2 แบรนด์ มีกลิ่นและรสชาติเหมือนหรือใกล้เคียง กับเบียร์ที่ขายที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ภายใต้มาตรฐาน German Beer Purity Law ซึ่งเป็นกฎการทำเบียร์เยอรมัน ที่มีวัตถุดิบจากมอลต์ ฮอปส์ และยีสต์ เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ในตลาด และถือเป็นการ “เซ็ตมาตรฐานใหม่” ให้กับตลาดเบียร์ของไทย

“ด้วยตลาดมีเพียงแบรนด์ยักษ์ใหญ่ไม่กี่แบรนด์ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากนัก ในขณะที่มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการดื่มเบียร์คุณภาพระดับโลก แต่เบียร์เหล่านี้มักเป็นเบียร์นำเข้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้โอกาสเข้าถึงมีน้อย จึงถือเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีใครกล้าเข้ามาเล่น สิ่งนี้ถือเป็นโอกาสของกลุ่มคาราบาว ในการนำเสนอทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค” นายเสถียร กล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการตลาดเบียร์ในประเทศไทย มีผู้เล่นหลักเพียงสองรายซึ่งครองส่วนแบ่งกว่า 80% จึงถือเป็นความท้าทายของกลุ่มคาราบาว แต่ด้วยจุดแข็งในเรื่อง “ช่องทางการกระจายสินค้า” ได้มีการปูพรมจำหน่ายในร้านค้าในเครือข่าย ได้แก่ ซีเจ มอร์ ที่มีถึง 1,000 สาขาทั่วประเทศ, ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่มีร้านค้าอยู่มากกว่า 5,000 ร้านทั่วประเทศ และหน่วยรถในศูนย์กระจายสินค้าทั้ง 31 แห่ง ที่สามารถเข้าถึงร้านค้าปลีกทั่วประเทศ 

อีกทั้ง ยังได้ปรับโครงสร้างการกระจายสินค้า ด้วยการกระจายสินค้าสู่ตัวแทนจำหน่ายระดับอำเภอโดยตรง ทำให้สินค้าสามารถเจาะเข้าถึงร้านค้าย่อย หรือโชห่วยทั่วประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้อย่างทั่วถึง

นายเสถียร กล่าวว่า อีกจุดแข็งสำคัญที่ทำให้มั่นใจว่า เบียร์ทั้ง 2 แบรนด์ จะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี คือความแข็งแกร่งของแบรนด์ โดยเฉพาะ “คาราบาว” ซึ่งได้รับการยอมรับไม่เพียงประเทศไทยแต่ในระดับโลก ปัจจุบันมีการส่งออกสินค้าไปยัง 42 ประเทศ ครอบคลุมทุกทวีป รวมทั้งเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของการแข่งขันฟุตบอล EFL ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “คาราบาวคัพ” มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 ซึ่งทำให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก 

ขณะที่ “ตะวันแดง” ก็ได้รับการยอมรับในฐานะโรงเบียร์ ไมโครบริวเวอรี่ ที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย ที่ยืนอยู่ได้มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี กลุ่มคาราบาวจึงตั้งเป้าส่งออกเบียร์ไปยังตลาดต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีร้านอาหารไทยมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง