จากประเด็นในโซเชียลที่มีผู้ใช้ X รายหนึ่งได้โพสต์ระบุว่า “ลูกเรือประกาศว่าไฟลท์นี้มีผู้โดยสารที่แพ้ถั่วอย่างรุนแรง ขอความร่วมมือผู้โดยสารทุกคนงดกินอาหารที่มีส่วนผสมของของถั่วทุกชนิดตลอดการเดินทาง” ทั้งนี้ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งสองด้าน ทั้งด้านที่เข้าใจและไม่เข้าใจ ในบทความนี้ ขอนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับอาการ แพ้ถั่ว ว่าคืออะไร รุนแรงแค่ไหน?
เข้าใจ อาการ แพ้ถั่ว
อาการ แพ้ถั่ว (Nut Allergy) คือ โรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เป็นอาการที่เกิดจากการแพ้โปรตีนบางชนิดในถั่ว ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไม่สลายไปหลังผ่านความร้อน แม้จะรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วที่ปรุงสุกแล้วก็อาจทำให้บางคนเกิดอาการแพ้ได้ ทั้งนี้ผู้ที่แพ้ถั่วระบบภูมิคุ้มกันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อโปรตีนในถั่ว โดยร่างกายจะการปล่อยแอนติบอดี้เพื่อกำจัดโปรตีนและกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารฮิสตามีน (Histamine) ส่งผลให้แสดงอาการแพ้ออกมานั่นเอง
โดยผู้ที่แพ้ถั่วเมล็ดแห้งอย่างถั่วลิสงประมาณร้อยละ 20–30 มักแพ้ถั่วประเภทยืนต้นด้วยอย่างน้อย 1 ชนิดหรือมากกว่า และมักพบว่าผู้ที่แพ้ถั่วลิสงอาจมีอาการแพ้ถั่วเหลืองด้วย ทั้งนี้ความรุนแรงขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นๆ ว่าจะรุนแรงมากหรือน้อย บางคนอาจจะแพ้รุนแรงมากขนาดที่แค่โดนละอองก็เกิดอาการแพ้รุนแรงและเสียชีวิตได้เลย
สังเกตอาการ แพ้ถั่ว มีอาการอย่างไร
การแพ้ถั่วจะเกิดขึ้นหลังรับประทานถั่วหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของถั่ว อาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาทีหรือไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังทานอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่ว อาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้
- รู้สึกชาในปากหรือลำคอ อาจรู้สึกแน่นด้วยในลำคอ
- ริมฝีปากบวม
- เกิดผื่นแดงคันที่ผิวหนัง และผื่นลมพิษ
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- ปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน
- บางคนอาจแพ้รุนแรง โดยอาจมีอาการต่าง ๆ ข้างต้นร่วมกับ อาการผิวหนังแดง หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด ลำคอบวม หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ ความดันโลหิตลดลง และอาจหมดสติได้
วิธีรับมือ เมื่อแพ้ถั่วอย่างรุนแรง
- ผู้ที่แพ้ถั่วควรบอกคนใกล้ชิด เช่น ครอบครัวและเพื่อน ให้ทราบถึงอาการแพ้และบอกสถานที่เก็บยาอิพิเนฟริน หากเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรให้ผู้ป่วยนอนราบและยกขาสูงเล็กน้อย
- ยกเว้นหากมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ อาจให้ผู้ป่วยนั่งแทนได้ ฉีดยาอิพิเนฟรินชนิดปากกาเข้าที่บริเวณต้นขา กดค้างไว้ประมาณ 3 วินาทีและดึงกระบอกฉีดออก นวดคลึงเบา ๆ ประมาณ 10 วินาที หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 5 นาทีสามารถฉีดซ้ำได้ และรีบไปพบแพทย์
- เมื่อทราบว่าตัวเองแพ้ถั่ว ต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วและอาหารที่มีส่วนผสมของถั่ว ระมัดระวังการเลือกซื้อและรับประทานอาหารที่ไม่ทราบส่วนประกอบแน่ชัด เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมในการดูแลตัวเอง