ติ่งเนื้อ ที่ขึ้นตามผิวหนัง เหมือนก้อนเนื้อปูดออกมาแบบผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นตรงคอ หลัง หน้าอก ฯลฯ หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันมีอันตรายอะไรมั้ย จะเป็นสัญญาณมะเร็งหรือเปล่า มีคำตอบจากคุณหมอมาให้อ่านกัน
รศ.พญ. ณัฐฏา รัชตะนาวิน หน่วยโรคผิวหนัง โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า
ติ่งเนื้อ เป็นผิวหนัง มีลักษณะก้างติดผิวหนัง สีเหมือนผิวหนังหรืออาจเข้มกว่า ลักษณะเป็นตุ่มที่ยื่นออกมา นิ่มๆ เป็นเนื้อเยื่อ และมีเส้นเลือดเล็กๆ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่ชัดเจน
แต่มักพบติ่งเนื้อเกิดขึ้นในบริเวณที่ผิวหนังมีการเสียดสีต่อเนื่องกับผิวหนังด้วยกัน มักพบได้บริเวณรอบคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ หรือใบหน้า และพบได้ทั่วไปทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อายุ 30-50 ปี ขึ้นไป
ติ่งเนื้อ เสี่ยงเป็นมะเร็งหรือไม่?
ติ่งเนื้อผิวหนัง โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดอาการใดๆ ไม่เปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
แต่การมีจำนวนติ่งเนื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับ เนื้องอกในลำไส้ แต่ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลที่ชัดเจน เพราะปกติแล้วติ่งเนื้อจะไม่ค่อยสัมพันธ์กับโรคภายในร่างกาย เป็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงในวัยที่เพิ่มขึ้น หรือเป็นพันธุกรรมมากกว่า
ติ่งเนื้อที่พบในผู้ใหญ่มักจะเป็นถาวร หากไม่ได้ทำการตัดออก แต่หากเป็นติ่งเนื้อขนาดใหญ่ เช่นขนาดเกิน 5 มิลลิเมตร หรือโตเร็วผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ ตรวจเช็ดว่าเป็นติ่งเนื้อธรรมดา หรือเป็นเนื้องอกที่มีอันตราย
วิธีการรักษา
ในบางรายที่มีปัญหาในภาพลักษณ์ ต้องการรักษา แพทย์จะให้การรักษาโดยทำการตัดออก โดยใช้ใบมีด กรรไกร จี้ไฟฟ้า การเลเซอร์ และการใช้ความเย็น ไนโตรเจนเหลว หลังรักษาอาจจะมีแผลตื้นๆ ควรทายาและดูแลให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม “ติ่งเนื้อผิวหนัง” ไม่ใช่เนื้อร้ายเนื้องอกมะเร็ง และมักไม่ก่ออาการหรือผลข้างเคียงใดๆ นอกจากมีการเสียดสีกับเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับ ที่อาจก่อให้เกิดอาการคัน ความรำคาญ หรือเป็นปัญหาด้านความสวยงาม
ดังนั้นการลดความเสี่ยงเป็นติ่งเนื้อก็คือ การใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบายและเลือกใส่เครื่องประดับที่เหมาะสม เพื่อลดการเสียดสีนั่นเอง
ที่มา: thaihealth, mthai