กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก หลังชื่อของ พิชิต ชื่นบาน ติดโผคณะรัฐมนตรีช่วงโค้งสุดท้ายก่อนส่งรายชื่อทั้งหมดให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและนำทูลเกล้าฯ ในลำดับถัดไป
พิชิต ชื่นบาน เป็นมือกฎหมายประจำตระกูลชินวัตร และเป็นหัวหน้าทนายความของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในการต่อสู้คดีที่ดินรัชดา เมื่อปี 2551 จนได้รับสมญานามว่า ‘ทนายถุงขนม’ และมีบทบาทด้านกฎหมายในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก่อนที่ชื่อของเขาจะหายไปจากการเมืองหลังรัฐประหารปี 2557
ซึ่งการมีชื่อติดโผ ครม. ในครั้งนี้ของรัฐบาลเศรษฐา 1 ทำให้หลายเกิดข้อถกเถียงเรื่องคุณสมบัติ เนื่องจาก พิชิต เคยถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน เมื่อปี 2552 เนื่องจากละเมิดอำนาจศาล ว่ากรณีดังกล่าวอาจขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ประวัติ ‘พิชิต ชื่นบาน’
- จบปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สาขากฎหมายมหาชน
- เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 34 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
- ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
การทำงานทนายประจำตระกูลทักษิน
พิชิต ชื่นบาน เป็นหัวหน้าทีมกฎหมายของตระกูลชินวัตร เป็นอดีตหัวหน้าทนายความให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการต่อสู้คดีที่ดินรัชดา และเป็นอดีตหัวหน้าทนายความให้กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำนำข้าว
ซึ่งถือได้ว่าเป็นมือกฎหมายในตระกูลชินวัตรมาอย่างยาวนาน จนได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการต่อสู้ทางกฎหมายในหลาย ๆ คดี
ย้อนรอยเหตุการณ์ ถุงขนม 2 ล้าน
เหตุการณ์ในครั้งนั้นที่เป็นจุดสร้างชื่อของ พิชิต ชื่นบาน กับฉายา ‘ทนายถุงขนม’ ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความของ ทักษิณ ชินวัตร เนื่องมาจากช่วงการต่อสู้คดีที่ดินรัชดา ได้ปรากฏข่าว พิชิต ชื่นบาน หิ้วถุงขนมซึ่งเป็นเงินสดจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อนำไปมอบให้กับผู้พิพากษาในคดีที่ดินรัชดา ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
กระทั่ง วันที่ 25 มิ.ย. 2551 ศาลฎีกาตัดสินลงโทษ พิชิต ชื่นบาน พร้อมทีมทนายอีก 2 คน เป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล
ต่อมาถูก ‘สภาทนายความ’ ตั้งคณะกรรมการมรรยาททนายความ เพื่อสอบสวน พิชิต ชื่นบาน ถึงกรณีอื้อฉาวดังกล่าว โดยท้ายที่สุดทางสภาทนายความ มีมติเสียงข้างมาก 9 ต่อ 3 เสียง ให้ลงโทษหนักสุดกับ พิชิต (ชื่อเดิม พิชิฏ ชื่นบาน) ออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความได้เป็นเวลา 5 ปี
ดันกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์
พิชิต ชื่นบาน ได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในช่วงปี 2554-2556 โดยมีบทบาทในการสนับสนุน “กฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย” หรือ ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน”
การพยายามผลักดัน กฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นำไปสู่หายนะทางการเมืองอีกครั้ง หลังมีกลุ่มต่อต้านโดย กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มแนวร่วมมวลมหาประชาชน ได้ออกมาชุมนุมต่อต้านกฎหมายดังกล่าว
นำไปสู้การยุบสภาในปี 2556 และ เกิดการรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งในระหว่างนั้น พิชิต ชื่นบาน ได้เป็นหัวหน้าทีมทนายให้กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีจำนำข้าวอีกด้วย
ในปี 2562 พิชิต ชื่นบาน กลับมาอีกครั้งในฐานะประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ ก่อนที่พรรคไทยรักษาชาติ จะโดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
…
สรุปไทม์ไลน์ ‘พิชิต ชื่นบาน’
ปี 2549 (หลังรัฐประหาร )
- เป็นหัวหน้าทีมกฎหมายให้กับครอบครัวชินวัตร
ปี 2551
- เป็นหัวหน้าทนายความของ ทักษิณ ชินวัตร ในการต่อสู้คดีที่ดินรัชดา
- ปรากฏข่าว พิชิต ชื่นบาน หิ้วถุงขนมเงิดสด 2 ล้าน เพื่อนำไปมอบให้กับผู้พิพากษาคดีที่ดินรัชดา ในช่วงระหว่างการพิจารณาคดี นำไปสู่ฉายา ‘ทนายความถุงขนม’
- จากกรณีอื้อฉาวดังกล่าว ถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล
- ถูกสภาทนายความ ถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ตัดสิทธิ์ 5 ปี
ปี 2554 – 2557
- ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
- มีบทบาทในการสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย จนเป็นชนวนเหตุนำไปสู่การรัฐประหารปี 2557
ปี 2562
- เป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ ก่อนที่พรรคไทยรักษาชาติ จะโดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
ปี 2566
- มีชื่อติดโผคณะรัฐมนตรี รัฐบาลเศรษฐา 1 ในโควตา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
…
หลังมีชื่อติดโผ ครม. ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก พร้อมมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่าย ว่า พิชิต ชื่นบาน มีคุณสมบัติต้องห้ามและอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
อย่างไรก็ตาม พิชิต ชื่นบาน ได้ออกมาชี้แจงว่า แม้ในอดีตจะเคยถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน เมื่อปี 2552 จริง เนื่องจากละเมิดอำนาจศาล แต่ไม่ใช่คำพิพากษา พร้อมยืนยันว่า ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม และไม่เคยต้องคำพิพากษาในคดีความอาญา จึงไม่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี