จากอาการหน้าเบี้ยวของ “มดดำ คชาภา” ระหว่างทำงานและต้องแอดมิทเข้าโรงพยาบาลด่วนนั้น หลายคนสงสัยว่าสรุปแล้วเค้าเป็นอะไร รวมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ได้อ่านกัน จะได้รู้แนวทางการป้องกันไว้ เพราะ โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ปลายประสาทอักเสบ ที่มดดำมีอาการนั้น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน
โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy) เกิดจากอะไร?
โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy) ภาวะที่กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงชั่วขณะ มีสาเหตุมาจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เกิดการอักเสบ ภายหลังการติดเชื้อไวรัส ซึ่งทำหน้าที่รองรับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น ยิ้ม หน้าบึ้ง หรือหลับตา รวมทั้งรับรสจากลิ้นและส่งต่อไปยังสมองด้วย มักจะเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง
ใครเสี่ยงต่อการเกิดโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มที่จะมีความเสี่ยง ได้แก่
- หญิงตั้งครรภ์ เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป 3 เท่า เกิดขึ้นเฉพาะระยะสามเดือนสุดท้าย และหลังคลอดบุตร
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
- กรรมพันธุ์ มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็น
- ผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง
- พฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีภาวะเครียดสูง ทำงานหนัก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
สัญญาณอาการเตือน โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรงภายใน 24-48 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มีอาการมากขึ้นในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรกจนถึง 1-3 วันแรก บางรายอาจมีอาการเป็นมากขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ถึง 14 วัน
ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้
- ปวดหลังหูก่อนปากเบี้ยว
- รู้สึกตึงหนักใบหน้าซีกที่อ่อนแรง
- ดื่มน้ำหรือบ้วนน้ำลาย จะไหลออกทางมุมปากข้างที่อ่อนแรง
- หลับตาไม่สนิท ยักคิ้วไม่ขึ้น
- อาจมีเสียงก้อง ดังผิดปกติในหู
- การรับรสของลิ้นผิดปกติ เคี้ยวอาหารได้ไม่ปกติ
ทดสอบหน้าเบี้ยว ด้วยตนเอง
- ยักคิ้วขึ้น 2 ข้าง คิ้วต้องสูงเท่ากันหรือห่างต่างกัน เพียงเล็กน้อย
- ปิดตาทั้ง 2 ข้าง ตาทั้งสองข้างต้องปิดสนิท ไม่เห็นตาขาว
- ยิ้มกว้าง ต้องยิ้มเท่ากันทั้งสองข้าง
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการ โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
- ใช้น้ำตาเทียมเพื่อป้องกันตาแห้ง
- ใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน หรือที่ครอบตาป้องกันฝุ่นเข้าตา
- สวมแว่นเวลาออกนอกบ้าน กันลมและฝุ่นละออง
- ห้ามขยี้ตาข้างที่ปิดไม่สนิท
แนวทางการรักษาใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก รักษาด้วยยาและกายภาพ
การรักษาด้วยยา ได้แก่
- กลุ่มสเตียรอยด์ ลดการอักเสบของเส้นประสาท
- ยาฆ่าเชื้อไวรัส ในรายที่มีอาการความสัมพันธ์กับเชื้อเริม งูสวัด
- ยาป้ายตา ยาหยอดตา ใช้ผ้าปิดตาสนิทขณะนอนหลับ ป้องกันเยื่อบุตาอักเสบเพราะกระพริบตาลดลง
การทำกายภาพ
ผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นและไม่สามารถฟื้นตัวหลังได้รับการรักษา จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น
- การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า และการนวดใบหน้า เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าที่ยังอ่อนแรง การไหลเวียนของเลือดและลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า
- การประคบร้อนบริเวณใบหน้าซีกที่มีอาการ โดยใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาทีต่อครั้ง วันละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า แต่ควรระวังการประคบร้อนในรายที่มีอาการชาของใบหน้า
- กระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าที่มีอาการอ่อนแรงด้วยไฟฟ้า เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีการหดคลายตัวเป็นการชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ มักใช้ในรายที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด
ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ และหายเป็นปกติภายใน 3-6 เดือน
สรุปแล้ว หากมีอาการหน้าชา การได้ยินลดลง อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก หรือชาปลายมือ-เท้า 2 ข้าง พูดไม่ชัด เห็นภาพซ้อน เดินเซ ซึม สับสน และมีอาการลามเป็นมากขึ้นทั้งสองข้าง ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลนครธน