หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน (The Guardian) ของสหราชอาณาจักร รายงานว่าในบรรดาประชาชน 2.3 ล้านคนที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะแปซิฟิก และพึ่งพาอาหารและรายได้จากมหาสมุทรแห่งนี้ ผู้คนจำนวนมากมีความกังวลต่อแผนการของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเล ปริมาณกว่า 1 ล้านเมตริกตัน
น้ำเสียดังกล่าวส่วนใหญ่ได้ถูกนำไปใช้หล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์ ภายหลังโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 จนทำให้เครื่องปฏิกรณ์ จำนวน 3 เครื่องเกิดความเสียหาย ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งรุนแรงที่สุดของโลก นับตั้งแต่เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อ 25 ปีก่อนหน้า
องค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (PIF) องค์กรสูงสุดระหว่างรัฐบาลที่เป็นตัวแทนภูมิภาคนี้ หารือกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเดือนมกราคมองค์กรฯ ได้ออกมาแสดง “ความกังวลอย่างยิ่ง” ต่อแผนการข้างต้น และเผยแพร่แถลงการณ์ที่ดึงดูดความสนใจต่อกฎหมายระหว่างประเทศประเด็นการทิ้งกากนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเดือนมิถุนายน
เฮนรี ปูนา เลขาธิการองค์กรฯ กล่าวว่าประชาชนของเราไม่ได้รับสิ่งใดจากแผนการดังกล่าวของญี่ปุ่น ทว่าการดำเนินการครั้งนี้จะสร้างความเสี่ยงแก่คนรุ่นต่อไปอย่างมาก
ที่มา – ซินหัว