คัดลอก URL แล้ว
เปิดประสบการณ์ ความประทับใจหนุ่มนักผจญภัย หาบ้านโฮมสเตย์ที่ญี่ปุ่น

เปิดประสบการณ์ ความประทับใจหนุ่มนักผจญภัย หาบ้านโฮมสเตย์ที่ญี่ปุ่น

ด้วยจังหวะชีวิตคนเมืองที่รีบเร่ง วุ่นวาย ร่างกายก็โหยหาความสงบ อยากหลบไปพักผ่อนแบบสโลว์ไลฟ์ชาร์จแบตให้ตัวเอง

การออกเดินทางท่องเที่ยวก็เป็นตัวเลือกต้นๆของผู้เขียนเช่นกัน และเชื่อว่าหลายคนต้องเคยคลิ๊กเสริชหาที่พักโฮมสเตย์ ซึ่งช่วงหนึ่งฮิตเหลือเกินที่บ้านเรา ทุกวันนี้ก็ยังมีผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ทว่าหลังๆมาคอนเซ็ปท์และกลิ่นอายแบบบ้านๆ กลับถูกลดทอนลงไปอย่างน่าเสียดาย

วันนี้เราเลยอยากเชิญคุณสะพายเป้ ปล่อยจอยไปท่องแดนอาทิตย์อุทัยกับ “ปอ ทาคาฮาชิ” หนุ่มนักผจญภัยที่หลงไหลชีวิตชนบท เที่ยวเสาะหาบ้านโฮมสเตย์ญี่ปุ่นผ่านประสบการณ์การท่องเที่ยวที่สะสมมากว่า 10 ปี

ก่อนจะผันตัวมาเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยให้ชาวญี่ปุ่นที่มาอาศัยอยู่เมืองไทย ทราบว่าปอเคยทำงานเบื้องหลังอยู่ในวงการภาพยนตร์มาได้ 10 กว่าปี ก็อิ่มตัวและเบื่อหน่ายไปซะดื้อๆ พอโตขึ้น ความต้องการก็เปลี่ยนไปตามวัย งานที่เคยรักและชอบทำมาตลอด เมื่อรู้ตัวอีกที มันก็ไม่ซัพพอร์ตการใช้ชีวิตของตัวเองเสียแล้ว

ปอเลยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะหยุดรีเซ็ตทุกอย่างใหม่ เพื่อออกตามหาความสุขที่หล่นหายไปตามกาลเวลา “อายุเราตอนนั้นก็ 30 ละ ไม่เริ่มตอนนี้ก็ไม่รู้จะได้ทำมันตอนไหน” ปอเริ่มเล่า

จุดเริ่มต้นมาจากความสนใจด้านภาษา

ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน ผมเกิดไอเดียอยากเรียนภาษาจีน เพราะไปเที่ยวที่ไหนก็เจอแต่นักท่องเที่ยวชาวจีน คิดว่าถ้าสื่อสารกับเค้าได้ก็เป็นโบนัส จึงเริ่มหาหนังสือมาลองอ่านเอง ใช้เวลา 1 เดือน แล้วขอวีซ่าท่องเที่ยวเพื่อไปเยือนปักกิ่ง

“อีกปีถัดมาผมเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น ซื้อหนังสือมาอ่านเองเหมือนเดิม เพื่อให้ได้พื้นฐาน ฝึกอยู่หลายเดือน ให้จับหลักได้ เรียนพอเข้าใจแต่ก็แค่คุยถามสารทุกข์สุขดิบ ให้เป็นเรื่องเป็นราวจริงจังยังไม่โปรพอ เป็นเป็ดที่บินได้ ว่ายพอไหว เลยอยากเรียนต่อภาษาให้สุดไปสักทางเลยดีกว่า”

เพราะอะไรถึงเลือกไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่น

มันเป็นความตั้งใจแต่แรกแหละ ที่อยากหลบหนีชีวิตวุ่นวายในเมืองไปตามหาความสงบที่ไหนสักที่ ตอนคิดว่าจะเริ่มเรียนภาษา ก็ช่างใจอยู่พักใหญ่ ว่าเอ๊ จะไปจีนดีมั้ย แต่คิดอีกที เราโตมากับทั้งการ์ตูนและวัฒนธรรมญี่ปุ่น มันมีแพสชันที่ซ่อนอยู่ในวัยเด็ก และต่อเนื่องกับชีวิตมากกว่า เลยมาลงเอยที่ จังหวัดฟุกุโอกะ ภาคใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งอากาศจะไม่หนาวทรมานเท่าทางตอนเหนือ

ทำไมถึงฉีกแนวไปชนบท

“ถูกจริตมั้ง ปรกติถ้าผมจัดทริปตัวเอง จะไม่เลือกไปพวกเมืองใหญ่ ก็เลยยังไม่เคยไปทั้งโตเกียว เกียวโต และโอซาก้า รวมทั้งตามพวกแลนด์มาร์ค ที่ท่องเที่ยวหลักที่นักท่องเที่ยวเยอะๆ ผมชอบฟีลแบบเดินเล่น 2 กิโล เจอชาวบ้านสามสี่คน รถกระบะ 1 คันมากกว่า

อย่างตอนที่ไปเรียนและทำงานอยู่ที่นั่น กิจกรรมโปรดเลย คือ การปั่นจักรยาน ออกไปตามย่านชนบทที่ห่างไกล พกกระเป๋าเสื้อผ้า 1 ใบ ปั่นไปเรื่อยเหนื่อยก็พัก อยากแวะที่ไหนก็แวะ อยากกลับเมื่อไหร่ก็กลับ หรือถ้ายังไม่อยากกลับ ก็ค่ำไหนนอนนั่นตามบ้านคนญี่ปุ่น (มินชุกุ) ไปไม่เคยมีแพลน การเที่ยวแบบข้อมูลแน่นๆ นั่นไม่ใช่ทาง” เขาเล่ายิ้ม ๆ

ขยายความคำว่า บ้านพักประชาชน Minshuku แบบชาวญี่ปุ่น ให้เราฟังหน่อย

จุดประสงค์หลัก คือ การได้ไปพักอาศัยอยู่กับผู้คน ส่วนใหญ่เจ้าของบ้านจะมีงานหลักอยู่แล้ว เปิดบ้านให้พักเป็นเพียงรายได้เสริม ผู้เฒ่าผู้แก่นี่เยอะเลยนะ เหมือนดึงคนให้มาท่องเที่ยวท้องถิ่น เค้ารวมตัวกันเพื่อดึงหนุ่มสาวให้กลับสู่บ้านเกิด มีเวิร์คช็อปร่วมทำกิจกรรมในชุมชนให้เราได้ซึมซับวัฒนธรรม ตื่นตาตื่นใจมาก

Homestay คำนี้ปอนิยามมันยังไง เราอดสงสัยไม่ได้ว่าแบบไทยกับญี่ปุ่นมันต่างกันมากน้อยเพียงใด

คนอื่นมองยังไงอีกเรื่องนะ ไม่มีถูกผิด สำหรับผม มองว่า โฮมสเตย์ เป็นการไปพักแบบเจ้าของบ้านอยู่แบบไหน เราก็อยู่แบบนั้น ไม่มีการเสริมเติมแต่งอะไร เป็นธรรมชาติที่สุด แค่เอาตัวเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับเจ้าของบ้าน ง่ายๆแค่นั้นเลย

“โรงแรม เรียวกัง เกสต์เฮ้าส์ เค้าจะทรีตเราเป็นลูกค้า แต่บ้านพักชาวไร่ชาวนา เค้าจะทรีตเราเป็นลูกหลาน หรือถ้าหากอายุเท่ากัน ก็จะทรีตเราเป็นเหมือนเพื่อน ”

ตอนแรกก็ยังไม่คุ้นกับรูปแบบของโฮมสเตย์สักเท่าไหร่ พอดีมีพี่คนนึงเค้าทำเกษตร ทำสวนปลูกผักออแกร์นิค มีชมรมจากญี่ปุ่นมาเวิร์คช็อปเเลกเปลี่ยนความรู้กันที่ไทย เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม และการใช้ชีวิตแบบยั่งยืน ผมเลยไปทำหน้าที่เป็นล่ามช่วยแปลภาษาญี่ปุ่นที่นั่น คุยไปคุยมาเค้าเล่าให้ฟังถึงวิถีชีวิตของเค้าซึ่งน่าสนใจ เลยอยากไปเยี่ยมฟาร์มเค้าดู เรียกว่า พรีเมียร์ เป็นฟาร์มสเตย์ ที่จังหวัด คุมาโมโต

แชร์ให้ฟังถึงตอนไปพักครั้งแรกหน่อยค่ะว่าเป็นยังไงบ้าง

ประทับใจมาก ได้ความรู้สึกแปลกใหม่ จากชีวิตคนเมืองพอเราได้ไปใช้ชีวิตอยู่บ้านชนบท เอาแค่วิวก็กินขาดแล้ว ธรรมชาติ ระบบนิเวศ รอบๆตัวทำให้เรารีแลกซ์มาก มันไม่เหมือนเวลาเราไปเที่ยวตามที่คนไปกันดาษดื่น ไม่มีอะไรเร่งรีบ เราชิลและรู้สึกผ่อนคลายกับทุกนาทีได้มากกว่า

บ้านที่ไปบ่อยๆ ปีแรกๆ จะมีความเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันหน่อย เจ้าของเป็นพระญี่ปุ่น แต่งงานมีลูกสามคน เค้าชอบเมืองไทยมากถึงกับตั้งชื่อลูกคนกลางว่า “ซาวะ ” ออกเสียงเหมือนคำว่า “สวัสดี”

ตัวบ้านหลังสีฟ้าสดใสตัดกับขอบเมฆอยู่บนเนินเขา วิวสวย มีสวนบลูเบอร์รี่ที่ปลูกไว้ให้เราเข้าไปเก็บทานสดๆได้ ตอนกลางคืนปล่อยจอย นอนดูดาวเต็มท้องฟ้าเพลินๆ

อีกบ้านที่ชอบเป็นบ้านไม้อายุเกิน100 ปี ทำร้านออแกนิคคาเฟ่ ซึ่งเจ้าของบ้านนี้ชื่อว่าคุณลุงคุณป้า “藤瀬 (ฟูจิเสะ)” แถมตัวบ้านยังเป็นโลเคชันของ “Stay ซากะ” อีกด้วยครับ

ปีหลังๆ อยากไปลองสัมผัสบ้านอื่น ชุมชนอื่นบ้าง ก็เริ่มหาข้อมูลหาที่พักใหม่ เคยลองไปฟาร์มสัตว์ ไปนอนกับหมา แมว ม้า บ้านชาวประมง บ้านบนเขา แต่ละบ้านก็จะมีกิมมิคไม่เหมือนกัน

เขาสารภาพว่าช่วงแรกมีเขินเหมือนกันที่ต้องไปอยู่กับคนแปลกหน้า พอเที่ยวจนเริ่มชินก็ปรับตัวได้ดีและรู้วิธีที่จะพูดคุยสร้างความเป็นกันเองมากขึ้น

ราคาที่พักสูงมั้ยคะ

“เท่าที่ไปมา ส่วนใหญ่จะเหมาต่อคืนต่อคน และไม่แพงเลย ราคาเริ่มต้นประมาณพันกว่าบาท เรียกว่าให้เราเกินราคาที่จ่ายด้วยซ้ำจนผมยังงงว่าเค้าเอากำไรมาจากไหน

เหตุการณ์ที่ประทับใจเป็นพิเศษ

มีเยอะจริงๆ แต่ที่จำแม่นเลยเป็นบ้านคุณป้าวัย 75 ปี เค้าขับรถมารับผมที่สถานีรถไฟซึ่งไกลแบบขับไปกลับเกือบ 30 กิโลเมตร แถมทางก็วนๆโค้งๆ เลี้ยงขนมหวานเรา แถมขากลับรู้ว่าจะเดินทางไปอีกเมืองหนึ่งก็ขับข้ามจังหวัดมาส่งอีก เค้าดูแลเทคแคร์เราแบบลูกหลาน ฟีลแบบเปิดบ้านให้คนมาพักแก้เหงามากกว่า

ขอสงสัยต่อว่าโฮมสเตย์บ้านคนญี่ปุ่นมีเยอะมั้ย

มีเป็น 1000 หลังเลย ทั้งลงทะเบียนและไม่ลงทะเบียน บางที่ก็เตรียมเกษียณปิดบ้านแล้ว และมีที่เราไม่รู้อีกเยอะ หลากหลายประเภท

เราติดต่อกันผ่านอีเมล์ หรือโฮมเพจของเทศบาล เพราะบ้านที่จะไปพัก บางทีเป็นของผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยถนัดเรื่องเทคโนโลยีสักเท่าไหร่ บางบ้านเหมือนหลุดไปอยู่ยุคอนาล็อกแบบไม่ต้องติดต่อโลกภายนอกเลยก็เจอมาแล้ว

ส่วนใหญ่เค้าจะพูดภาษาญี่ปุ่นซึ่งมีสำเนียงท้องถิ่นอีก ต้องพยายามสื่อสารกันหนักมาก แต่กลายเป็นเรื่องสนุกเปื้อนยิ้ม เจือความงงที่เป็นเสน่ห์ของทริปที่ผมว่าบันเทิงดี

เวลาคิดค่าใช้จ่ายมักจะรวมอาหารเช้าและเย็น เนื่องจากทำเลกลางป่ากลางเขาเข้าออกลำบาก ร้านอาหารหายาก หรือถ้าหากมีก็อาจต้องจอง เพราะตัวเจ้าของนั้นไม่ได้เปิดตลอดเวลา แต่ก็มีบางบ้านที่ชัดเจนว่า จะไม่เสิร์ฟอาหารให้เรา แล้วเเนะนำให้ไปอุดหนุนร้านภายในชุมชนแทน เป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน เพื่อให้สังคมได้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆกัน”

ที่พิเศษคือ ร้านเล็กๆ นอกสายตาเหล่านี้แหละอร่อยถูกใจมาก ยิ่งโลคอล ยิ่งว้าว และถือเป็นทีเด็ดของแต่ละทริปเลยก็ว่าได้ เพราะอาหารแต่ละเมืองใช้วัตถุดิบไม่เหมือนกัน ทำให้รสชาติแต่ละที่ก็ต่างกันไป

“เคยเจอการต้มซุปด้วยกระบอกไม้ไผ่ บางชุมชนย่างปลาด้วยเตาโบราณ อาหารแปลกๆแนวเปิบพิสดารบ้านเราก็มี เจอมื้อที่เสริฟ์ไก่ดิบ เนื้อม้า เหมือนทานซาชิมิ ก็เหวอ อึ้งไปเลย แบบเฮ้ย มันทานได้จริงๆเหรอ”

กิจกรรมในแต่วันได้ทำอะไรสนุกๆบ้างคะ

แค่ดื่มด่ำบรรยากาศกินๆนั่งๆนอนๆ เอกเขนกเอนกายตามอัธยาศัยท่ามกลางสายลมเย็น ก็ที่สุดแล้วนะ ( หัวเราะ) เป็นทริปชิลเหมาะกับคนวัยผมมาก ตื่นเช้าออกไปเดินเล่นสูดโอโซนรอบหมู่บ้าน กลับมารับประทานอาหาร และของหวานฝีมือคุณป้า ตามคุณลุงไปเก็บผักป่า และขุดหน่อไม้ รวมทั้งผ่าฟืนเอง

บางบ้านเราได้ไปหัดทำกับข้าวจากเจ้าของบ้าน เคยลองทำเส้นโซบะสนุกมาก ที่เจ๋งไปกว่านั้น คือได้ครีเอทเมนูเด็ดอย่างเท็มปุระและโอนิกิริ ซึ่งวัตถุดิบเป็นผักป่าที่เราไปเก็บมาเองกับมืออีกด้วย

ว่างก็ไปเดินเลือกซื้อข้าวของท้องถิ่นจากเกษตรกร ที่มีผักผลไม้สดๆ รวมทั้ง อาหาร แปรรูป ขนมท้องถิ่น รวมทั้งข้าวของแปลกๆที่เราไม่ค่อยได้เจอตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป

แดดร่มลมตกก็ออกกำลังกาย ยามเย็นแช่น้ำร้อนออนเซ็น “เจ้าบ้านมักจะเชียร์ให้เราไปโรงอาบน้ำรวมในหมู่บ้าน เค้าเชื่อว่าเป็นหน้าเป็นตาของชุมชน แต่คนไทยจะไม่ค่อยคุ้นที่ต้องไปเปลือยเปล่าอาบรวมกัน ”

ตามด้วยมื้อเย็น คือ คาเรไรซ์ บางบ้านถ้ามีเวลาหรือพอหาวัตถุดิบง่ายๆ มาปรุงอาหารไทยได้เราก็โชว์รสมือสไตล์ไทยสรวลเสกันไป

ค่ำๆเล่นดอกไม้ไฟ เล่นไพ่และเกมส์กระดาน เม้าท์มอยกับเจ้าของบ้านเหมือนเป็นลูกหลานที่กลับมาหา

มันเรียลดี มากกว่าแค่ไปพักผ่อน เราได้สัมผัสชีวิตเค้าจริงๆ เป็นประสบการณ์ที่ฉีกแนวออกไปซึ่งมันหาไม่ได้จาการท่องเที่ยวสายหลัก

ได้เรียนรู้อะไรระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวบ้าง Work Life Balance ดีขึ้นหรือเปล่า

ดีขึ้นเยอะเลย (ปอย้ำและลากเสียงยาวมาก ) มีเวลาให้ตัวเอง และได้จัดสรรเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นปีละ 10 กว่าบ้านด้วย มันผูกพัน ไปทีก็ต้องจัดตารางเยี่ยมบ้านเก่าๆที่เราเคยไปด้วย บางบ้านไปเจอลูกหลานเค้าตอนตัวเล็กๆ เจอกันอีกทีเค้าเข้าประถมแล้ว ส่วนผมก็กลายเป็นคุณลุงทาคาฮาชิไปตามระเบียบ

ได้บาลานซ์ภายในด้วย เปิดใจ เห็นแง่มุมใหม่ ๆ ของชีวิต เปิดโลก เรื่องบางเรื่องบ้านเราใช้สูตรคิดแบบนี้ คนญี่ปุ่นคิดอีกแบบ เช่น เค้าจะติดกล่าวคำขอโทษ อย่างตอนขึ้นรถไฟฟ้าแล้วเราลุกให้เค้านั่ง เค้าจะรู้สึกว่าเค้าทำให้เราลำบาก จะรีบขอโทษ น่าเอ็นดูมาก ในสถานการณ์เดียวกันคนไทยมักจะกล่าวคำขอบคุณ

กลายเป็นเสพติดเที่ยวแบบนี้ไปเลยมั้ย

“เรียกแบบนั้นก็ไม่ผิด เที่ยวจนคนรอบข้างเริ่มอยากตามกันมาด้วยเป็นกลุ่มแล้ว (ยิ้มภูมิใจ )

ต้องขอขอบคุณภาพบางส่วนที่บันทึกเป็นความทรงจำผ่านเลนส์จากเพื่อนผม “แมน อรุณชิต” เราตามติดกันไปเที่ยวในก๊วนเกือบทุกทริป

มันเหมือนเฟรนด์แอนด์แฟมมิลีทริป ชุมชนที่เราไปเจอมีแต่ความเป็นกันเอง การต้อนรับขับสู้แบบสบายๆ ออกแนวเฮฮา อบอุ่น เป็นสังคมแห่งการเกื้อกูล ต่างจากประสบการณ์ตอนที่ไปเรียนหนังสือ ซึ่งภาพรวมคนญี่ปุ่นจะดูเครียดมาก โดยเฉพาะผู้คนในเมืองใหญ่ สังคมการงาน มีความกดดันเยอะกว่าบ้านเรา”

แค่ฟังก็อิ่มใจที่เราต่างเป็นเหมือนฟันเฟืองเล็กๆ ช่วยขับเคลื่อนชุมชน เป็นสังคมที่มีทั้งผู้ให้และผู้รับ ความสุขงอกงามเบ่งบาน เพราะต่างฝ่ายต่างซัพพอร์ตกันด้วยใจอย่างแท้จริง

พอคุยจบแล้วความคิดหนึ่งก็แล่นเข้ามาในหัวทันที จนต้องรีบคว้าสมุดบันทึกมาจดท็อปลิสของตัวเองเลยว่าหากมีโอกาสเหมาะๆ สักปีจะหนีไปชาร์จพลังที่โฮมสเตย์ญี่ปุ่นให้ได้สักครั้ง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง