มะเร็งเต้านม ภัยเงียบใกล้ตัวที่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้หญิงและผู้ชายก็มีโอกาสเป็นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสถิติยังอยู่ในระดับต่ำ คือ 0.5-1% ต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมผู้หญิง 100 คน แต่มักพบเมื่อเป็นระยะลุกลาม ทำให้มีอัตราอาการเจ็บป่วยรุนแรงสูง
ส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น หากมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ควรต้องระวัง หรือควรมาตรวจพันธุกรรม เพื่อเช็คว่ามียีนถ่ายทอดการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ แม้ทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านม โดยกระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงภัยร้ายนี้ แต่กลับยังพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวนมาก เช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมที่มีอัตราสูงมากเช่นกัน
ข้อมูลจาก นพ.วิกรม เจนเนติสิน อายุรแพทย์โรคมะเร็งและเคมีบำบัด ศูนย์เมต้าเวิร์ส Metaverse Center (มะเร็งและโรคเลือด) โรงพยาบาลนวเวช คำอธิบายที่เข้าใจได้ง่ายเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคุณผู้ชายทุกท่าน
ใครมีโอกาสเสี่ยงเป็น โรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย
- มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว เช่น มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุน้อย (<35ปี) เป็นมะเร็งเต้านมทั้ง 2 ข้าง หรือเป็นทั้งมะเร็งเต้านมและรังไข่ในคน ๆ เดียวกัน เป็นต้น มีรหัสพันธุกรรมเสี่ยงมะเร็งกลายพันธุ์ โดยเฉพาะยีน BRCA (พบบ่อยในยีน BRCA2) อายุที่มากขึ้น มักพบมะเร็งเต้านมในผู้ชายที่อายุ > 60ปี
- มีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) สูงกว่าปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติมาแต่กำเนิด โดยเฉพาะกลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter’s syndrome)
- โรคตับแข็ง เนื่องจากตับเสื่อมสภาพส่งผลให้ไม่สามารถทำลายฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ตามปกติ
- เป็นโรคอ้วนหรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มีค่าเท่ากับ 30 หรือมากกว่า
- มีประวัติการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีบริเวณหน้าอกหรือเคยโดนรังสี
- ลูกอัณฑะมีขนาดเล็กและเป็นหมัน เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศชายน้อย
อาการเบื้องต้นของโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย
- มีก้อนเนื้อแข็งในเต้านม เมื่อบีบแล้วไม่มีอาการเจ็บปวด
- เต้านมหรือหัวนมแดง
- มีของเหลวไหลออกจากหัวนม
- เป็นผื่นหรือแผลเรื้อรังบริเวณหัวนม
- หัวนมยุบบุ๋ม หรือหัวนมบอด
การลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมในเพศชาย
- หมั่นตรวจเต้านมของตนเองเป็นประจำ เนื่องจากการตรวจพบโรคได้เร็วจะเพิ่มโอกาสในการรักษาหายมากขึ้น
- ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (โดยเฉพาะหากตรวจพบว่ามียีนพันธุกรรมเสี่ยงมะเร็ง) ควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์เต้านมปีละ 1 ครั้ง
- งดหรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
วิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมในเพศชาย
- การรักษามะเร็งเต้านมชายจะไม่แตกต่างจากการรักษามะเร็งเต้านมหญิง โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง และชนิดของโรคมะเร็ง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษา
- การผ่าตัดกำจัดก้อนมะเร็งพร้อมกับตัดเนื้อเยื่อบางส่วนของเต้านม และต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก
- การฉายรังสีรักษา
- การให้ยาเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy)
- การใช้ฮอร์โมนบำบัด
- การใช้ยามุ่งเป้า (ตามชนิดของมะเร็ง)
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลนวเวช