ผลการศึกษาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ประเมินว่า จะมีผู้คนบนโลกนี้ราว 2 พันล้านคน หรือคิดเป็น 22% ของประชากรบนโลกที่จะต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดภายในปี 2100 นี้ โดยในบางพื้นที่จะมีสภาพอากาศร้อนเกินกว่าที่มนุษย์จะใช้ชีวิตได้ตามปรกติ
…
โดยผลงานวิจัยของนักวิจัยที่สถาบันระบบโลกที่มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์และมหาวิทยาลัยนานจิง ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Sustainability เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ได้เปรียบเทียบผลการศึกษาดยระบุว่า
ทุก ๆ 0.1 องศาฯ ของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อประชากรโลกราว 140 ล้านคน ที่จะต้องเผชิญกับความร้อนที่อยู่ในระดับที่อันตราย ซึ่งในขณะนี้ มีประชากรโลกราว 60 ล้านคนที่เผชิญกับระดับความร้อนที่เป็นอันตรายแล้ว โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 29 องศาเซลเซียส โดยจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตตามปรกติ
ภายใต้ข้อตกลงปารีสที่หลายชาติตั้งเป้าหมายร่วมกันในการลดภาวะโลกร้อนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อประชากรโลกในหลายพื้นที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนที่ไม่เคยพบมากก่อน ไม่ว่าจะเป็นในเขตอากาศหนาว หรือ เขตเส้นศูนย์สูตร
และหากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ประชาชนในบางประเทศได้รับผลกระทบที่รุนแรง เช่น อินเดีย ซูดาน และไนเจอร์ ซึ่งในขณะนี้ อินเดียก็เพิ่งจะเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง ส่งผลให้มีอุณหภูมิสูงถึง 46.3 องศาเซลเซียล เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ( 21 พ.ค.)
แต่ถ้าหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2.7 องศาเซลเซียสจะส่งผลกระทบที่เพิ่มขึ้นในอีกหลายประเทศเช่น ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน และไนจีเรีย ซึ่งเฉพาะในอินเดีย จะมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 600 ล้านคน และอีกกว่า 300 ล้านคนในไนจีเรีย และพื้นที่เกือบ 100% ในบางประเทศจะร้อนอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เช่น บูร์กินาฟาโซ และมาลี
โดยระดับความร้อนสูงนั้นเป็นอันตรายต่อมนุษย์ตั้งแต่การส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยเล็กน้อย ไปจนถึงการเสียชีวิตได้ เช่น โรคลมแดด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทารก เด็ก และสตรีมีครรภ์ นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางโรค ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นได้ รวมถึงการแพร่กระจายของโรค และคุณภาพชีวิตอื่น ๆ
การสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย
ในการศึกษายังพบด้วยว่า พื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ในส่วนต่าง ๆ ของโลกจะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ประชากรโลกจะเหลือพื้นที่อาศัยอยู่อย่างจำกัดมากขึ้น และจากสภาพเศรษฐกิจจะส่งผลให้มีประชากรโลกจำนวนหนึ่งที่ถูกปล่อยให้อยู่ในพื้นที่อาศัย เผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดและอันตรายนั้น
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น ประสิทธิภาพของการทำงานลดลง ระดับสติปัญญาลดต่ำลง สมาธิในการเรียนรู้ลดลง ผลผลิตทางการเกษตรลดลง สวนทางกับความขัดแย้งและการระบาดของโรคต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 2.7 องศาฯ นั่นหมายถึงผู้คนราว 2 พันล้านคนที่จะได้รับผลกระทบ ในราวปี 2030 และอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 3.7 พันล้านคนในปี 2090 แต่หากอุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 3.6 องศาฯ นั่นหมายถึงประชากรครึ่งหนี้ของโลกจะได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์จะยังคงสามารถอยู่รอดได้ในสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น แต่อีกหลายสายพันธุ์จะอพยพเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ที่มีอากาศเย็นกว่า แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่า หลายสปีชีส์กําลังทุกข์ทรมานภายใต้สภาวะที่ไม่คุ้นเคย
…
ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมืองใหญ่
ในขณะที่บางเมืองที่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่เป็นเมืองใหญ่ ๆ จะเผชิญกับ “ปรากฏการณ์เกาะความร้อน” หรือ Urban Heat Island ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเมือง ที่จะมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดนรอบ ซึ่งเป็นผลมาจากการมีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นคอนกรีตมากกว่าต้นไม้
ส่งผลให้มีการดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางวัน รวมถึงการปลดปล่อยความร้อนที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องปรับอากาศด้วย ส่งผลให้เกิด “เกาะความร้อนในเมือง” โดยในบางพื้นที่พบว่า อุณหภูมิภายในเมืองสูงกว่าพื้นที่ชนบทที่ห่างออกไปถึง 15 องศาเซลเซียส
และปรากฎการณ์นี้จะส่งผลให้ “ปริมาณฝน” ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเกาะความร้อนมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณใต้ลม
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เกาะความร้อนนี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับเมืองใหญ่ เมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นคอนกรีต
คนจนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสุด
รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกของสหประชาชาติ (WMO) ระบุว่า ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ 11,778 ครั้งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2021 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และรุนแรงมากขึ้น มีผู้เสียชีวิตเพียง 2 ล้านคน โดยในปี 2020 และ 2021 มีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติ 22,608 รายทั่วโลก
90% ของผู้เสียชีวิตอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นนั้น กลุ่มประชาชนที่เปราะบางจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้มากที่สุด
ผู้วิจัยยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมานั้น ต้นทุนของภาวะโลกร้อนมักถูกกล่าวถึงในแง่ของตัวเงิน ซึ่งเมื่อมีการประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นมักจะเป็นการให้น้ำหนักและคุณค่าไปยังกลุ่มคนรวยมากกว่าคนจน เนื่องจากคนกลุ่มนี้มี “สินทรัพย์” ที่สูญเสียมากกว่า
ผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ ผู้ที่มีโอกาสจะทำการอพยพไปยังพื้นที่ที่เหมาะสมและอยู่อาศัยได้ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้หมายถึงคนหลักสิบล้านคน แต่อาจจะมากกว่าพันล้านคน
ประเทศที่ร่ำรวยจะสูญเสียทางเศรษฐกิจหนักขึ้น
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น จะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ระหว่างปี 1970 ถึง 2021 ภัยพิบัติทางธรรมชาติสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 4.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวมีมูลค่า 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 39% ของการสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วโลกในรอบ 51 ปี
—-
ข้อมูล
- https://www.nature.com/articles/s41893-023-01132-6
- https://public.wmo.int/en/media/press-release/economic-costs-of-weather-related-disasters-soars-early-warnings-save-lives
- https://public.wmo.int/en/resources/atlas-of-mortality