ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากออกมาเดินขบวนบนท้องถนนในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศ เพื่อประท้วงแผนการของรัฐบาลที่จะปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ท้องทะเล พร้อมกับยื่นคำร้องเรียนต่อรัฐบาล บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมพานี (TEPCO) และรัฐสภา เพื่อระงับแผนการดังกล่าวทันที
ประชาชนจากหลายภูมิภาคของญี่ปุ่น อาทิ โตเกียว ฟุกุชิมะ และนางาซากิ เดินขบวนประท้วงแผนการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิ บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ห่างจากย่านคาซูมิงาเซกิอันเป็นที่ตั้งของบรรดาหน่วยงานรัฐบาลกลางราว 1 กิโลเมตร เมื่อช่วงเช้าวันอังคาร (16 พ.ค.) ที่ผ่านมา
ฝูงชนตะโกนสโลแกนอย่างพร้อมเพรียงหลายประโยค เช่น “อย่าปล่อยมลพิษลงมหาสมุทร” “ปกป้องประมง” และ “ปกป้องอนาคต” รวมถึงชูป้ายและธงเขียนว่า “อย่าปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล” “อย่าปล่อยมลพิษลงมหาสมุทรเพื่อทุกคน” และ “ทะเลไม่ใช่ห้องน้ำสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์”
อนึ่ง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิ เผชิญเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 9.0 ตามมาตราแมกนิจูด และคลื่นสึนามิตามมา เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2011 ทำให้แกนเตาปฏิกรณ์หลอมละลายและปล่อยรังสี กลายเป็นอุบัติเหตุนิวเคลียร์ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES)
โรงไฟฟ้านี้ผลิตน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจำนวนมหาศาลจากการหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในอาคารเครื่องปฏิกรณ์ ปัจจุบันน้ำปนเปื้อนถูกเก็บในถังกักเก็บราว 1,000 ถัง โดยรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทฯ ทำข้อตกลงกับสมาพันธ์สหกรณ์ประมงของจังหวัดฟุกุชิมะและประเทศในปี 2015 ว่าจะไม่ปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี “โดยปราศจากความเข้าใจของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
ทว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนแบบเจือจางลงมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเดือนเมษายน 2021 และแถลงเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ว่าจะเริ่มปล่อยน้ำ “ช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน”
คาซูโยชิ ซาโตะ ผู้อำนวยการร่วมของโคเรอูมิ (KOREUMI) การประชุมของพลเมืองญี่ปุ่นเพื่อประณามการปล่อยมลพิษลงมหาสมุทร และหนึ่งในผู้จัดชุมนุมประท้วง กล่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นหาข้ออ้างทุกรูปแบบ พร้อมย้ำว่าวิธีการปล่อยน้ำปนเปื้อนแบบอื่นๆ จะไม่เกิดผล และรัฐบาลไม่สามารถเก็บน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์บนบก
ซาโตะ ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดฟุกุชิมะ เสริมว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกำลังใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านเยนเพื่อเผยแพร่แผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนผ่านหลากหลายแพลตฟอร์มสื่อ แต่สาธารณชนที่ไม่เชื่อโฆษณาชวนเชื่อผิดๆ นี้ ย่อมไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว
ชิโย โอดะ ผู้อำนวยการร่วมอีกคนของโคเรอูมิ ได้อ่านและยื่นคำร้องไปยังคณะผู้แทนที่เกี่ยวข้อง ขณะชุมนุมประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ และอาคารสำนักงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเรียกร้องการปฏิบัติตามข้อตกลงกับสมาคมท้องถิ่น เช่น สมาพันธ์สหกรณ์ประมงประจำจังหวัดฟุกุชิมะ และห้ามปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรโดยปราศจากความเข้าใจและความยินยอมจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
คำร้องนี้ยังต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูล เช่น ความเข้มข้นและปริมาณรวมของนิวไคลด์กัมมันตรังสีทั้งหมด การประเมินผลกระทบของรังสีต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล รวมถึงมาตรการรับมือขั้นพื้นฐานจากบริษัทฯ เช่น การสำรวจการสร้างถังเก็บน้ำขนาดใหญ่สำหรับการกักเก็บน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระยะยาว และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแยกทริเทียมในทางปฏิบัติด้วย
ที่มา – ซินหัว