KEY :
- กระทรวงยุติธรรม เร่งให้ ความช่วยเหลือผู้เสียหายและญาติผู้เสียชีวิต จากกรณีต้องสงสัยว่าถูกวางยา “ไซยาไนด์”
- มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนผู้เสียหาย ตาม พรบ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ กรณีเสียชีวิต / บาดเจ็บ
- มีกองทุนยุติธรรมที่จะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีให้แก่ผู้เสียหายและญาติผู้เสียชีวิตได้
…
นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการเร่งให้ ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากกรณีมีข่าวการก่ออาชญากรรม โดยต้องสงสัยว่าผู้ต้องหา ใช้สารไซยาไนด์ในการก่อเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต และมีญาติผู้เสียหาย จำนวนหนึ่งติดใจการเสียชีวิตว่าถูกผู้ต้องหาใช้สารไซยาไนด์ในการก่อเหตุ เช่นเดียวกันหรือไม่ ส่งผลให้จากเหตุการณ์ ดังกล่าวมีทายาทผู้เสียหายที่เคยรู้จักหรือใกล้ชิดผู้ต้องหาเข้ามาแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเป็นจำนวนมาก และเกิดความสงสัยในการสาเหตุการตายของผู้เสียหายว่าอาจถูกทำร้ายจนเสียชีวิต
กระทรวงยุติธรรม ได้แจ้งให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดในพื้นที่เกิดเหตุ ลงพื้นที่แจ้งสิทธิ รับคำขอและพิสูจน์สิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะให้ความช่วยเหลือเยียวยา หากผู้เสียหายได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย จากการกระทำ ความผิดอาญาของผู้อื่น โดยที่ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการกระทำความผิด มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนผู้เสียหาย ตาม พรบ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ดังนี้
- กรณีเสียชีวิต
- 1.1 ค่าตอบแทนกรณีถึงแก่ความตาย 50,000 บาท
- 1.2 ค่าจัดการศพ 20,000 บาท
- 1.3 ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท
- 1.4 ค่าเสียหายอื่น 40,000 บาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 150,000 บาท (เนื่องจากเป็นกรณีอุจฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ ประชาชนให้ความสนใจ)
- กรณีบาดเจ็บ
- 2.1 ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท
- 2.2 ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพฯ เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
- 2.3 ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ฯ ให้จ่ายในอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ไม่อาจประกอบการได้ตามปกติ ไม่เกิน 1 ปี
- 2.4 ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ไม่เกิน 50,000 บาท
**ทั้งนี้ การช่วยเหลือขึ้นอยู่กับดุลพินิจ ของคณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัดที่เกิดเหตุ พิจารณาเป็นสำคัญ
โฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวอาจมีความ ยุ่งยากในการรวบรวมพยานหลักฐานและใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ กระทรวงยุติธรรมมีกองทุนยุติธรรมที่จะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีให้แก่ผู้เสียหายและญาติผู้เสียชีวิตได้ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าตรวจพิสูจน์ ค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมเอกสาร โดยสามารถ ติดต่อได้ที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานยุติธรรม จังหวัดทุกแห่ง หรือทางแอพพลิเคชั่น “ยุติธรรมใส่ใจ (Justice Care)”
นอกจากนี้ ตาม พรบ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2559 มาตรา 5(4) ได้เปิดกว้างให้ญาติผู้เสียชีวิตที่ติดใจสาเหตุการตาย สามารถติดต่อขอรับการตรวจชันสูตรซ้ำได้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส อำนวยความยุติธรรม และเป็นไปตาม นโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่ได้มุ่งเน้นถึงกระบวนการที่ทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคม ซึ่งจากสถิติการตรวจพบไซยาไนด์ตั้งแต่ ปี 2563 – ปัจจุบัน พบ จำนวน 4 คดี (ปี2563 จำนวน 1 คดี ปี 2564 จำนวน 2 คดี และปี 2565 จำนวน 1 คดี)