คัดลอก URL แล้ว
“น้ำโขง” แล้งหนัก ย้อนปมปัญหา “เขื่อนจิ่งหง”

“น้ำโขง” แล้งหนัก ย้อนปมปัญหา “เขื่อนจิ่งหง”

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงเผชิญวิกฤตแห้งแล้งหนัก ล่าสุดวันนี้ (25 เม.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง เวลา 7.00 น. ระบุว่า ระดับน้ำทุกสถานีต่ำกว่าค่าปกติ น้ำท่าอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต ซึ่งเป็นสภาวะที่น้ำโขงลดลงในช่วงหน้าแล้งนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมา รวมไปถึงปริมาณน้ำฝนน้อยไม่เพียงพอที่จะสามารถเพิ่มระดับน้ำโขงได้

ย้อนปมปัญหา “เขื่อนจิ่งหง” ส่งผลแม่น้ำโขงแล้งหนัก?

วิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจถึงสาเหตุต้นตอของภัยความแห้งแล้ง ซึ่งอิทธิพลจีนเหนือแม่น้ำโขง ได้กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นถกเถียงว่าอาจเป็นสาเหตุหรือไม่ โดยเฉพาะ “เขื่อนจิ่งหง” ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเชียงรุ้ง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 11 เขื่อนขั้นบันไดที่เปิดใช้งานแล้วในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน โดยเขื่อนแห่งนี้มีปริมาตรกักเก็บน้ำสูงสุดถึง 249 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งโดยปกติแล้วนั้นแม่น้ำโขงจะไหลผ่านประเทศไทยที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ห่างจากเขื่อนจิ่งหง 340 กิโลเมตร

ทั้งนี้ รายงานจากองค์กรอายส์ออนเอิร์ธ ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและองค์กรริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศลุ่มน้ำโขงอื่นๆ นอกจากจีน ซึ่งออกมาในเดือน เม.ย. ปี พ.ศ. 2563 นั้น หนึ่งในเนื้อหาของรายงานระะบุว่า เขื่อนของจีนส่งผลให้เกิดภัยแล้งในประเทศลุ่มน้ำจากการที่จีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้เองกับการชลประทานและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โดยรายงานดังกล่าวระบุว่าจีนเก็บกักน้ำไว้ที่เขื่อนตัวเอง 47,000 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า ฝ่ายจีนเคยนำเสนองานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงหวาร่วมกับสถาบันทรัพยากรน้ำของจีนระบุว่า เขื่อนของจีน “ไม่ได้สร้างปัญหาภัยแล้งให้กับประเทศแถบลุ่มน้ำโขง”

จับตาจีนร่วม 6 ประเทศ ศึกษาผลกระทบเขื่อน “ลุ่มน้ำโขง” ครั้งแรก

ในส่วนการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำโขงภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง–ล้านช้าง (MLC) ที่มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน ซึ่งมีจีนเป็นเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วยนั้น จะเริ่มศึกษาในปี 2565–2566 โดยในปีแรกจะศึกษาสาเหตุความเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งในเรื่องของสภาพภูมิกาศและระดับน้ำ ส่วนปีที่สอง ศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีแนวทางในการปรับตัวอย่างไร โดยจะเป็นแนวทางการจัดการปัญหาของแต่ละประเทศร่วมกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา “จีน” ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนกับ “คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง” หรือเอ็มอาร์ซี ซึ่งมี 4 ประเทศแม่โขงตอนล่างมาโดยตลอด การเข้ามาของ “จีน” ในครั้งนี้ จึงมีความหมายมากกว่าการศึกษาผลกระทบของลุ่มน้ำ เพราะอาจหมายถึงการชิงนำในเชิงข้อมูลหลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มเปิดหน้าศึกษาไปก่อนหน้านั้นแล้วหรือไม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง