KEY :
- อาร์เจนตินาวิกฤติ หลังเผชิญฤดูร้อนรุนแรงที่สุดของประเทศนับตั้งแต่มีการบันทึกมา
- ความแห้งแล้งรุนแรง และฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 35 ปีเกือบครึ่ง ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร
- ผลผลิตลดน้อยลง ทำรายได้การส่งออกลดลง ต้องเจรจาหนี้กับ IMF
…
ประเทศอาร์เจนตินากำลังเผชิญกับฤดูร้อนครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ซึ่งยังส่งผลให้ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งครั้งรุนแรง และทำให้ภาคการเกษตรได้รับความเสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ประเทศอาร์เจนตินาเผชิญคลื่นความร้อนหลายครั้งมากกว่าค่าเฉลี่ยตามปรกติที่เคยพบมา และมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทางการอีกด้วย
ซึ่งนับตั้งแต่ปี 1961 ที่มีการบันทึกสภาพอากาศของประเทศอาร์เจนตินา พบว่า ฤดูร้อนในปีนี้มีสภาพอากาศร้อนรุงแรงมากที่สุด และเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 35 ปีถึง 41.9% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณฝนที่ควรจะมีในประเทศ
สถานการณ์ฝนแล้งในอาร์เจนตินานั้นรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 2019 ที่แนวโน้มของปริมาณฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงที่สุดในช่วงต้นปีนี้ ปัจจัยสำคัญเป็นสาเหตุของปริมาณฝนที่ลดน้อยลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมานั้น คาดว่า เป็นผลมาจากภาวะลานีญาที่เกิดต่อเนื่องในช่วง 3 ปีหลังนี้ และเกิดขึ้นกับประเทศในแถบอเมริกาใต้
นอกจากนี้ คลื่นความร้อนที่ชาวอาร์เจนตินากำลังเผชิญอยู่นี้ในขณะนี้ กินระยะเวลายาวนานกว่าที่เคยเป็น ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปรกติอย่างมาก
…
วิกฤติภัยแล้ง
จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้เกิดไฟป่าในหลายพื้นที่และลุกลามเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นเหตุให้ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศได้รับผลกระทบหนักขึ้น จากทั้งภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตน้อยลง และยังสูญเสียไปกับไฟป่าที่ลุกลามเข้ามาอีกด้วย โดยเฉพาะบริเวณทางภาคกลางของอาร์เจนตินา รวมถึงในประเทศชิลีที่อยู่ใกล้เคียงด้วย
ปัญหาของภัยแล้ง และสภาพอากาศร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้ทางการอาร์เจนตินาคาดว่า ผลผลิตข้าวสาลีในปี 2023 นี้จะลดลงอีกราว 28% เมื่อเทียบกับปี 2022 ที่ผ่านมา และอาร์เจนตินา คือหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีที่สำคัญลำดับต้น ๆ ของโลก
นอกจากข้าวสาลีแล้ว ยังมีถั่วเหลือง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ในการผลิตเป็นน้ำมันถั่วเหลืองของอาร์เจนตินาก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วยเช่นกัน ทำให้รายได้จากการส่งออกธัญพืชและสินค้าเกษตรของอาร์เจนตินาในช่วง ม.ค. 2022 – ม.ค. 2023 ลดลงไปแล้ว 61% ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอาร์เจนตินามากยิ่งขึ้น
โดยในขณะนี้อาร์เจนตินาเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจมาโดยตลอดแต่ยังพอที่จะประคับประคองตัวมาได้ แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 และกำลังเผชิญภัยแล้งซ้ำเติม ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของอาร์เจนตินากำลังร่อยหรอลงเรื่อย ๆ
ทำให้ในขณะนี้ อาร์เจนตินาได้มีการเจรจาเพื่อขอผ่อนคลายมาตรการทางการเงินกับ IMF เกี่ยวการ และทาง IMF ก็ได้มีแนวทางในการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น สำหรับประเทศในแถบอเมริกาใต้ จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้น
ข้อมูล :
- https://reliefweb.int/report/argentina/heat-and-drought-bite-large-parts-south-america
- https://www.smn.gob.ar/