KEY :
- ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง(ด้านตะวันตกของภาค) กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง
- ปัจจัยหลักมาจากสภาพอากาศปิดต่อเนื่อง (ช่วง 28 ก.พ. – 4 มี.ค.) มีอากาศเย็น และมีจุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมาก
- รายงานจุดความร้อนในภูมิภาครวมมากกว่า 1.1 หมื่นจุด โดยพบในไทยถึง 3,691 จุด สูงที่สุดในภูมิภาค
…
วันนี้ ( 28 ก.พ.) สถานการณ์การฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 จากรายงานการตรวจวัดของเว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา บริเวณภาคเหนือ และภาคกลางด้านตะวันตกของภาค มีค่าฝุ่น PM 2.5 กลับมาสูงอีกครั้ง
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือเกือบทั้งหมดมีค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม (เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) และสีแดง (ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากที่ลดลงไปได้ไม่กี่วันในช่วงสุดสัปดาห์ เนื่องจากปัจจัยหลัก คือ สภาพอากาศปิด กระแสลมอ่อนลง และอากาศเย็น ในขณะที่จุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือ มีเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แม้ว่าจะอยู่ในช่วงห้ามเผาเด็ดขาดก็ตาม
ในขณะที่บริเวณภาคกลาง โดยเฉพาะทางตอนบน และด้านตะวันตกของภาค มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นเช่นกัน และเกิดขึ้นจากสาเหตุเดียวกันนั่นคือ สภาพอากาศปิด ร่วมกับการเผาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี ที่พบรายงานจุดความร้อนเกาะกลุ่ม หนาแน่น
…
กรุงเทพฯ ปริมณฑลเริ่มทรงตัว-ลดลงเล็กน้อย
สำหรับในพื้นที่กรุงเทพฯ จากรายงานเมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมา แนวโน้มของฝุ่นละอองขนาดเล็กกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ มีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งรายงานจากจุดตรวจวันสภาพอากาศ พบว่า มี 58 พื้นที่ที่มีรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีส้ม
โดยปัจจัยหลักยังคงคล้ายกันคือ ในช่วง 28 ก.พ. – 4 มี.ค. นี้ เป็นช่วงอากาศปิด การระบายฝุ่นควันทำได้ไม่ดีนัก ในขณะที่มีอากาศเย็นในตอนเช้า ฝุ่นควันสามารถสะสมตัวได้ดี แต่ในช่วงหลังจากวันนที่ 4 มี.ค. ไปแล้ว คาดว่า สถานการณ์น่าจะดีขึ้น เนื่องจากจะอากาศจะเริ่มร้อนขึ้นและเข้าสู่ฤดูร้อน
สำหรับ 10 พื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชม. สูงที่สุดในพื้นที่กทม. ได้แก่
จุดตรวจวัด | ค่าฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | เขตบางขุนเทียน | 76 |
2 | เขตประเวศ | 65 |
3 | เขตคลองสามวา | 65 |
4 | เขตลาดกระบัง | 64 |
5 | เขตปทุมวัน | 63 |
6 | เขตบึงกุ่ม | 63 |
7 | เขตบางเขน | 62 |
8 | เขตยานนาวา | 61 |
9 | เขตมีนบุรี | 61 |
10 | เขตธนบุรี | 61 |
…
10 จุดค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
สำหรับ 10 จุดที่มีรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงที่สุดในประเทศเมื่อเวลา 08.00 น.จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่
จุดตรวจวัด | ค่าฝุ่น PM 2.5* | |
---|---|---|
1 | รพ.ทองแสนขัน | 506 |
2 | บ้านห้วยหินฝน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก | 457 |
3 | รพ.แม่สอด ต.แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก | 363 |
4 | รร.บ้านห้วยทรายขาว ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน | 344 |
5 | รพ.ตรอน | 312 |
6 | จุดเฝ้าระวังฝุ่น PM ทต.เหมืองจี้ อ.เมือง จ.ลำพูน | 306 |
7 | โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านเสด็จ หมู่บ้านบ้านเสด็จ จ.ลำปาง | 306 |
8 | โรงพยาบาลน้ำปาด จ. อุตรดิตถ์ | 300 |
9 | ตลาดสดบ้านหล่ายแก้ว ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง ลำพูน | 294 |
10 | สถานีตรวจวัด หมู่บ้านจำปุย จ.ลำปาง | 280 |
* ค่าฝุ่นละอองเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
…
จุดความร้อนยังสูง โดยเฉพาะภาคเหนือ
จากรายงานจุดความร้อนของทาง GISTDA ในภูมิภาคพบว่า จำนวนจุดความร้อนพุ่งสูงขึ้นจากเมื่อวันก่อนหน้าค่อนข้างมาก โดยพบความจุดความร้อนในประเทศต่าง ๆ รวม 11582 จุด แบ่งเป็น
- ไทย 3,691 จุด (เพิ่มขึ้น)
- เมียนมาร์ 2,948 จุด (เพิ่มขึ้น)
- กัมพูชา 2,260 จุด (เพิ่มขึ้น)
- ลาว 2,181 จุด (เพิ่มขึ้น)
- เวียดนาม 501 จุด (ลดลง)
- มาเลเซีย 1 จุด (ลดลง)
โดยจุดความร้อนที่เกิดขึ้นจะพบว่า กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง (ด้านตะวันตก) และกระจายกันในหลายพื้นที่ ภาคกลาง
สำหรับจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด มีจำนวนจุดความร้อนทั้งสิ้น 1,900 จุด เพิ่มสูงขึ้นจากวันก่อน แม้ว่าจะยังคงอยู่ในช่วงห้ามเผาเด็ดขาด ในขณะที่พื้นที่ด้านจังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นพื้นที่ที่มีรายงานการพบการเผากระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างมาก