ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนวิทยาเผยปลาหมอคางดำมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงปลานิล สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย แต่เตือนระวังการบริโภคปลาจากแหล่งน้ำไม่สะอาด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงใจ มาลัย อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า แม้ยังไม่มีข้อมูลวิจัยเฉพาะเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของปลาหมอคางดำในประเทศไทย แต่เนื่องจากอยู่ในวงศ์เดียวกับปลานิลและปลาหมอเทศ จึงสามารถเทียบเคียงคุณค่าทางโภชนาการได้ โดยพบว่ามีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 18-20 ไขมันประมาณร้อยละ 2 และให้พลังงาน 95-100 กิโลแคลอรี่ต่อเนื้อปลา 100 กรัม
ปลาหมอคางดำสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ต้ม ทอด นึ่ง หรือแปรรูปเป็นปลาหมัก ปลาร้า แหนมปลา และลูกชิ้น เช่นเดียวกับปลานิล อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ระมัดระวังในการเลือกแหล่งที่มาของปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีประชาชนจับปลาหมอคางดำจากบึงมักกะสัน กรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงใจแสดงความกังวลว่า แหล่งน้ำดังกล่าวอาจมีการปนเปื้อนของน้ำเสีย เชื้อโรค และสารพิษ ซึ่งปลาอาจดูดซับไว้ในตัว จึงไม่แนะนำให้นำมาบริโภค แต่สามารถนำไปทำน้ำหมักเป็นปุ๋ยรดพืชได้