เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งผิวพรรณ สายตา เส้นผม กระดูกและข้อต่อ ร่างกายจะเกิดความอ่อนแอได้ง่าย ดังนั้นการรักษาสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่ออายุเริ่มมากขึ้นตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป กินวิตามินอะไรดี ถึงจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง
แคลเซียม
แคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ทั้งยังช่วยเพิ่มความหนาแน่นให้กระดูก มีส่วนสำคัญในการแข็งตัวของเลือดและการทำงานของระบบประสาทในการส่งสัญญาณให้เร็วขึ้น แคลเซียมจะเริ่มเสื่อมสลายมากกว่าการเสริมสร้าง ในวัยผู้ใหญ่การกินแคลเซียมจะช่วยลดการเสื่อมสลายได้ หากเกิดภาวะกระดูกเสื่อมเพราะร่างกายได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ แคลเซียมจากกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกรานจะถูกดึงออกมาใช้ทำให้กระดูกเปราะ แตก หักได้ง่าย ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนถึง 40%
อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ชีส งาดำ ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง ผลไม้ ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง กุ้งฝอย
ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายเพราะเป็นสารอาหารที่มีส่วนสำคัญในการผลิตฮีโมโกลบิน (hemoglobin) และมีหน้าที่ในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง อีกทั้งยังช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง จะช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ช่วยในการบำรุงเลือด ป้องกันภาวะโลหิตจาง
อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ธัชพืช ลูกเกด เมลอน ผักกูด ใบแมงลัก ผิวมะกรูด
วิตามินดี
เมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีความเสี่ยงที่จะขาดวิตามินดีมากขึ้น ซึ่งวิตามินดีมีความสำคัญต่อกระดูกและยังช่วยดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหาร จึงช่วยให้กระดูกแข็งแรงและป้องกันโรคกระดูกพรุน ทั้งยังช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด หากขาดวิตามินดีก็ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนหรือโรคกระดูกอ่อน โดยเฉพาะผู้หญิงเมื่ออายุมากขึ้น หากหกล้มก็อาจจะทำให้กระดูกแตกร้าวได้ง่าย
อาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น ไข่แดง ตับสัตว์ โยเกิร์ต นม ส้ม น้ำมันตับปลา ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และแสงแดดอ่อนๆ
สารต้านอนุมูลอิสระ
ผักผลไม้อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย เช่น แอนโทไซยานิน โพลีฟีนอล ฟีนอลิก ไลโคปีน แคโรทีนอยด์ ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยในการยับยั้งเซลล์มะเร็งและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหารและยังลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ
อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ กระเทียม อาร์ติโช้ค ดาร์กช็อกโกแลต บร็อคโคลี่ ผักโขม ใบกะเพรา ใบโหระพา