KEY :
- ยูกันดา รายงานพบผู้ติดเชื้ออีโบลาเพิ่มอีก 15 ราย ในเมืองกัมปาลา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ
- ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 9 ราย รวมสะสมเสียชีวิต 28 รายแล้ว จากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 90 รายในประเทศยูกันดา
- กรมควบคุมโรคของไทย สั่งยกระดับมาตรการเฝ้าระวังที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศแล้ว
…
สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในขณะนี้ มีรายงานการพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในประเทศยูกันดา ซึ่งพบการระบาดแล้วใน 5 เขตด้วยกันประกอบด้วย เมือง Mubende และบางส่วนในเมือง Bunyangabu, Kyegegwa, Kassanda และ Kagadi
โดยแนวโน้มยังคงพบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรายงานการพบผู้ป่วยในเมืองกัมปาลา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศยูกันดาและมีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น
ยูกันดาพบผู้ป่วยเพิ่ม 15 ราย
สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศยูกันดามีแนวโน้มในการพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุดทางการยูกันดายืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาเพิ่มขึ้นอีก 15 ราย ในกัมปาลา เมืองหลวงของประเทศยูกันดา ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมในยูกันดาอยู่ที่ 90 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 28 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวอยู่ทั้งหมด 28 ราย และมีผู้สัมผัสใกล้ชิดที่ยังคงติดตามเฝ้าระวังอยู่ 1,830 ราย
ในขณะมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 9 ราย ในระยะเวลา 48 ชม. ที่ผ่านมา โดย 7 รายมาจากครอบครัวในเมือง Masanafu นั้นถือเป็นชุมชนแออัดที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และผู้เสียชีวิตนั้นเป็นผู้ป่วยที่พบความเชื่อมโยงมาจากเมือง Kassanda ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสองพื้นที่เขตที่พบการระบาดสูงทั้ง คาสซานดา และ มูเบนเดนั้น ยังคงอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ และการประกาศเคอร์ฟิว เพื่อควบคุมการระบาดไปแล้ว
ส่วนผู้เสียชีวิตอีกหนึ่งรายนั้น ดร. Jane Ruth Aceng Ocero, รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของยูกันดาระบุว่า เป็นเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่เปิดคลินิกส่วนตัวอยู่ในเมือง Seguku
ซึ่งสถานการณ์ในยูกันดาในขณะนี้ ทางการยังคงระบุว่า สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะในกรุงกัมปาลา และยังไม่จำเป็นที่จะต้องมีการล็อกดาวน์แต่อย่างใด โดยการระบาดส่วนใหญ่พบรายงานพื้นที่ของเมือง Mubende และบางส่วนในเมือง Bunyangabu, Kyegegwa, Kassanda และ Kagadi
อย่างไรก็ตาม ทางการยูกันดาได้แจ้งขอความร่วมมือจากประชาชน โดยขอให้ผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แยกกักตัวและแจ้งต่อทางการเพื่อเข้าควบคุมการระบาดของโรคโดยเร็ว และการรักษาโดยการพึ่งพายาสมุนไพร หรือหมอผีในเมือง จะทำให้มีความเสี่ยงในการระบาดและควบคุมโรคได้ยากขึ้น
สำหรับในเมืองกัมปาลาของยูกันดา ถือเป็นเมืองหลวงและมีประชากรราว 1.7 ล้านคน ซึ่งผู้ป่วยรายแรกที่มีรายงานการพบรายแรกในเมืองหลวงแห่งนี้ เป็นผู้ป่วยที่เป็นผู้เดินทางมาจากพื้นที่การระบาดเข้ามายังเมืองหลวง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้ทางการยูกันดา มีคำสั่งให้ล็อกดาวน์พื้นที่การระบาด
…
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ยูกันดา ประกาศล็อกดาวน์ คุมอีโบลาระบาด หลังเสียชีวิตแล้ว 19 ราย
- ยูกันดาพบ ‘อีโบลา’ ระบาดทางตอนกลางของประเทศ
…
กรมควบคุมโรคประกาศยกระดับเฝ้าระวัง
ทางด้านของกรมควบคุมโรคของไทยได้มีการยกระดับเฝ้าระวังที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ โดย
- ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทุกราย โดยการตรวจวัดและลงบันทึกอุณหภูมิ พร้อมให้แจ้งที่อยู่ที่ชัดเจนในประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ วันเดือนปีสุดท้ายที่ออกจากประเทศคองโก
- ผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน ให้เขียนใบรายงานตัว และปฏิบัติตัวตามบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) พร้อมสังเกตอาการตนเอง
- ผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน เมื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแล้วมีอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป พร้อมกับมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อย เพลีย และมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้สงสัยป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ให้แจ้งหัวหน้าด่านฯ สุวรรณภูมิ เพื่อพิจารณาส่งต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร
- กองโรคติดต่อทั่วไป จะประสานเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อติดตามข้อมูลการคัดกรองผู้เดินทางจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทุกสัปดาห์ และทำการประเมินสถานการณ์โรค
- ให้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ถ่ายสำเนาหน้าพาสปอร์ตที่ประทับตราเข้า-ออกประเทศ ในผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภายใน 21 วัน เพื่อความชัดเจนในการติดตามข้อมูลของทีมสอบสวนโรค
“องค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค ซึ่งได้ประเมินว่านักเดินทางระหว่างประเทศยังมีความเสี่ยงในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีการติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาล จากการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ (เข็มและหลอดฉีดยา) ที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงไม่มีการป้องกันเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อ” นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
ที่มา :
- https://www.health.go.ug/
- Dr. Jane Ruth Aceng Ocero, Minister for Health- Uganda