KEY :
- องค์การอนามัยโลกแจ้งเตือนยาแก้ไอสำหรับเด็ก 4 ยี่ห้อที่ไม่ได้มาตรฐาน พบการปนเปื้อนของ ไดเอทิลีนไกลคอลและเอทิลีนไกลคอล ที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- มีรายงานเด็กเสียชีวิตแล้ว 66 ราย ในประเทศแกมเบีย จากการรับประทานยาดังกล่าวจากภาวะไตวายเฉียบพลัน ตามรายงานของ WHO
- ในขณะที่อินโดนีเซีย พบเด็กเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลันแล้ว 99 รายจากการปนเปื้อนสารชนิดเดียวกันนี้ แต่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ชนิดที่ WHO แจ้งเตือน
- โดยรายงานเบื้องต้น อินโดฯ พบยาน้ำที่มีสารดังกล่าวปนเปื้อนจำนวน 15 รายการจาก 18 รายการที่ได้ทำการตรวจสอบแล้ว
- อินเดีย สั่งบริษัทผู้ผลิตยาตามที่ WHO ระบุให้หยุดการดำเนินการแล้ว พร้อมดำเนินการสอบสวนความเชื่อมโยงเพิ่มเติม
…
องค์การอนามัยโลกแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอสำหรับเด็กที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีการปนเปื้อนของสารเคมี และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอทั้ง 4 ชนิดได้แก่
- โปรเมทาซีน ออรัล โซลูชัน (Promethazine Oral Solution)
- โคเฟกมาลิน เบบี คอฟ ไซรัป (Kofexmalin Baby Cough Syrup)
- มาคอฟ เบบี้ คอฟ ไซรัป (Makoff Baby Cough Syrup)
- มากริป เอ็น โคลด์ ไซรัป (MaGrip N Cold Syrup)
ซึ่งผลการตรวจสอบขององค์การอนามัยโลกพบว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งสี่ มีไดเอทิลีนไกลคอลและเอทิลีนไกลคอลในปริมาณมาก ซึ่งได้มีการจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับไดเอทิลีนไกลคอลและเอทิลีนไกลคอลที่ผสมอยู่ในยาน้ำทั้ง 4 ตัวนี้ เป็นพิษต่อมนุษย์และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ โดยภายหลังจากที่ได้รับสารดังกล่าวจะมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง ปัสสาวะไม่ได้ นำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตในที่สุด
แกมเบียมีรายงานเด็กเสียชีวิตแล้ว 70 ราย
รัฐบาลแกมเบียได้รับรายงานถึงการเสียชีวิตของเด็กเล็กจำนวนมากตั้งแต่ช่วงราวต้นเดือนกันยายน 2565 โดยรายงานครั้งแรกระบุว่า พบเด็กเล็กจำนวนหลายสิบคนมีภาวะไตวาย และเสียชีวิตในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ทำให้ได้มีการตรวจสอบเบื้องต้น และพบความเชื่อมโยงกับยาน้ำที่ใช้ในเด็กเล็ก
หลังจากนั้นในช่วงเดือนสิงหาคมพบว่า มีเด็กเล็กเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าว 28 ราย โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 90% ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ชัดเจนว่า เกิดจากยาน้ำชนิดใด หรือสาเหตุใดกันแน่
จนกระทั่งผลการตรวจสอบล่าสุดยืนยันว่า พบความเชื่อมโยงของยาน้ำ 4 ชนิดด้วยกันที่ผลิตจากประเทศอินเดีย และทำให้มีเด็กเล็กเสียชีวิตแล้ว 66 ราย จากการได้รับสารปนเปื้อน ไดเอทิลีนไกลคอลและเอทิลีนไกลคอล นำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตภายในระยะเวลาไม่กี่วันหลังได้รับยาที่ปนเปื้อน
…
อินโดนีเซียพบเด็กตายเกือบร้อย จากภาวะไตวายเฉียบพลัน
กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย เร่งตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตในเด็ก 99 ราย ด้วยอาการ “ไตวายเฉียบพลัน” นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา โดยพบว่ามีเด็ก ๆ ป่วยด้วยอาการเหล่านี้มากถึง 206 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
เจ้าหน้าที่ระบุว่าเด็กที่เสียชีวิตด้วยอาการ “ไตวายเฉียบพลัน” จำนวน 70 ราย รับประทานยาแก้ไอ และยาลดไข้ 4 ชนิดที่ผลิตโดยบริษัท เมเดน ฟาร์มาซูติคัลส์ บริษัทเวชภัณฑ์ของอินเดีย ที่คาดว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็ก ๆ ในประเทศแกมเบียด้วย
จากการตรวจสอบพบว่ายาเหล่านี้ มีการผสมสาร “ไดเอทิลีนไกลคอล” (diethylene glycol) และ “เอทิลีนไกลคอล” (ethylene glycol) ในปริมาณที่สูงเกินขนาด โดยที่สารเหล่านี้เป็นพิษและอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่สำนักงานอาหารและยาของอินโดนีเซีย ยืนยันว่ายาแก้ไอ และยาลดไข้ 4 ชนิดที่ตกเป็นข่าวนั้น ไม่มีจำหน่ายในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรัฐบาลก็สั่งห้ามใช้สารดังกล่าวเป็นส่วนผสมในยาน้ำสำหรับเด็กไปแล้ว
ด้านกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ขอให้โรงพยาบาลในอินโดนีเซียเก็บยาทั้งหมดที่ผู้ปกครองให้เด็กที่เสียชีวิตรับประทานเพื่อนำมาทดสอบด้านพิษวิทยา ทั้งยังระบุว่า ร้านขายยาในอินโดนีเซียควรหยุดขายยาน้ำสำหรับเด็กเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติมจากทางการ
ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า พบยาน้ำจำนวน 15 รายการที่มีการปนเปื้อนของสารดังกล่าว จากทั้งหมด 18 รายการที่นำเข้ามาทดสอบในประเทศอินโดนีเซีย
…
อินเดียสั่ง ‘บริษัทยา’ ท้องถิ่นหยุดผลิต หลังพบเด็กดับในแกมเบีย
อนิล วิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรัฐหรยาณาทางตอนเหนือของอินเดีย เปิดเผยว่า เมเดน ฟาร์มาซูติคอลส์ (Maiden Pharmaceuticals) บริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติอินเดีย ซึ่งผลิตยาแก้ไอที่มีข้อบกพร่องจนทำให้เด็กในแกมเบียเสียชีวิตกว่า 60 ราย ถูกสั่งให้หยุดการผลิตยาทั้งหมดโดยมีผลบังคับใช้ทันที
วิจกล่าวว่าหน่วยงานยาของรัฐบาลกลางและรัฐหรยาณาดำเนินการตรวจสอบเมเดน ฟาร์มาซูติคอลส์ ในเขตโสนิพัทของรัฐหรยาณา และพบข้อบกพร่องมากถึง 12 รายการ จึงนำไปสู่การออกคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวหยุดการผลิตทั้งหมด
อนึ่ง เมเดน ฟาร์มาซูติคอลส์ ส่งออกยาแก้ไอหลายประเภทไปยังแกมเบีย ซึ่งมีรายงานทารกเสียชีวิต ต่อมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกประกาศเตือนความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอเหล่านั้น พร้อมระบุความเชื่อมโยงระหว่างยาแก้ไอของเมเดนฯ จำนวน 4 ตัว กับการเสียชีวิตในแกมเบีย
วิจกล่าวกับสื่อมวลชนในรัฐหรยาณาว่าตัวอย่างยาของเมเดนฯ ที่องค์การอนามัยโลกกล่าวถึงนั้นถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการยาส่วนกลางในเมืองโกลกาตาแล้ว ด้านรัฐบาลกลางกำลังรวบรวมข้อมูลให้ครบสมบูรณ์
ข้อมูล :
- https://www.who.int/news/item/05-10-2022-medical-product-alert-n-6-2022-substandard-(contaminated)-paediatric-medicines
- https://www.xinhuathai.com/inter/313888_20221013
- https://health.detik.com/berita-detikhealth/d-6358331/15-sirup-obat-ri-tercemar-etilen-glikol-bahan-berbahaya-terkait-gagal-ginjal