KEY :
- จากสภาพอากาศที่เริ่มเย็นลง ส่งผลให้การสะสมตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เริ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่
- โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – ภาคกลาง
…
สถานการณ์สภาพอากาศที่เริ่มเย็นลง ส่งผลให้ในหลายพื้นที่เริ่มมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เริ่มกลับสูงขึ้นในหลายพื้นที่แล้ว โดยจากรายงานการตรวจวัดของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ พบว่า บริเวณพื้นที่ทางภาคอีสานของประเทศไทย หลายพื้นที่มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (สีแดง) และเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (ส้ม) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
โดยรายงาน 5 จุด ที่มีค่า PM 2.5 สูงสุดรายชั่วโมง เมื่อเวลา 08.00 น. จากเว็บไซต์ของ ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่
- รพ.สต.บ้านเหล่า ต.หนองบัว อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร 127 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
- อบต.หนองโพ จ.นครสวรรค์ 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
- สสอ.หัวตะพาน อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ 106 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
- รพ.นิคมคำสร้อย อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร 99 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
- ศพด.ทม.ไร่ขิง แห่งที่ 4 วังมนี จ.นครปฐม 99 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
ในขณะที่รายงานจากเว็บไซต์ Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษรายงานค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง พบว่า บริเวณจุดตรวจวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางหลายจุด มีค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับปานกลาง (สีเหลือง) และระดับที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) แล้ว
โดยมีจุดสูงสุดอยู่ที่
- จุดตรวจวัดในพื้นที่ ต.มีชัย อ.เมือง จ.หนองคาย โดยมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 52 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
- จุดตรวจวัดในพื้นที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม 51 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
- จุดตรวจวัดในพื้นที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 51 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
กรุงเทพฯ หลายพื้นที่สภาพอากาศปานกลาง
ในขณะที่รายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเวลา 07.00 น. โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่วัดได้เฉลี่ย 24 ชั่วโมงในพื้นที่ กรุงเทพนั้นและปริมณฑลในระดับปานกลางในหลายพื้นที่ด้วยกัน
โดยจุดที่พบว่า มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินค่ามาตรฐานจำนวน 1 จุดด้วยกันคือ บริเวณริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม, กรุงเทพฯ
ซึ่งเมื่อวานที่ผ่านมา โฆษกของกรุงเทพมหานครได้ระบุว่า ในช่วงวันที่ 18-23 ตุลาคมนี้ เป็นช่วงที่มวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากจีนแผ่ลงมาปกคลุม ซึ่งแนวโน้มของฝุ่นละออง PM 2.5 จากการตรวจวัดของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้น