KEY :
- เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา เกิดเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู มีผู้เสียเสียชีวิต 37 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 24 ราย
- ผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจ และมีประวัติยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จนถูกให้ออกจากราชการ
- หลาย ๆ ฝ่าย ร่วมถกปัญหาทั้งการสแกนเรื่องยาเสพติดในกองทัพ ตำรวจ หรือ หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการทำงานเชิงรุกเกี่ยวการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต กับผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วย
- รัฐบาลได้เร่งเดินหน้าวางแนวทางมาตรการทั้งเรื่องอาวุธปืน – การป้องกันยาเสพติด
ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์กับเหตุการณ์ที่ไม่ใครอยากให้เกิดขึ้น จากเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียเสียชีวิต 37 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 24 ราย โดยหลังเกิดเหตุคนร้ายได้กลับไปปลิดชีพภรรยาและลูก ก่อนยิงตัวตายตามหนีความผิด ซึ่งเหตุกราดยิงในครั้งนี้เป็นข่าวที่สร้างความสลดใจไปทั่วโลก และเป็นเหตุกราดยิงในประเทศไทยที่มียอดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
คำถามจากสังคมสะท้อนกลับไปยังผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมือง เนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นทั้งอดีตตำรวจ มีประวัติเกี่ยวกับยาเสพติด อีกทั้งประเด็นเรื่องอาวุธปืน ที่ดูเหมือนว่าทางรัฐบาลจะรับลูกลุยสางปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้สังคมได้คลายสงสัยในหลายประเด็น
เกือบ 2 ปี 8 เดือน กับเหตุกราดยิงในโคราช (เหตุเกิด 8 ก.พ.63) กลับสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ในครั้งนี้ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ปัญหายาเสพติด ก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาทางสังคมที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้น เราทราบกันดีตามข่าวที่ปรากฏ โดยเฉพาะราคาของยาเสพติดอย่าง ‘ยาบ้า’ ที่ขายกันหลักสิบบาท และยังคงมีข่าวผู้ก่อเหตุที่ติดยาสร้างความเดือดเป็นภัยต่อสังคมอยู่แทบทุกวัน
‘ยาเสพติด’ อีกหนึ่งปมของต้นเหตุ
จากการสืบประวัติของอดีตตำรวจผู้ก่อเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู บรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ตำแหน่ง ผบ.หมู่ (ป.) สน.คันนายาว และมีคำสั่งย้ายเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 มาดำรงตำแหน่ง ผบ.หมู่ (ป.) สภ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู และเริ่มมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
ในช่วงกลางปี 2564 อดีตตำรวจผู้ก่อเหตุ ได้มีปัญหากับเพื่อนข้าราชการตำรวจภายในหอพัก เนื่องจากถูกตักเตือนเรื่องเสียงดัง จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท โดยผู้บังคับบัญชาในขณะนั้นได้เรียกมาทำทัฑ์บนไว้ และจากการสอบถามยังพบว่า อดีตตำรวจผู้ก่อเหตุ ได้เสพยาเสพติดมาตั้งแต่สมัยมัธยม ก่อนที่จะรับปากกับทางผู้บังคับบัญชาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก พร้อมยึดอาวุธประจำกายไว้เพื่อป้องกันเหตุร้ายในอนาคต
ต่อมาทางเมื่อช่วงต้นปี 2565 สภ.นาวัง ได้ดำเนินการตามนโยบายโครงการตำรวจสีขาว เพื่อสแกนไม่ให้ตำตวจยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ยังได้รับรายงานว่าทางอดีตตำรวจผู้ก่อเหตุ ยังมีพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอยู่ และในวันที่ 20 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน กก.สส.ภ.จว.หนองบัวลำภู ได้เข้าตรวจค้นและจับกุม
โดยมีความผิดคดีอาญา ในข้อหา มียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (ยาบ้า หรือ เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และมีคำสั่ง บก.ภ.จว.หนองบัวลำภู ลงโทษให้ออกจากราชการ
ปัญหาใต้พรหมของหน่วยงานที่ต้องทำให้ถูกต้อง
เหตุกราดยิงใน 2 ครั้งล่าสุดนี้ ผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นทั้งทหาร-และอดีตตำรวจ ซึ่งมีทั้งปัญหาส่วนตัว และ มีส่วนเกี่ยวข้องจากยาเสพติด หลาย ๆ ฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกต และแสดงความคิดเห็นถึงการกรอบแนวทางในหน่วยทหาร และตำรวจ รวมทั้งหน่วยงานข้าราชการอื่น ๆ เนื่องจากปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดไปทุกกลุ่ม ตั้งแต่รากหญ้า ยันผู้ปฏิบัติหน้าที่
จึงไม่แปลกที่สังคมเพ่งเล็งไปยังหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอย่าง ‘ตำรวจ’ และ กองทัพ ควรมีมาตรการในการสแกนกำลังพลเกี่ยวเรื่องยาเสพติดอย่างจริงจัง ทั้งตั้งแต่ก่อนการเข้ารับราชการ และระหว่างรับราชการ รวมไปถึงการประเมินสุขภาพจิตของกำลังพล
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ได้กล่าวในงาน เสวนา “เหตุกราดยิง: อีกกี่บทเรียนที่ต้องถอด?” ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยรังสิต โดยพูดถึงกรณีการประเมินสุขภาพจิตในกำลังพลในประเทศไทยที่ยังมีน้อยอยู่ เนื่องจากข้อจำกัดด้านบุคคลากร ทั้งด้านจิตแพทย์ และจิตวิทยา มองว่าปัจจุบันตำรวจที่พกอาวุธปืนเพื่อป้องกันเหตุให้กับประชาชน ไม่ใช่ทุกนายที่ประเมินสุขภาพจิตผ่าน
จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางอาชญากรรม ยังพบต่อต้นมาจากยาเสพติดเป็นอันดับที่ 1 ขณะเดียวกันการครอบครองอาวุธปืนในไทยยังถูกจัดอันดับเป็นที่ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 13 ของโลก เป็นพลเรือนครอบครองอาวุธปืน กว่า 10 ล้านกระบอก (ถูกกฎหมาย) เป็นอาวุธปืนของกองทัพประมาณ 1 ล้านกระบอก ตำรวจมีอาวุธประมาณ 2 แสนกระบอก โดยเป็นอาวุธปืนทางก่อคดีกว่า 3 หมื่นกระบอก และเสียชีวิตจากอาวุธปืนเป็นอันดับที่ 11 ของโลก
นอกจากนี้ข้อมูลจากทาง ศูนย์สุขภาพจิต DEPRESS WE CARE โรงพยาบาลตำรวจ ที่ให้คำปรึกษาแก่กำลังพล ที่มีปัญหาจากความเครียดทั้งจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือ ความเครียดจากปัญหาส่วนตัว ซึ่งจากจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 2 แสนนาย แต่ในข้อมูลปี 2561-2564 มีตำรวจเข้ามาปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตเพียงหลักร้อย หลักพัน เท่านั้น
ในเรื่องนี้ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ มองว่า หน่วยงานต้องปรับเปลี่ยนระบบในการเข้าไปประเมินปัญหาสุขภาพจิตของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตำรวจ หรือ หน่วยงานต่าง ๆ ควรมีการทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้นและเข้าถึงได้ง่าย เพราะปัญหาด้านสุขภาพจิตในบางรายอาจไม่ทราบว่าตนเองมีหรือเป็นอยู่ อาจเกิดการสะสมของปัญหาต่าง ๆ จนนำไปสู่การเกิดเหตุได้เช่นกัน
การวางแนวทางเรื่องการครอบครอง ‘อาวุธปืน’ – ‘ปัญหายาเสพติด’
โดยหลังเกิดเหตุกราดยิงดังกล่าว ล่าสุดทางรัฐบาล นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน
ในส่วนของเรื่องอาวุธปืน จะมีการกวดขันการบังคับใช้กฎหมายเครื่องกระสุนอาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการออกใบอนุญาตและการต่อใบอนุญาต และการพกพาทั้ง โดยผู้ที่ขออนุญาตจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน มีการตรวจสอบรับรองทาง ไม่วิกลจริตฟั่นเฟือน มีการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่ รวมถึงไม่มีพิษภัยต่อสังคม มีมาตรการตรวจสอบทบทวนคุณสมบัติทุกวงรอบและเวลาที่เหมาะ
พร้อมทั้งมีการหารือในเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนเมื่อพบปัญหาทางจิตพฤติการณ์มีพิษภัยต่อสังคม การใช้ยาเสพติด กวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อน การซื้อขายออนไลน์อย่างจริงจัง รวมไปถึงจำเป็นต้องทบทวนกฎหมายบางฉบับ กฎกระทรวง บางเรื่องที่จำเป็นให้มีความทันสมัยและสอดคล้องต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยได้มีการมอบหมายไปแล้วว่าจะดำเนินการอะไรอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของคณะทำงานที่ต้องเร่งดำเนินเรื่องนี้ออกมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สำหรับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ได้มีการทำอย่างเต็มที่ทั้งควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมี การเร่งติดตามขยายผล ทำลายนักค้ายาเสพติดและเร่งอายัติทรัพย์สิน การดำเนินการนำผู้เสพเข้าสู่ระบบข้อมูล รวมไปถึงทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย และประเด็นปริมาณครอบครองเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟู วันนี้ก็มีการหารือเรื่องจำนวน 5 เม็ด หากจำเป็นก็ต้องมีการปรับแก้กฎหมายพวกนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีการ
ขณะเดียวกันในส่วนของเจ้าหน้าที่ข้าราชการที่เข้าไปมีส่วนข้องเกี่ยวกับยาเสพติด จะต้องมีการลงโทษโดยเด็ดขาดในทุกกรณีทันที
วิธีบริหารจัดการสุขภาพจิต เมื่อต้องเสพข่าวที่มีผลกระทบต่อจิตใจ
นอกจากสภาพจิตใจ ของครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณืครั้งนี้ทั้งหมด ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขแล้วนั้น
ทางกรมสุขภาพจิต ยังแนะนำไปถึงประชาชนได้ที่รับข่าวสารความรุนแรงเช่นกัน ถึงการปฏิบัติเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพจิตของผู้รับข่าวสารเองด้วย ดังนี้
- การหลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มาก : ใช้เวลากับกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อลดอารมณ์ และความเครียดจากการรับข่าวสาร
- หยุดส่งต่อภาพความรุนแรง : ไม่ส่งภาพเหตุการณ์ หรือ คลิปเหตุการณ์ความรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่ออารมณณ์ และความรู้สึก
- ให้ความสำคัญกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น : ทั้ง อารมณ์ช็อก เสียชีวิต โกรธ ทำใจไม่ได้ รู้สึกผิด สงบและยอมรับ
- แบ่งปันความรู้สึก : การพูดคุย ระบายความรู้สึกโดยเน้นความเข้มแข็งของจิตใจ ที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้
- ถ้ารู้สึกไม่ไหว ขอคำปรึกษา : ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง