สำนักงานกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับ อาการ PBA ว่ามีอาการเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไรได้บ้าง? เบื้องต้นคือ ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการหัวเราะหรือร้องได้ปกติ
สาเหตุของโรค PBA
PBA เป็นภาวะความผิดปกติที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก อาจมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะผู้ป่วยจะร้องไห้โฮหรือจะระเบิดเสียงหัวเราะจนทำให้คนรอบข้างแตกตื่นขึ้นมาเมื่อไรก็ไม่รู้ได้ ผู้ป่วยหลายคนจึงมักจะเก็บตัวเงียบ เพราะไม่อยากไปร้องไห้ หรืออยู่ ๆ ก็หัวเราะในที่สาธารณะ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกแปลกแยก ไม่อยากเข้าสังคม และอาจนำมาซึ่งปัญหาทางด้านอารมณ์ได้ เชื่อกันว่า PBA เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) อาจเป็นผลข้างเคียงของโรค ดังต่อไปนี้
- การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง
- โรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก หรืออุดตัน (Stroke)
- โรคความจำเสื่อมและโรคพาร์กินสัน
- เนื้องอกในสมองบางชนิด
- โรคปลอกประสาทเสื่อม (Multiple Sclerosis)
อาการของคนเป็น PBA
- ร้องไห้หรือหัวเราะอย่างรุนแรง และไม่สามารถควบคุมความรู้สึกเหล่านั้นได้
- ผู้ป่วยส่วนมากไม่ได้รู้สึกอย่างที่แสดงออกจริง ๆ ร้องไห้หรือหัวเราะไม่เข้ากับสถานการณ์ที่เจอ
- การแสดงสีหน้าไม่ตรงกับอารมณ์
- อาการเป็นอย่างยาวนานเกินกว่าที่คาดไว้ มีอาการได้หลายครั้งต่อวัน
PBA แบบร้องไห้พบได้บ่อยกว่าแบบหัวเราะ
จากสถิติทางการแพทย์พบว่า ภาวะ PBA แบบร้องไห้พบได้บ่อยกว่าแบบหัวเราะ และในบางคนอาจเจอภาวะ PBA ทั้งแบบร้องไห้และหัวเราะเลยก็ได้ (แต่เคสนี้พบได้ไม่บ่อยนัก)
วิธีรักษา PBA ทำได้ ดังนี้
- พบแพทย์และอธิบายอาการกับแพทย์อย่างละเอียด เพื่อที่แพทย์จะได้แยกโรคระหว่าง PBA กับโรคทางอารมณ์อื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า หรือไบโพลาร์ได้
- ทำไดอารี่บันทึกช่วงเวลาที่มีอาการ
- รักษาด้วยยา ที่อาจช่วยให้อาการ PBA บรรเทาลงได้ จนผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อรู้ว่าป่วย PBA
- พูดคุยกับคนในครอบครัวให้เข้าใจภาวะ PBA ที่เราเป็น
- เมื่อมีอาการ สามารถใช้วิธีปรับเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อลดอาการได้ เช่น จากนั่งอยู่ก็ให้ลุกเดิน เดินอยู่ก็ให้นั่ง เป็นต้น
- ฝึกหายใจเข้า-ออก อย่างช้า ๆ ผ่อนคลายในทุก ๆ วัน
- พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และพยายามอย่าขาดยา
ที่มา : pr.moph.go.th