ประชากร 1 ใน 4 ทั่วโลก เสียชีวิตจากหลอดเลือดอุดตันในแต่ละปี จาก 4 ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงคือ การรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยโรคมะเร็ง การติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) และปัจจัยด้านกายภาพ
ศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งการอุบัติใหม่และกลับมาของเชื้อโรค และการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) นำไปสู่การรักษาที่ส่งผลต่อระบบการทำงานในร่างกาย โดยเฉพาะการเกิด ‘ลิ่มเลือด’ ที่จะไปชะลอการไหลเวียนของโลหิตในหลอดเลือด และนำมาสู่ภาวะ “หลอดเลือดอุดตัน” ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงได้ อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ และลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ จากรายงานของ International Society on Thrombosis and Haemostasis (ISTH) พบว่า 1 ใน 4 ของผู้คนทั่วโลก หรือราว 100,000 คนในแต่ละปีเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน ถือเป็นจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดในแต่ละปีจากโรคเอดส์ มะเร็งเต้านม และอุบัติเหตุทางรถยนต์รวมกัน[1]
“หลอดเลือดอุดตัน (Thrombosis)” ไทยมีผู้ป่วยประมาณปีละ 12,900-26,800 คน
หลอดเลือดอุดตัน (Thrombosis) เป็นภาวะที่ลิ่มเลือดก่อตัวและไปอุดตันในหลอดเลือด จากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติหรือผนังหลอดเลือดผิดปกติ สามารถเกิดได้ทั้งในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ซึ่งหากลิ่มเลือดที่อุดตันหลุดไปตามกระแสเลือด จะเป็นอันตรายต่อร่างกายและโรคอื่น ๆ ตามมา
สำหรับสถานการณ์ภาวะหลอดเลือดอุดตันในประเทศไทย จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับหลอดเลือดอุดตันในปอดพบว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ป่วยประมาณปีละ 12,900-26,800 คน คิดเป็นอัตราผู้ป่วย 200-400 คนในประชากรหนึ่งล้านคน[2]
ศ.นพ.พันธุ์เทพ กล่าวเพิ่มว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อ “หลอดเลือดอุดตัน” สามารถแบ่งออกเป็น 4 สาเหตุหลัก ๆ ได้ดังนี้
- ปัจจัยการเกิดลิ่มเลือดจากการรักษาตัวในโรงพยาบาล กว่า 60% ของผู้ป่วยหลอดเลือดอุดตัน เกิดขึ้นระหว่างการพักรักษาตัว หรือผู้ที่มีบาดเจ็บบริเวณหลอดเลือดจากการผ่าตัด ซึ่งการพักฟื้นเป็นระยะเวลานานจะทำให้ผู้ป่วยลดการขยับตัวนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดได้ ทั้งนี้ ในระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาลแพทย์จะป้องกันและรักษาด้วยการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย อาจมีการให้ยายาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือการใช้เครื่องช่วยให้เลือดที่ขาไหลเวียนดีขึ้น
- ปัจจัยการเกิดลิ่มเลือดจากโรคมะเร็ง สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความเสี่ยงเกิดภาวะหลอดเลืออุดตันร้ายแรงสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า โดยความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันจะขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็ง ระยะของโรคและวิธีการรักษา รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วย
- ปัจจัยการเกิดลิ่มเลือดจากการติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะวิกฤตเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดได้สูงกว่าบุคคลปกติ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้นประกอบกับการนอนพักฟื้นเป็นระยะเวลานาน สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่พักรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ควรขยับร่างกายสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ได้รับการยืนยันแล้วว่าไม่มีผลต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน
- ปัจจัยการเกิดลิ่มเลือดด้านกายภาพ หากมีบุคคลในครอบครัวเป็นหลอดเลือดอุดตันจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยในเพศหญิง อายุ 20 – 40 ปี มีความเสี่ยงมากกว่าเพศชายจากการใช้ยาคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์ กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มีโอกาสทั้งเพศหญิงและเพศชาย และบุคคลที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมส่วนบุคคลด้วย หากพบว่ามีอาการเจ็บ มีรอยแดง ลักษณะอุ่น ๆ บริเวณน่องหรือต้นขา หรือมีอาการบวมของขา ควรพบแพทย์เพื่อประเมินภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน
อย่างไรก็ตาม การป้องกันการเกิดโรคถือเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ดีที่สุด ซึ่งคนทั่วไปสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยมี 3 วิธีหลัก ๆ ดังนี้
- เปลี่ยนพฤติกรรมลดความเสี่ยง ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการลดความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดอุดตันทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง อาทิ การสูบบุหรี่ การนั่งเป็นเวลานาน ทั้งการนั่งทำงาน ขับรถ หรือการโดยสารเครื่องบินโดยอยู่ท่าเดิมเป็นระยะเวลานานกว่า 4 – 6 ชั่วโมง
- ขยับร่างกายและออกกำลังกาย การขยับบริหารกล้ามเนื้อหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายและดีที่สุด เพราะจะกระตุ้นระบบหมุนเวียนโลหิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถใช้วิธีง่าย ๆ และทำที่บ้านได้ อาทิ การลุกเดิน การหมุนข้อเท้า การยกเข่า การหมุนคอ บ่าและไหล่
- เช็คความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน หากมีอาการหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน เช่น มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับเลือด โรคหัวใจ หรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติการรักษาหลอดเลือดอุดตัน สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและวิธีการรักษาที่ถูกต้อง การรู้ล่วงหน้าจะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับภาวะหรือโรคร้ายแรงที่จะตามมาได้ทันท่วงที
“ทั้งนี้ ภาวะหลอดเลือดอุดตันเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ หากมีความเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือด โดย ISTH ได้จัดตั้ง ‘วันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day (WTD)’ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี พร้อมผลักดันแคมเปญ ‘Eyes Open to Thrombosis’ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือด อาการของโรค การป้องกันและรักษา ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันร่วมกันทั่วโลก” ศ.นพ.พันธุ์เทพ กล่าวสรุป
Did you know: วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day (WTD) จัดตั้งขึ้นในปี 2014 และกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันหลอดเลือดอุดตันโลก (World Thrombosis Day) โดยมีเป้าหมายในการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับหลอดเลือดอุดตันแก่สาธารณชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อจะช่วยลดการเสียชีวิตและความพิการโดยไม่จำเป็นจากหลอดเลือดอุดตัน ผ่านการสร้างการรับรู้ถึงสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง การแสดงอาการ และการป้องกันและรักษาตามอาการ นอกจากนี้ ภารกิจของวันหลอดเลือดอุดตันโลก (World Thrombosis Day) จะสนับสนุนเป้าหมายสากลของการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ว่าด้วยการลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคไม่ติดต่อลง 25% ภายในปี 2025 รวมถึงสนับสนุน Thirteenth General Programme of Work 2019-2023 ขององค์การนามัยโลก (World Health Organization) ตามแผนงานมอนเตวิเดโอโรดแมป 2018-2030 (the Montevideo Roadmap 2018-2030) ในหัวข้อโรคไม่ติดต่อ ในการประชุมผู้นำสูงสุดสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 3 ว่าด้วยโรคไม่ติดต่อ
ข้อมูลจาก: www.worldthrombosisday.org