คัดลอก URL แล้ว

ลืมเด็กไว้ในรถอันตรายกว่าที่คิด ‘เลี่ยง และรับมือ’ ก่อนสายเกินไป

ปัญหา ลืมเด็กไว้ในรถ จนได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เกิดขึ้นได้ในรถทุกประเภท และเกิดขึ้นได้ทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ขับขี่รถไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นภายในรถที่ร้อนมากเหมือนอยู่ในเตาอบเมื่อจอดกลางแจ้ง จนทำให้ผู้ที่อยู่ในรถนานเกิดภาวะตัวร้อนเกิน (Hyperthermia) จนสร้างความเสียหายต่ออวัยวะภายใน เช่น เลือด และสมอง หรือการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในห้องโดยสารที่มีปริมาณมากพอจนเกิดอันตราย

หากลืมคนที่คุณรักไว้ในรถนานเกิน 30 นาที นั่นหมายความว่ามีอีกชีวิตที่ต้องสูญเสียและถูกปรากฎในสื่อต่าง ๆ อีกครั้ง หากไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย และต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ควรศึกษาสิ่งนี้!

พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการลืมเด็กอยู่ในรถตามลำพัง

การออกจากรถกระทันหันโดยขาดการตรวจสอบ

ปัญหานี้เกิดจากที่ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารบางคนรีบออกจากรถ โดยขาดการตรวจสอบว่ามีเด็กอยู่ในรถหรือไม่ เนื่องจากเด็กหลับ หรือนั่งหลังสุดและกำลังจดจ่อกับสิ่งที่สนใจ เช่น ฟังเพลง หรือเล่นเกมจนไม่ได้สังเกตผู้โดยสารด้านหน้า โดยส่วนมากปัญหานี้จะเกิดจากรถยนต์ขนาดใหญ่ที่มีหลายที่นั่ง เช่น รถตู้, รถ SUV 7 ที่นั่งขึ้นไป ต่างจากรถ 5 ที่นั่งที่ยังคงสังเกตได้ไม่ยาก

การสั่งให้เด็กรออยู่ในรถตามลำพัง

“รอในรถแปปนะ เดี๋ยวทำธุระเสร็จจะรีบมา” อาจจะดูเหมือนสั้น ๆ แต่ในความเป็นจริง เจ้าของรถไม่สามารถควบคุมหรือบังคับเวลาได้อย่างที่ต้องการ เพราะบางครั้งอาจจะมีเหตุไม่คาดฝันเล็ก ๆ เช่น รอคิวนาน คุยโทรศัพท์ หรือคุยพนักงานขายจนทำให้เสียสมาธิ และลืมไปว่ามีเด็กร่วมเดินทางด้วยซึ่งหากผู้ขับขี่ทิ้งเด็กให้อยู่ในรถตามลำพังจะได้รับอันตรายจากความร้อนสะสมในตัวรถ หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่สะสมเป็นเวลานาน ๆ และถึงแม้จะเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ ก็ไม่ช่วยอะไรมากนัก และอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมอีกด้วย

และถึงแม้จะเปิดแอร์ทิ้งไว้ แต่ต้องอย่างลืมว่าแอร์รถสามารถทำงานได้เมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ ซึ่งนอกจากจะผลาญเชื้อเพลิง และปล่อยไอเสียออกข้างนอกจนสร้างความรำคาญแก่คนโดยรอบแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) เข้าสู่ภายในห้องโดยสารด้วย

ภาวะฟุ้งซ่านของผู้ขับขี่

ไม่ว่าคุณจะพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดจากงานและภาระที่สะสม หรือแม้แต่การหลงไปกับความคิดอื่น ๆ จะส่งผลให้ขาดการให้ความสนใจว่ามีใครอยู่ในรถด้วยหรือไม่จนทำให้เกิดการหลงลืมไปชั่วขณะ และจะอันตรายมากหากหลงลืมเด็กกระทันหัน และกว่าจะรู้ตัวอีกทีหากโชคดีก็อาจจะช่วยได้ทัน แต่ถ้ารู้ตัวช้าไปล่ะ?

ภาพประกอบจาก freepik.com

วิธีเลี่ยง – ป้องกันก่อนสาย

เช็คผู้โดยสารทุกครั้งทั้งก่อนขึ้นรถ และลงรถ

หากการเดินทางของคุณมีสมาชิกครอบครัว ทั้งเด็ก หรือผู้สูงอายุ ควรนับจำนวนสมาชิกก่อนเดินทาง และเมื่อถึงปลายทางก็ต้องนับจำนวนสมาชิกอีกครั้งด้วย

เปิดประตูท้าย หรือฝากระโปรงท้ายเช็คซ้ำ

ไม่ว่าจะเป็นรถแบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง ที่มีพื้นที่แคบ หรือรถตู้ขนาดเล็ก หากจะเช็คว่ามีใครยังค้างอยู่ในรถหรือไม่ ควรเปิดประตูท้าย หรือฝากระโปรงท้าย ซึ่งจะช่วยให้เช็คได้ง่ายขึ้น และยังช่วยดึงความสนใจแก่ผู้โดยสารด้านหลังได้ดีกว่าแค่ส่องหน้าต่าง หรือเคาะเฉย ๆ และควรทำให้เป็นกิจวัตรทุกครั้งที่ออกเดินทางอยู่เสมอ แม้จะมาแค่คนเดียวก็ตาม

แต่ถ้ารถตู้มีความสูงเพดานมากกว่า ก็สามารถเข้าเดินดูพื้นที่ด้านหลังรถไปพร้อม ๆ กับเปิดประตูท้ายเพื่อให้แสงส่องถึง แต่ต้องทำให้เป็นกิจวัตรทุกครั้งที่เดินทางอยู่เสมอ

หากจอดรถสนิท ควรให้ทุกคนออกจากรถให้หมด!

ไม่ว่าจะจอดรถกลางแจ้ง จอดรถในร่ม แล้วในรถมีผู้โดยสารทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ เพื่อนสนิท หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง เมื่อรถจอดสนิท ควรออกจากรถให้หมด และต้องไม่มีใครอยู่ในรถแม้แต่คนเดียว เพราะไม่มีทางรู้ว่าเวลาแปปเดียวนั้นจะนานแค่ไหน

หรือเป็นไปได้ หากไม่ได้มีธุระอะไรที่ต้องพาเด็กร่วมเดินทาง ควรให้พวกเขาอยู่ที่บ้าน หรือรับฝากสถานรับเลี้ยงเด็กชั่วคราวจะดีที่สุด

ฝึกให้เด็กกดแตร หากอยู่ในรถตามลำพัง

หากเกิดเหตุสุดวิสัยลืมเด็กไว้ในรถ ควรจะฝึกให้เด็กรับมือสถานการณ์ในการขอความช่วยเหลือจากคนภายนอกด้วยการกดแตรค้างแทนการกดสัญญาณไฟฉุกเฉิน เนื่องจากสัญญาณเสียงจะดึงคนภายนอกได้ดีกว่าสัญญาณแสง (หรือเปิดไฟฉุกเฉินพร้อมกดแตรค้างควบคู่กันได้) หรือหากเบาะหน้าฝั่งคนขับมีความร้อนสะสมสูง ควรหาผ้ามาปูรองเบาะกันร้อนเพื่อข้ามไปเบาะคนขับได้อย่างปลอดภัย เช่น ถอดเสื้อปูรองเบาะก่อน

ลูก กุญแจ กระเป๋าเงิน โทรศัพท์ทวนทุกครั้งก่อน และหลังลงจากรถ

เทคนิดเสริมสร้างความจำเมื่อมีเด็กร่วมเดินทาง ด้วยการวางอาหาร กระเป๋า หรือข้าวของเครื่องใช้ไว้เบาะหน้ารถ (หากเด็กมีอายุถึงเกณฑ์ให้นั่งด้านหลังได้) หรือจดลงกระดาษโน๊ตติดที่หน้าคอนโซลรถว่ามีเด็กอยู่ในรถ รวมถึงการวางกระเป๋าสตางค์ หรือกระเป๋าทำงานไว้ข้าง ๆ ตัวเด็ก เมื่อถึงที่หมายและจัดแจงก่อนเตรียมลงจากรถ ควรพูดเสียงดัง ๆ ว่า “ลูก กุญแจ กระเป๋าเงิน โทรศัพท์” เพราะสิ่งที่ท่องจำนี้เป็นสิ่งที่มีค่าที่ควรติดตัวอยู่เสมอ

พักผ่อนให้เพียงพอทั้งร่างกาย และลดความฟุ้มซ่านในจิตใจ

ในบางครั้งผู้ขับขี่อาจจะมีความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือจิตฟุ้งซ่านจนส่งผลต่อการหลงลืมชั่วขณะ ซึ่งหากวันใดต้องพาเด็กร่วมเดินทาง ควรเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจให้พร้อม อาทิ พักผ่อนให้เพียงพอ, เปิดโหมดเครื่องบินในโทรศัพท์มือถือ, ฝึกหายใจหรือฝึกคิดบวก, ใช้ GPS เมื่อเดินทางในเส้นทางใหม่

รวมทั้งเมื่อรถติด หรืออยู่ในระหว่างพักเติมน้ำมัน ควรคุยกับเด็ก หรือดูผ่านกระจกมองหลังเพื่อให้รู้ว่ายังมีพวกเขาร่วมเดินทางอยู่


การลืมเด็ก หรือลืมผู้โดยสารให้อยู่ในรถตามลำพัง นอกจากจะก่อให้เกิดอันตรายแล้ว ยังผิดกฎหมายอีกด้วย โดยกฎหมายอาญา มาตรา 291 ระบุไว้ว่า “ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

แม้ในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีแจ้งเตือนผู้โดยสารด้านหลัง แต่ก็ยังมีเฉพาะในรถรุ่นใหม่เท่านั้น สำคัญที่สุดคือการตระหนัก รับรู้ ตั้งสติ เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการลืมสมาชิกไว้ในรถตามลำพัง และควรหมั่นตรวจสอบผู้โดยสารทุกที่นั่งให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียที่เลวร้ายที่สุดเกินกว่าที่จะรับได้

เพราะทุกชีวิตมีคุณค่า และมีกฎหมายคุ้มครองอยู่เสมอ

เครดิตข้อมูลจาก raisingchildren.net.au , seattlechildrens.org และ autodeal.com.ph


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง