คัดลอก URL แล้ว
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตรวจสถานีสูบน้ำบางซื่อ ชี้หัวใจหลักของการระบายน้ำคือ คลอง-ปั๊ม

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตรวจสถานีสูบน้ำบางซื่อ ชี้หัวใจหลักของการระบายน้ำคือ คลอง-ปั๊ม

KEY :

วานนี้ (29 ก.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของสถานีสูบน้ำบางซื่อ ว่า วันนี้ก็มาตรวจระบบระบายน้ำ จริง ๆ แล้ว ระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ มีหลัก ๆ 2 ส่วน คือ ระบบคลองกับระบบอุโมงค์ระบายน้ำ เป็นทางด่วนน้ำที่อยู่ในระดับลบ 30 เมตร และมีอาคารรับน้ำเป็นจุด ๆ ไป เราจะพูดเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำเยอะมาก แต่จริง ๆ แล้ว หัวใจของกรุงเทพฯ ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกคือ ตัวคลอง อุโมงค์ระบายน้ำเราทำมา 4 โครงการ มีอยู่แค่ 20 กิโลเมตร รับน้ำได้ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่กรุงเทพฯ ต้องระบายน้ำทั้งสองฝั่งเกือบ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ดังนั้นคลองจึงเป็นหัวใจหลัก คือ คลองจะดันน้ำมาตามคลอง มาถึงประตูระบายน้ำซึ่งมีประตูกั้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วต้องสูบออก อาจจะมีคลองย่อย ฉะนั้นต้องทยอยน้ำไปเรื่อย ๆ จากคลองหลักไปแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งสำคัญที่สุดคือยุทธศาสตร์ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพคลอง เราทำแต่อุโมงค์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะอุโมงค์รับน้ำได้เป็นจุด ๆ

แต่ถ้าจะกระจายในพื้นที่ คลองมีความสำคัญ วันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เรามาดูที่คลองบางซื่อ คลองบางซื่อเป็นตัวหลักเพราะรับน้ำจาก 2 คลอง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดแก้วฟ้า จะตัดคลองเหนือใต้ 2 คลองคือคลองเปรมประชากรที่มาจากดอนเมือง กับคลองลาดพร้าว หรือคลองสอง คลองบางบัว นอกจากนี้คลองลาดพร้าวยังตัดกับคลองแสนแสบด้วย โดยคลองลาดพร้าวมี 2 อุโมงค์ คือ รับน้ำตรงอุโมงค์ที่แสนแสบตรงพระราม 9 กับอุโมงค์ที่บางซื่อ

กรณีปั๊มน้ำ 17 ตัว

โดยวันนี้มาดูเรื่องระบบระบายน้ำ ซึ่งที่บางซื่อมีตัวปั๊มน้ำ 17 ตัว ดูดน้ำตัวละ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์บางซื่อระบายได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่สำคัญคือตัวปั๊ม 17 ตัว เปลี่ยนไปแล้ว 5 ตัวเป็นตัวใหม่ ส่วนอีก 12 ตัวที่เหลือมีอายุ 15 ปี เนื่องจากอายุมันเยอะประสิทธิภาพก็ลดลง อย่างที่ท่านที่ปรึกษาได้มาดู ปั๊มตัวหนึ่งที่เปลี่ยนไป ราคาตัวละ 4 ล้านบาทรวมติดตั้ง ถ้าเราปรับพวกนี้ มันลงทุนไม่เยอะเมื่อเทียบกับอุโมงค์ระบายน้ำ อุโมงค์ตัวหนึ่งอย่างบึงหนองบอนก็ 5 พันล้าน

ถ้าเราปรับประสิทธิภาพของปั๊มน้ำ ราคาก็ไม่ได้แพง เชื่อว่าการระบายน้ำจะดีขึ้น หัวใจหลักตอนนี้ต้องไล่ทุกจุดว่าปั๊มต้องทำงานได้ดี เรื่องระบบไฟ 190 สถานีต้องไปไล่ทุกจุด ตอนนี้ได้ดำเนินการแล้ว ประสิทธิภาพของปั๊มต้องทันสมัยเต็มที่ตามที่ได้ออกแบบไว้ ประสิทธิภาพของคลองเอง ความตื้นเขิน หัวใจคือท้องคลอง ตอนนี้รักษาระดับอยู่ที่ลบ 1 เมตร หัวปั๊มเวลาจุ่มน้ำ ต้องมีระยะให้ดูดน้ำได้ พอคลองตื้นไม่ได้ลอกทำให้เราพร่องน้ำได้ไม่เต็มที่ พอฝนตกไม่นานก็เต็มคลอง

เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มทำการลอกคลองให้มันกินน้ำได้ลึกขึ้น ต้องรีบดำเนินการ ถ้ามีเขื่อนจะช่วยลดได้ถึงลบ 3.5 เมตรได้ แต่ถ้าไม่มีจะมีดินสไลด์ข้างทาง ฉะนั้น 2 โครงการนี้ต้องไปด้วยกัน ทั้งการทำเขื่อนและการขุดลอกคลอง จะขุดลอกหน้าประตูระบายน้ำให้ลึกขึ้นอาจจะลบ 5 เมตร เป็นแก้มลิงอยู่หน้าประตูระบายน้ำหน้าสถานี ทำให้การสูบน้ำง่ายขึ้น เหมือนเรามีแอ่งน้ำก่อนถึงสถานีสูบน้ำ น้ำก็จะไหลลงมา เราก็เข้าพร่องน้ำตรงนี้ให้เยอะ ๆ มันก็จะดึงน้ำจากที่ไกล ๆ เข้ามาได้

“เรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพคลองเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ ไม่ต้องใช้เงินเยอะเหมือนอุโมงค์ระบายน้ำ นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพคลองให้ดี”

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ปัญหาขยะในคลองบางซื่อ

เรื่องต่อมาคือ เรื่องขยะอย่างที่คลองบางซื่อเอง พี่ ๆ เจ้าหน้าที่เก็บขยะได้วันละ 3 ตัน ไม่ได้มาจากธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราทิ้งลงในคลอง ก็ต้องฝากกัน มีหลายครั้งที่ผมได้ยินในวิทยุ ขยะเข้าไปในเครื่องสูบน้ำ ทำให้เครื่องสูบน้ำพังเลย ก็ต้องฝากพวกเราให้ช่วยกัน อย่าทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง ขยะชิ้นใหญ่อย่าทิ้ง พี่เขาต้องลงดำน้ำไปเก็บขยะ แทนที่จะได้ดูเรื่องปั๊ม ที่นี่จะมีตะแกรงอัตโนมัติแต่ก็ต้องมีคนลงไปช่วยดู วันนั้นไปพระราม 9 วันละ 5 ตัน

หลัก ๆ คือประสิทธิภาพของคลอง ซึ่งจะอยู่ในแผนงบปี 66 ปี 65 ถ้ามีเงินเหลือก็จะเร่งทำระบบระบายน้ำให้ดีขึ้น อุโมงค์ระบายน้ำเป็นแผนระยะยาว ไม่สามารถทำได้เร็ว ซึ่งมีอยู่หลายโครงการพยายามใช้เงินให้ได้คุ้มค่ามากที่สุด ใช้เงินน้อยให้ประโยชน์มากที่สุด อันไหนที่ยังไม่สำคัญชะลอไปก่อน ประสิทธิภาพของคลองให้ดี เชื่อว่ามันจะสามารถทำให้ดี เราทำเส้นเลือดฝอย ลอกท่อ ปรับขนาดท่อ ทำ Pipe Jacking ที่จำเป็น เพื่อเอาน้ำจากในซอยลงมาที่คลองให้ได้ คลองส่วนหนึ่งก็แบ่งลงมาอุโมงค์ ส่วนหนึ่งก็ลงประตูระบายน้ำ

โดยมองว่าเป็นมิติที่ดีมาก ทหารก็ช่วย การที่เราร่วมมือกันทำให้งานเดินหน้าได้เร็วและก็ไม่ใช้งบประมาณเยอะเลย หลาย ๆ ที่ที่ทำไปเสียงตอบรับก็ดี ขณะเดียวกันก็ยังมีจุดอ่อน อย่างเมื่อวานไปดูซอยนาคนิวาส 48 แยก 14 มีใน Traffy Fondue 60 ครั้ง ที่เราไปนั่งมอเตอร์ไซค์ดู ไม่ได้สร้างภาพนะ คือไปให้เห็นชีวิตจริง ๆ ว่าเส้นเลือดฝอยเขาอยู่กันยังไง ไปคุยกับชาวบ้านว่าน้ำท่วมตรงไหน ถ้าเราอยู่ในห้อง war room เราเห็นแต่ภาพใหญ่ ปลีกย่อยที่ต้องลงไป ทุกคนก็ต้องรายงานเข้ามา สำนักการระบายน้ำต้องเอาจุดเหล่านี้ขึ้นแผนที่ให้หมด ชุดใหญ่ ชุดเล็ก ชุดย่อย และต้องมี strategy หรือกลยุทธ์ยังไงที่จะตอบจุดพวกนี้

“ปรับปรุงประสิทธิภาพคลองเป็นเรื่องสำคัญ ปรับปรุงประตูน้ำ ปรับปรุงระบบปั๊ม ปรับปรุงการลอกคลอง การเก็บขยะ ต้องเร่งทำ คือเราไปเน้นเรื่องอุโมงค์มาก หัวใจสำคัญต้องทำทั้งคู่ ทำให้ balance อุโมงค์ก็ต้องเดินไป สุดท้ายถ้า 2 ระบบเสร็จพร้อมกัน ก็จะเกื้อกูลกันและทำงานได้อย่างเต็มที่”

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง