คัดลอก URL แล้ว
สิ้นฉายา! ” เร็วแรงทะลุนรก ” สาย 8 ชำแหละรถนำเศษเหล็กไปขาย ได้เงิน 50,000 ต่อคัน

สิ้นฉายา! ” เร็วแรงทะลุนรก ” สาย 8 ชำแหละรถนำเศษเหล็กไปขาย ได้เงิน 50,000 ต่อคัน

KEY :

จากกรณี ขสมก. และกรมการขนส่งทางบก ออกแผนการปฏิรูปรถเมล์ ทำให้รถเมล์สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ในตำนาน ที่ผู้คนใช้บริการผ่านมาหลายยุคสมัยนั้น ไม่ผ่านคุณสมบัติในเส้นทางสัมปทานเดินรถ ของรถร่วม ขสมก. จึงต้องยุติการให้บริการประชาชชน ซึ่งทางบริษัท ไทยบัส ขนส่ง จำกัด คือ 1 ใน 3 บริษัท

วานนี้ (18 กรกฎาคม 65) ความคืบหน้าล่าสุด ที่ บริษัท ไทยบัสขนส่ง จำกัด ถนนนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. น.ส.ฑิราภรณ์ เมธิสริยพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายเดินรถ บริษัทไทยบัสขนส่ง แถลงข่าวเปิดใจ หลังบริษัทไม่ได้รับสัมปทาน และสงสัยผลการประเมินไม่ผ่านคุณสมบัติข้อใดบ้าง

ทั้งนี้น.ส.ฑิราภรณ์ เปิดเผยว่า บริษัทไทยบัสได้รับสัมปทานจาก ขสมก. ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2559 – 31 ก.ย. 2566 ระยะเวลา 7 ปี มีรถเมล์ทั้งหมด 26 คัน แต่ในปี 2561 รัฐบาลมีแผนปฎิรูปเส้นทางเดินรถเมล์ โดยต้องไปขอใบอนุญาติจากกรมการขนส่งทางบก ต่อมาในช่วงเดือน ธ.ค. 2564 บริษัทได้ยื่นเรื่องต่อสัมปทานเดินรถเมล์สาย 8

หลังจากนั้นในช่วงเดือน มี.ค. 2565 กรมการขนส่งทางบก ส่งจดหมายแจ้งว่า บริษัทไม่ได้รับเลือกสัปทานเดินรถเมล์สาย 8 สะพานพุทธ – แฮปปี้แลนด์ ซึ่งตัวเองเพิ่งได้รับจดหมายประมาณวันที่ 6 เม.ย. 65 เป็นช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ จึงได้ส่งเรื่องอุทรณ์คำสั่ง ทวงถามผลการประเมิน ในวันที่ 18 เม.ย. 65 จากนั้น ในวันที่ 20 พ.ค. 65 กรมการขนส่งทางบก ได้ส่งหนังสือตอบกลับมา ไม่รับคำอุทรณ์ เนื่องจากทางบริษัทยื่นอุทรณ์เกินกำหนด 15 วัน ผู้ประกอบการต้องไปยื่นเรื่องที่กรมการปกครอง ภายใน 90 วัน ซึ่งตอนนี้มีผู้ประกอบบางรายไปยื่นแล้ว ตัวเองจึงสงสัยในวันที่ได้รับจดหมาย ติดกับวันหยุดยาวสงกรานต์ทำไมถึงยื่นไม่ทัน

ส่วนอีกเรื่องที่ตัวเองสงสัยอยากให้กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยคะแนนว่าบริษัทตนได้เท่าไหร่ และบริษัทใหม่ที่ได้สัมปทานได้เท่าไหร่ เพื่อนำมาเปรียบเทียบว่าแพ้ตรงไหนบ้าง จะได้ยอมรับคำตัดสิน อยากให้เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส

“ โดยเกณฑ์การพิจารณาจากกรมการขนส่งทางบก 100 คะแนน มาจากคุณภาพการให้บริการ 45 คะแนน , ความน่าเชื่อถือ 10 คะแนน , มลพิษและสิ่งแวดล้อม 15 คะแนน , การพัฒนารูปแบบบริการ 20 คะแนน และผู้ประกอบการรายเก่าจะได้สิทธิเยียวยา 10 คะแนน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทตัวเองก็พยายามปรับปรุงเพื่อรองรับแผนการปฏิรูปรถเมล์ ตอนนี้ไม่มีผู้ประกอบการรายเก่า ได้รับสัมปทานรถเมล์เลย “ น.ส.ฑิราภรณ์ กล่าว

น.ส.ฑิราภรณ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงโควิด 3 ปี บริษัทขาดทุน คันละ 2,000 บ. ต่อวัน ไม่มีเงินเติมก๊าซ ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตอนนี้มีหนี้สิน 30 ล้าน มาจากหนี้การทำธุรกิจ และหนี้จากเรื่องค่าตอบแทน ขสมก. เกือบ 2 ล้านบาท ที่ทำสัญญาไว้ว่าต้องแบ่งรายได้ให้ ขสมก. คันละ 38 บาท แต่ในช่วงโควิดกลางปี 64 ไม่มีเงินจ่าย แต่ทางกรมการขนส่งทางบก กลับยึดเงินค้ำประกันสัญญา 3 แสน และเงินค้ำประกันอุบัติเหตุ 6 แสนบาท ที่บริษัทจ่ายไป ตัวเองมองว่าไม่เป็นธรรม อยากให้รัฐบาลยกหนี้ให้ผู้ประกอบการ ตอนนี้ตนเดินออกไปจากธุรกิจไม่มีเงินสักบาท ซ้ำยังเป็นหนี้อีกด้วย

ส่วนพนักงานเกือบ 20 ชีวิต ไม่มีทางตกงาน ตัวเองได้ติดต่อไปยัง บริษัทที่ได้สัมปทานรถเมล์ เพื่อฝากพนักงานทั้งหมดเข้าทำงาน ซึ่งเขาก็ยินดีรับพนักงานทุกคน ส่วนรถเมล์ 26 คัน ขณะนี้ทยอยชำแหละนำเศษเหล็กไปขาย ได้เงินมา 50,000 บาทต่อคัน ชำแหละไปแล้ว 30% ซึ่งประมาณเดือน สิ.ค. 65 จะหยุดเดินรถเมล์ 100% น.ส.ฑิราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย


ภาพ – วิชาญ โพธิ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง