KEY :
- ก่อนหน้านี้มีเหตุไฟฟ้า เนื่องมาจากหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดย่านสำเพ็ง จนเกิดกระแสเรียกให้มีการจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร
- ‘จังหวัดตรัง’ ถือได้ว่าเป็นจังหวัดแรกในการนำร่องปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้า นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 2545 โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)
- ปัจจุบันมีการดำเนินการนำสายไฟฟ้าลงดินแล้วเสร็จ 7 โครงการ ระยะทางรวมกว่า 40 กิโลเมตร
- กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมมือกับทาง กสทช. จัดระเบียบสายสื่อสาร ระยะทาง 800 กิโลเมตร ในบริเวณ 16 เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน นำร่องทำในพื้นที่เร่งด่วนก่อน 350 กิโลเมตร
ภาพคุ้นชินกับเสาไฟฟ้าในบ้านเรา ที่มีทั้งสายไฟและสายสื่อสารพันคดเคี้ยวเยี่ยงเถาวัลย์ เป็นที่ต้องเหลียวมองทุกครั้งจนดังไปไกลถึงต่างแดน เมื่อครั้งนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง รัสเซล โครว์ ได้มีโอกาสมาถ่ายทำภาพยนตร์ ณ เมืองไทย เมื่อช่วงปลายปี 64 ยังต้องสะดุดตากับสายไฟบ้านเรา ที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่อเมซิ่งไทยแลนด์กับตัวเขาอย่างมาก ถึงกับต้องลั่นชัตเตอร์บันทึกภาพเก็บไว้พร้อมลงโซเชียลกันเลยทีเดียว หรือแม้แต่ในสื่อต่างประเทศอย่าง ญี่ปุ่น ก็ยังเคยออกข่าวเกี่ยวกับเรื่องการจัดการสายไฟในบ้านเรามาแล้วเช่นกัน
และเหตุการณ์ล่าสุดกรณีเหตุหม้อแปลงระเบิดย่านสำเพ็งเมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จนเกิดเหตุไฟไหม้ตึกที่อยู่บริเวณดังกล่าว รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตด้วยเช่นกัน จนนำไปสู่การร่วมวงถกปัญหาและแก้ไขเรื่อง ‘สายไฟ-สายสื่อสาร’ ที่มักก่อเกิดปัญหาทั้งไฟไหม้อยู่บ่อยครั้งตามที่ปรากฏหน้าสื่อต่าง ๆ เพื่อจัดระเบียบจากบนดินสู่ ‘สายไฟลงดิน’
การนำสายไฟลงดินในบ้านเรานั้น ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 2545 โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ซึ่ง ‘จังหวัดตรัง’ ถือได้ว่าเป็นจังหวัดแรกในการนำร่องปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้า นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เพื่อเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงามและส่งเสริมการท่องเที่ยว
นอกจาก จ.ตรัง แล้ว ยังมีเมืองใหญ่ที่นำระบบไฟฟ้าลงใต้ดินเป็นถนนไร้สาย เช่น น่าน ภูเก็ต หาดใหญ่ พัทยา ขอนแก่น นครพนม และเชียงใหม่ รวมถึงในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่แค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคง ปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติและอุบัติภัยต่าง ๆ รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และเพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิมขึ้น ตามการเติบโตและความต้องการการใช้ไฟฟ้าในอนาคต
การนำสายไฟลงใต้ดิน
ระบบการจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะประกอบไปด้วย 3 หลัก คือ 1.ระบบไฟฟ้าแรงสูง 2.ระบบไฟฟ้าแรงต่ำ และ 3.หม้อแปลง โดยในส่วนของระบบไฟฟ้าแรงสูงนั้นจะก่อสร้างวางท่อร้อยสายระบบไฟฟ้า บริเวณกึ่งกลางถนน (แนวการก่อสร้างขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง)
ซึ่งการก่อสร้างวางท่อร้อยสายจะใช้วิธีก่อสร้างแบบดันท่อลอด ตามแนวการก่อสร้างท่อร้อยสาย โดยจะมีการก่อสร้างพ่อพักสายไฟฟ้า ในตำแหน่งที่ต้องจ่ายไฟให้หม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งสายไฟฟ้าสำหรับใช้ในระบบใต้ดินนั้น จะเป็นสายชนิดพิเศษออกแบบมาให้สามารถแช่อยู่ในน้ำได้โดยไม่เกิดอันตราย
ในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่บนถนนหลัก จะย้ายไปติดตั้งใหม่ตามซอยแยกและรูปแบบการติดตั้งหม้อแปลงยังคงก่อสร้างเหมือนเดิม
ส่วนระบบไฟฟ้าแรงต่ำ จะก่อสร้างท่อร้อยสายระบบไฟฟ้าบริเวณฟุตปาธตลอดทั้งสองฝั่งถนน ก่อสร้างวางท่อร้อยสายด้วยวิธีการสร้างแบบขุดเปิดถนน รวมถึงก่อสร้างบ่อพักสายไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นจุดต่อแยกสายจ่ายไฟให้ผู้ใช้ไฟฟ้า โดยสายไฟฟ้าสำหรับใช้ในระบบใต้ดินนั้น จะเป็นสายชนิดพิเศษออกแบบมาให้สามารถแช่อยู่ในน้ำได้โดยไม่เกิดอันตราย
โดยจุดจ่ายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจะมีการติดตั้งตู้ Circuit Breaker เพื่อเป็นอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับผลกระทบต่อเหตุไฟฟ้าดับลดลง
ประโยชน์ของการนำสายไฟลงดิน
1.ระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่มั่นคง
ระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ช่วยเสริมสร้างความมั่นคง ปลอดภัย ของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น อุบัติเหตุจากรถชนเสาไฟฟ้า ฝนตกลมแรงซึ่งอาจพัดกิ่งไม้หรือป้ายโฆษณามาเกี่ยวสายไฟฟ้าทำให้เกิดความเสียหายและความอันตรายได้
2.รองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ จึงสามารถรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสังคมเมือง และนับวันการใช้ไฟฟ้า ยิ่งมีบทบาทกับเรามากขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
3.ช่วยทำให้ทัศนียภาพสวยงาม
ประเทศไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญ การไฟฟ้านครหลวงเร่งมือนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เพื่อทัศนียภาพที่สวยงาม อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตาชาวต่างชาติ
จัดระเบียบสายสื่อสาร 800 กม. ใน 16 เขต กรุงเทพฯ
ปัญหาสายสื่อสารเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องถูกจัดระเบียบ จริงอยู่ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการทั้งสายเคเบิ้ล สายอินเตอร์เน็ตต่าง ๆ ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนตามความต้องการเข้าไปอีก ส่งผลทำให้เรามักเห็นภาพสายสื่อสารที่รุงรังไม่เป็นระเบียบ มิหนำซ้ำบางพื้นที่ยังเคยมีมีผู้ประสบเหตุจากสายสื่อสายที่ห้อยลงมาจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่นับรวมเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้สายไฟและสายสื่อสาร
เมื่อไม่กี่วันมานี้ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมมือกับทางกระทรวงดิจิทัลฯ กสทช. และโอเปอเรเตอร์ค่ายต่าง ๆ ในการหารือการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน พร้อมทั้งมีการพื้นที่ บริเวณทางเท้า ถนนสุรศักดิ์ ใกล้สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา เพื่อตรวจดูสภาพสายสื่อสารที่รกรุงรัง ในโครงการจัดระเบียบสายไฟ สายสื่อสาร ซึ่งบางจุดอยู่เหนือศีรษะประชาชนจนเอื้อมมือไปสัมผัสได้
โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ เปิดเผยว่า เรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทางกระทรวงฯ ทำงานร่วมกับ กสทช. ใช้งบประมาณจากเงินอุดหนุนของกองทุนยูโซ่ 700 ล้านบาท รวมระยะทาง 800 กิโลเมตร ในบริเวณ 16 เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน นำร่องทำในพื้นที่เร่งด่วนก่อน 350 กิโลเมตร
ถนนเส้นไหนบ้างใน กทม. นำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว
โครงการสีลม รวม 2.7 กม.
- ถนนสีลม (จากแยกเจริญกรุง – แยกศาลาแดง)
โครงการปทุมวัน รวม 6.7 กม.
- ถนนพระรามที่ 4 (จากหน้าอาคารโอลิมเปีย – สี่แยกสามย่าน)
- ถนนพญาไท (จากสี่แยกสามย่าน – สี่แยกราชเทวี)
- ถนนพระรามที่ 1 (จากสี่แยกปทุมวัน – สี่แยกราชประสงค์)
- ถนนเพลินจิต (จากสี่แยกราชประสงค์ – ทางรถไฟ)
- ถนนราชดําริ (จากเชิงสะพานเฉลิมโลก – สี่แยกศาลาแดง)
โครงการจิตรลดา รวม 6.8 กม.
- ถนนพระราม 6 (จากถนนเพชรบุรี – ถนนราชวิถี)
- ถนนศรีอยุธยา (จากถนนพระราม 6 – ถนนสวรรคโลก)
- ถนนราชวิถี (จากถนนพระราม 6 – ถนนสวรรคโลก)
- ถนนสวรรคโลก (จากถนนราชวิถี – ถนนสุโขทัย)
- ถนนสุโขทัย (จากถนนสวรรคโลก – ถนนพิชัย)
- ซอยสุโขทัย 3 (ตลอดซอย)
- ถนนพิชัย (จากถนนสุโขทัย – ถนนราชวิถี)
- ถนนอู่ทองใน (จากถนนราชวิถี – ถนนราชดําเนินนอก)
- ถนนราชดําเนินนอก (จากถนนอู่ทองใน – ถนนพิษณุโลก)
- ถนนพิษณุโลก (จากถนนราชดําเนินนอก – ถนนพระราม 6)
- ถนนนครสวรรค์ (จากถนนพิษณุโลก – คลองผดุงกรุงเกษม)
โครงการพหลโยธิน รวม 8 กม.
- ถนนพหลโยธิน (จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – ถนนลาดพร้าว)
- ถนนประดิพัทธ์ (จากถนนพหลโยธิน – ถนนพระราม6)
- ถนนวิภาวดีรังสิต (จากบริษัทการบินไทยจํากัด – ซ.เฉยพวง และซ.เฉยพ่วง)
- ซ.แยกถนนพหลโยธิน คือ ซ.พหลโยธิน 7 และ8
โครงการพญาไท รวม 3.8 กม.
- ถนนพญาไท (จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – ถนนเพชรบุรี)
- ถนนโยธี (จากถนนพญาไท – ซอยเสนารักษ์)
- ถนนศรีอยุธยา (จากถนนพญาไท – ถนนราชปรารภ)
- ถนนเพชรบุรี (จากถนนพญาไท – ถนนบรรทัดทอง)
โครงการสุขุมวิท รวม รวม 12.6 กม.
- ถนนสุขุมวิท (จากถนนเพลินจิต – ซอยสุขุมวิท 81)
- ซอยแยกถนนสุขุมวิท คือ ซอยสุขุมวิท 3, 15, 18, 20, 22, 24, 31 และ 33
โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) รวม 6 กม.
- ถนนโยธี (ซอยเสนารักษ์ – ถนนพระราม 6)
- ถนนศรีอยุธยา (แยกพญาไท – ซอยศรีอยุธยา 7)
- ถนนเพชรบุรี (แยกบรรทัดทอง – แยกอุรุพงศ์)
- ถนนราชปรารภ (แยกประตูน้ำ – แยกศรีอยุธยา)
- ถนนพระรามที่ 1 (แยกปทุมวัน – เชิงสะพานกษัตริย์ศึก)
- ถนนราชวิถี (จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – ถ. พระราม 6)
…
ปัญหาเรื่องสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร ยังคงเป็นเรื่องหนึ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นการจัดระเบียบให้ดีขึ้น เพราะนอกจากจะสร้างทัศนียภาพ สร้างความสวยงามในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว ยังลดการเกิดไฟไหม้จากสายไฟฟ้าและสายสื่อสารได้เป็นอย่างดี และเพิ่มความมั่นใจแก่ประชาชนทั้งด้านชีวิตและทรัพย์มากยิ่งขึ้น
ข้อมูล :
- กรุงเทพมหานคร
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- การไฟฟ้านครหลวง
- rocketmedialab