KEY :
- ประเทศอิตาลีเผชิญปัญหาภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ 70 ปี หลังปริมาณฝนลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา
- ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายไปกว่า 30% ในขณะที่บางพื้นที่เสียหายไปกว่าครึ่ง
- รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินจากวิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้น และจัดสรรงบประมาณกว่า 36 ล้านยูโร เพื่อต่อสู้กับปัญหาภัยแล้งในครั้งนี้
…
รัฐบาลอิตาลีตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินจากปัญหาภัยแล้งใน 5 ภูมิภาคทางตอนเหนือของประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ของภัยแล้งวิกฤติหนักขึ้น พร้อมจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉิน โดยในภูมิภาคทั้ง 5 ประกอบไปด้วย
- Emilia-Romagna
- Friuli-Venezia Giulia
- Lombardy
- Piedmont
- Veneto
โดยในช่วงที่ผ่านมา อิตาลีเผชิญปัญหาจากคลื่นความร้อนที่ผิดปรกติ ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 และเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณฝนนั้นลดลงไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดสู่ปัญหาภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี
ซึ่งจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลง และความร้อนจากสภาพอากาศส่งผลให้ภัยแล้งคุกคามในพื้นที่ทั้ง 5 ภูมิภาคของประเทศ จนผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบลดลงมากกว่า 30% จากที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่ Po Valley นั้น ผลผลิตทางการเกษตรกว่าครึ่งหนึ่งเสียหายจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ซึ่งพื้นที่ในแถบนี้ ถือเป็นพื้นที่แหล่งน้ำสำคัญในประเทศ น้ำที่กักเก็บไว้จะถูกใช้การในการทำนาข้าว เลี้ยงสัตว์
ในขณะที่เมือง Verona มีรายงานว่า ประชากรราว 2.5 แสนราย จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรน้ำจากทางการเพื่อใช้ในการบริโภค ส่วนที่เมืองมิลาน มีการประกาศปิดน้ำพุบางแห่งเพื่อประหยัดน้ำ
นอกจากนี้ ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง ยังส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่ง ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่ทางตอนเหนือของอิตาลี เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าราวร้อยละ 20 ของประเทศ
จากวิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้นในอิตาลี ทำให้ทางการต้องจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉิน โดยรัฐบาลได้จัดสรรเงินช่วยเหลือ 36.5 ล้านยูโร เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
…
นักวิจัยระบุ ฝนลดลงไปกว่า 65%
ตั้งแต่เดือนธ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณทางตอนเหนือของอิตาลีมีฝนตกน้อยมาก ซึ่งปริมาณฝนลดลงไปราว 65% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 1991 – 2020 ส่งผลให้อิตาลีต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง
ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ลำน้ำต่าง ๆ เริ่มแห้งขอดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะนี้แหล่งน้ำจากหิมะที่ละลายลงมาในช่วงฤดูร้อนนั้น มีจำนวนน้อยกว่าปรกติ จากการสะสมของหิมะที่ต่ำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเทือกเขาแอลป์ตอนใต้
ข้อมูล – https://joint-research-centre.ec.europa.eu/jrc-news/ongoing-drought-northern-italy-threatens-agriculture-yields-and-energy-production-commission-studies-2022-04-08_en