คัดลอก URL แล้ว
IFRA IIoT แพลตฟอร์มซอฟท์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรด้วยพลังจากข้อมูล ‘ณัฐพล รักวงษ์’ CEO & Co-founder บริษัทไอฟราซอฟต์ จำกัด

IFRA IIoT แพลตฟอร์มซอฟท์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรด้วยพลังจากข้อมูล ‘ณัฐพล รักวงษ์’ CEO & Co-founder บริษัทไอฟราซอฟต์ จำกัด

คงไม่มีใครชอบ ‘ปัญหา’ และคนส่วนใหญ่มักจะหลีกหนีเพราะไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไรดี แต่สำหรับ ณัฐพล รักวงษ์ ธุรกิจในมือที่กำลังเติบโตและต่อยอดไปได้อีกไกลนั้น เกิดจากการวิ่งเข้าใส่ ‘ปัญหา’ และนำมาเป็นตัวตั้งต้นเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เมื่อพบปัญหา แม้จะยังแก้ไขไม่ได้ สิ่งที่เขาทำคือการเจาะลึก ขุดค้นลงไป และสร้างวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ต้องการจะไปให้ถึง แม้จะใช้เวลาหลายปีจนกระทั่งค้นพบทางออก ผลลัพธ์ที่ได้คือความคุ้มค่า ที่ในวันนี้ ‘ปัญหา’ กลายเป็น ‘ความสำเร็จ’

“ผมเคยเป็นวิศวกรในโรงงานมาก่อน และพบว่าในโรงงานมีข้อมูลเกิดขึ้นตลอดเวลา ใครทำอะไร รันงานตรงไหน แต่ว่าเราไม่ได้เอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ โจทย์ที่ผมตั้งก็คือ เราพยายามที่จะพัฒนาระบบเพื่อจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เมื่อ 5 – 6 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีหลายๆ อย่าง อาจจะยังไม่ได้พร้อม บุคลากรในยุคนั้นก็ยังไม่ได้เชี่ยวชาญด้าน Internet of Things หรือการวิเคราะห์ข้อมูลมากเพียงพอ โครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่ค่อยดี 5G ยังไม่มี 4G เพิ่งเริ่มต้น ด้านพื้นฐานอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่ได้แข็งแรงมาก ผู้เชี่ยวชาญในด้าน IoT หรือวิเคราะห์ข้อมูลยังไม่ค่อยมี ผมทำงานระยะหนึ่งแล้วลาออกไปอยู่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ 5 ปี ก็คิดว่าเราน่าจะมีความรู้มากพอที่จะกลับไปแก้ปัญหาเดิมที่เราเคยเจอมาตอนที่อยู่โรงงาน 

ผมจึงได้พัฒนาซอฟท์แวร์ด้านไอโอทีที่จะมาช่วยวิศวกรในอุตสาหกรรมการผลิต จนกระทั่งเกิดเป็น IFRA IioT – Machine Monitoring and Optimization Platform เครื่องมือที่ช่วยวิศวกรในโรงงานเก็บข้อมูลจากเครื่องจักรและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตครับ”

กูเกิ้ลเพลย์เพื่อโรงงานอุตสาหกรรม

ถ้าจะบอกว่านี่คือธุรกิจขายซอฟท์แวร์คงจะผิดไปไกล เพราะสิ่งที่ณัฐพลและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัททั้งสี่คนตั้งใจทำนั้นยิ่งใหญ่และน่าใฝ่ฝันกว่า “สิ่งที่เรามองตัวเองและตั้งใจให้เป็นคือ Eco-system หรือว่าเป็นแพลตฟอร์มตัวหนึ่งที่จะให้นักพัฒนาท่านอื่นๆ สามารถอยู่บนแพลตฟอร์มของเราได้   ใครอยากทำ Solution อะไร ก็สามารถมา On Top แพลตฟอร์มของเราได้ ผมเชื่อว่าซอฟท์แวร์ระบบที่เป็น Eco-system ที่เราสร้างไว้ให้กับคนอื่น มันค่อนข้างจะไปได้ไกลกว่า Software Solution ที่แก้ปัญหาเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้ามองง่ายๆ คือ เราไม่ได้สร้างแอพพลิเคชันแค่ตัวใดตัวหนึ่ง แต่เรากำลังสร้าง Google Play หรือ App Store ครับ” 

Internet of Things พลังที่ยิ่งใหญ่ในทุกสิ่ง

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น Internet of Things อินเทอร์เนตในทุกสิ่งที่เราต่างคุ้นเคย แต่อาจจะลืมเลือนไปด้วยความเคยชิน ว่าแท้จริงแล้ว IoT มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงหรือสร้างประสิทธิภาพให้เกิดกับโลกของเรามหาศาลแค่ไหน ไม่ต่างกัน เมื่อ IoT ถูกนำไปใช้ในโลกของโรงงานอุตสาหกรรม  “ความหมายของ IoT ถ้าเป็นในที่อยู่อาศัยก็จะมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Smart Home บ้านที่ฉลาดขึ้น เป็นการนำอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านมาคุยกัน สั่งตู้เย็นผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ในขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นโรงงานก็พยายามจับเอาเครื่องจักรให้เข้าอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกัน เพื่อที่จะบอกเราได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันๆ หนึ่งที่เครื่องจักรทำงาน สูญเสียเวลาไปกับอะไรบ้าง ถ้าอธิบายง่ายๆ IoT คือเป็นคอนเซ็ปต์ที่เราอนุญาตให้สิ่งของรอบตัวเราเข้าอินเทอร์เน็ตได้เหมือนที่มนุษย์ก็เข้าอินเทอร์เน็ตครับ 

ส่วนประโยชน์การใช้งานของ IoT แบ่งได้เป็น 2 หน้าที่หลัก หนึ่ง เก็บข้อมูลแทนมนุษย์ ซึ่งทำได้ตลอดเวลา ปกติวิศวกรหรือทีมช่างจะไปเก็บข้อมูลเองวันหนึ่งอย่างถี่สุดประมาณทุกครึ่งชั่วโมงก็เหนื่อยละครับ แต่ว่า IOT เก็บข้อมูลได้ทุกวินาทีหรือว่า Real Time เลย หน้าที่อีกอย่างคือ การวิเคราะห์ข้อมูลครับ โดยใช้ Software ที่มีอยู่วิเคราะห์ข้อมูลแล้ว Export ข้อมูลไปต่อยอดได้เลยหรืออาจจะวิเคราะห์ชี้ให้เห็นถึงปัญหา เช่น การผลิตในโรงงานต่อวันสามารถผลิตเพิ่มได้โดยไปดูจากข้อมูลที่เก็บมาว่าระบบหรือเครื่องจักรมีจุดอ่อนหรือคอขวดตรงไหน วิศวกรก็นำปัญหาเหล่านี้ไปแก้ไข โรงงานอาจจะสามารถเพิ่มผลผลิตและทำรายได้มากขึ้นได้”

ฟีดแบ็คจากลูกค้าคือคำตอบที่ว่าธุรกิจมาถูกทาง

ในโลกออนไลน์ที่ใครๆ ก็บอกว่าในยุคนี้เป็นเรื่องของความเร็วและความแรง ที่ทุกอย่างแข่งขันกันทุกวินาที ดูเหมือนว่าใครเร็วกว่า ใครไปก่อน จะสำเร็จก่อน แต่เอาเข้าจริงแล้วความสำเร็จไม่ใช่เรื่องของปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่คือคุณภาพและประสิทธิภาพของผลงานที่เป็นตัวพิสูจน์   

“ถ้าถามถึงตัวธุรกิจ ผมมองว่าเราอาจจะเพิ่งมาถึงระยะ Product Market Fit ตอนนี้เราก็หาวิธีเพิ่มสเกลให้ขายได้จำนวนมากขึ้นเพราะว่า ตัวโปรดักส์ของเราไม่ได้ขายออนไลน์ได้เลย ใช้เวลาในการคุยค่อนข้างนานครับ ประมาณสามเดือนสี่เดือนกว่าจะจบ แต่เราก็พยายามทำให้มันเป็นแพ็คเกจง่ายๆ ส่งทางไปรษณีย์ให้ลูกค้าติดตั้งได้เอง สำหรับแพ็คเกจจริงๆ เรามีให้ลูกค้าเลือกสองแบบครับ แบบแรกกรณีที่ลูกค้ามีโครงสร้างพื้นฐานในโรงงานอย่แล้ว เช่น มี server หรือตัวเก็บข้อมูลอยู่แล้ว เราก็จะขายเป็นแบบ License software คือขายขาดไปเลยแต่ว่ามีค่า Maintenance แบบที่สอง สำหรับโรงงานที่ไม่ได้อยู่ในสเกลที่ใหญ่มาก ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานพวก server ก็ใช้เป็น Cloud Service ของเรา ในส่วนนี้ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยรูปแบบการชำระเงินจะเป็นแบบ Subscription รายปีครับ

แต่ทีนี้ ถึงแม้บริษัทเราอาจจะยังไม่ได้มีผลงานอะไรเป็นที่ประจักษ์นัก  แต่ว่าสิ่งที่ทำให้เราคิดว่าเราทำถูกทางก็คือผลตอบรับจากลูกค้ารายแรก ที่เขาเองก็พยายามหาตัวซอฟท์แวร์แบบนี้เข้ามาช่วย แล้วซอฟท์แวร์ของเรานั้นค่อนข้างตอบโจทย์ในสิ่งที่เขามองหา พอเราได้ยินฟีดแบ็คนี้เราก็คิดว่า สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้น่าจะพาเราไปได้ไกลกว่าเดิมถ้าเราไม่เลิกทำซะก่อน เรามั่นใจขึ้นกว่าช่วงแรกๆ ที่เราก็ยังไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ของเราจะไปรองรับกับโจทย์กับความต้องการของลูกค้าขนาดไหน”  

เมื่อไม่รู้ก็ทำให้รู้ เมื่อไม่มีโอกาสก็หาโอกาส

ไม่มีใครที่รู้ทุกอย่าง และไม่มีใครที่ไม่รู้สักอย่าง ความรู้เป็นเรื่องที่สั่งสมและเก็บเกี่ยวผ่านประสบการณ์ หากไม่รู้ก็ค้นคว้า ฝึกฝน กระทั่งรู้ได้ เช่นเดียวกับโอกาส ไม่จำเป็นต้องรอ เราต่างสามารถสร้างขึ้นมาได้  ธุรกิจของณัฐพลเองก็เกิดจากความไม่รู้ ความท้าทายคือการที่จะทำให้อย่างไรให้ปัญหาหมดไป 

“ธุรกิจของพวกเรามีปัญหาเรื่องทีมช่วงแรกๆ เนื่องจากสมาชิกที่ร่วมกันก่อตั้งบริษัทเป็นวิศวกรหมดเลย พอตัวโปรดักส์ซึ่งก็คือซอฟท์แวร์เริ่มใกล้จะสำเร็จ เราก็มามองว่า แล้วเราจะขายกันยังไง เราจะทำการตลาดยังไง ทำกลยุทธ์ยังไงให้คนเข้ามารู้จักเรา เนื่องจากเราไม่มีพื้นฐานด้านการทำธุรกิจ ด้านมาร์เกตติ้งเลย ซึ่งเราอาจจะมาผิดทางก็ได้แต่เราไม่ได้เลิก เรามาแก้ปัญหากัน ก็เริ่มแบ่งหน้าที่ของแต่ละคนให้ชัดเจน ถึงจะไม่มีพื้นฐานก็ต้องไปเรียน ไปอัพสกิล เราโชคดีด้วยครับที่ได้พี่ๆ ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพมาก่อนคอยให้คำปรึกษา

แล้วก็ได้รับการสนับสนุนด้านเงินจากทาง NIA โดยเริ่มจากการเข้าร่วมโครงการของ Sprint Accelerator Thailand ที่ NIA สนับสนุนอยู่ ตอนนั้นผมได้เป็นเงินทุนช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งพอเราได้เงินทุนให้เปล่ามาใช้ในการทำโปรโตไทป์ (Prototype) ก็ช่วยเราได้มากเลยครับในการเริ่มต้นเพราะเราก็ไม่ได้มีต้นทุนตั้งต้นเยอะมาก ช่วยให้การพัฒนาซอฟท์แวร์และแพลตฟอร์มไปได้เร็วขึ้น” 

อย่าหยุดเมื่อทำผิดพลาด เพราะสตาร์ทอัพคือการวิ่งมาราธอน

ถ้าเปรียบปัญหาเป็นเพื่อนที่คอยผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข และนำไปสู่การพบเจอทางออก ความผิดพลาดที่เกิดจากการลงมือทำก็คือครูชั้นดี ไม่ต่างกัน ความฝันจะกลายเป็นจริงได้ถ้าไม่หยุดฝัน “สำหรับคนทำสตาร์ทอัพ สิ่งที่ผมเรียนรู้มาจะมีอยู่สองเรื่องครับ เรื่องแรก เป็นจุดที่เราเองก็พลาดครับ คือ ในช่วงเริ่มต้นต้องจัดลำดับความสำคัญดีๆ เพราะด้วยทรัพยากรที่เรามีจำกัด มีคนไม่กี่คน ต้องเลือกงานที่สำคัญมากๆ ขึ้นมาทำก่อน ปัญหาที่เราเจอคือเราฝันใหญ่แล้วไปทำอะไรที่มันใหญ่โต แต่จริงๆ แล้วเราควรทำอะไรที่สำคัญเล็กๆ ของลูกค้าก่อน อาจจะเพื่อหาเงินเอามาต่อยอดความฝัน ส่วนเรื่องที่สองคือ Mindset ครับ หลายคนเข้าวงการสตาร์ทอัพมาคิดว่า เท่ห์จัง  อยากเป็นยูนิคอร์นนู่นนี่นั่่น แต่ชีวิตจริงมันไม่ได้ง่าย คือบางคนทำได้สองสามเดือนก็ต้องเลิก ธุรกิจไปต่อไม่ไหว ผมเรียนรู้มาจากรุ่นพี่ๆ ซึ่งจะบอกผมเสมอว่า ถ้าทำสตาร์ทอัพให้คิดว่าวิ่งมาราธอนอยู่ หมายถึงว่า ในช่วงเริ่มต้นเจอปัญหาอะไรก็อย่าพึ่งหยุด ค่อยๆ ปรับแก้ไปเพราะหนทางเรายังไปได้อีกไกลครับ”

คติประจำใจ: มนุษย์เชื่อว่าตัวเองสามารถไปดวงจันทร์ได้  ก่อนที่จะไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace
ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง