ตั้งแต่เด็ก ผู้กำกับ จอน วัตต์ส มักฝันซ้ำซากถึงเหตุการณ์หนึ่งมาโดยตลอด ในความฝัน ตัวเขาในวัย 10 ขวบกำลังนั่งอยู่บนรถของแม่ที่เบาะหน้าข้างคนขับ เพียงแต่คนขับคือ ทราวิส เพื่อนซี้วัยเดียวกัน หาใช่มารดาบังเกิดเกล้าไม่ ระหว่างที่ทราวิสพาเขาขับรถตะลอนเมืองเล็กๆ ทั้งคู่ก็สวนทางกับบรรดาเพื่อนบ้านหน้าคุ้น แต่กลับไม่มีใครเข้ามาหยุดรถของพวกเขาเลย ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่การกระทำอันสมควรของเด็กตัวจ้อย
“ผมกังวลแทบประสาทเสีย” วัตต์สเล่า “ผิดกับทราวิสที่เพลินไม่ใช่เล่น แถมยังเร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆ จนผมสะดุ้งตื่นด้วยความกลัวว่ารถจะชนโครมกับอะไรเข้าให้” ปลายปี 2013 วัตต์สเล่าความฝันนี้ให้ คริสโตเฟอร์ ฟอร์ด มือเขียนบท Robert & Frank (2012, เจค ชเรียร์) และ Clown (2014, วัตต์ส) ฟัง พลางเสริมไอเดียว่า “เรื่องคงเจ๋งเนอะ ถ้ารถคันนั้นเป็นรถตำรวจ” ฟอร์ดจึงเอ่ยกลับว่า “ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นเจ้าของรถตำรวจคันนั้นล่ะ?”
บิงโก! “ตอนนั้นผมรู้ทันทีเลยว่า เราได้หนังเรื่องใหม่แล้ว” วัตต์สบอก และนับแต่วินาทีนั้น โปรเจ็กต์ที่มาจากความฝันตรรกะเพี้ยนๆ ก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง จนกลายเป็น Cop Car (2015) หนังธริลเลอร์ขวัญใจซันแดนซ์ที่เล่ามหกรรมความอลหม่านซึ่งประดังประเดใส่สองเด็กชายจอมแก่นวัย 10 ขวบนาม ทราวิส กับ แฮร์ริสัน (รับบทโดย เจมส์ ฟรีดสัน-แจ็คสัน กับ เฮย์ส เวลล์ฟอร์ด) หลังจากพวกเขาบังเอิญเจอรถตำรวจจอดทิ้งไว้กลางทุ่งโล่งพร้อมกุญแจเสียบคาอยู่ ด้วยความคึกคะนอง ทั้งสองจึงตัดสินใจขึ้นไปลองสตาร์ตแล้วขับมันออกถนน โดยนึกไม่ถึงว่าจะต้องเผชิญหน้ากับเกมแมวจับหนูที่อันตรายถึงชีวิต เพราะเจ้าของรถอย่างนายอำเภอ เครตเซอร์ จอมโฉด (เควิน เบคอน ผู้มาพร้อมแววตาชวนขนลุก) พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อเอารถกลับคืนมา
ก่อนหน้า Cop Car วัตต์สเคยผ่านงานทำหนังสั้น หนังทีวี และหนังสยองทุนต่ำอย่าง Clown เท่านั้น “เบื้องหลังของการทำ Clown มันสุดยอดมากเพราะเริ่มต้นจากการแกล้งกันเล่นๆ แต่ดันนำไปสู่ความบังเอิญครั้งใหญ่” เขากับคริส ฟอร์ดปิ๊งไอเดียที่จะทำตัวอย่างหนังเก๊ลงยูทูบด้วยการล้อเลียนหนังตระกูล Body Horror ของ เดวิด โครเนนเบิร์ก โดยตัวอย่างหนังที่ว่านั้นเล่าถึงชายหนุ่มผู้ค่อยๆ กลายร่างเป็นตัวตลกสุดสยอง
“ตอนนั่งตัดต่อ เราก็รู้สึกว่ามันเหมือนหนังใหญ่จริงๆ เราเลยคิดว่าคงจะมีคนอย่างน้อยสัก 10 คนล่ะน่าที่ดูแล้วหลงเชื่อว่านี่คือตัวอย่างหนังจริงที่กำลังจะฉาย แถมแผนเด็ดก็คือ ในเครดิตท้ายตัวอย่าง เราจะใส่ชื่อนักเขียนบทดังๆ ของฮอลลีวูด-ซึ่งจริงๆ แล้วไม่รู้จักเรา-ลงไปเป็นผู้เขียนบทร่วมกับเราด้วย แถมเรายังใส่ชื่อ อีไล รอธ -ผู้ที่ก็ไม่เคยเจอกับเราเช่นกัน- ให้เป็นผู้กำกับด้วย!”
แม้จะฟังดูเป็นไอเดียบ้าบ๊อง แต่หลังจากอัพโหลดคลิป ผลตอบรับกลับเกินกว่าที่ทั้งสองคาดคิด เพราะมีคนนับร้อยทีเดียวที่เชื่อว่ามันคือ ‘ตัวอย่างหนังใหม่ของรอธ’ จริงๆ! แถมกระแสบนโลกอินเตอร์เน็ตยังลุกเป็นไฟลามทุ่ง ถึงขั้นบรรดาบล็อกเกอร์ต่างก็นำไปโปรโมตในบล็อกหนังสยองขวัญของตน โชคดีที่เมื่อรอธตัวจริงเผอิญมาเห็นเข้าก็ชื่นชอบมันมาก“ตอนนั้น พวกเราสติแตกหมดเลย” วัตต์สเล่า “เพราะหลังจากปล่อยคลิปไปไม่กี่ชั่วโมง รอธก็โทรมาหา ผมคิดว่าเราต้องโดนฟ้องแหงๆ แต่โชคช่วยที่เขาชอบมากและคิดว่าเป็นไอเดียเจ๋งโคตร เราจึงไปหาเขาที่ลอสแองเจลิส แล้วเขาก็เสนอให้เราทำหนังเรื่องนี้โดยหาทุนให้ …เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นจากการอำกันขำๆ แต่กลับลงเอยด้วยการเป็นหนังจริงขึ้นมาได้ มันน่าทึ่งจริงๆ”
Cop Car ถูกนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิตการทำงานของวัตต์ส เพราะนอกจากจะช่วยสร้างชื่อให้เขาในชั่วพริบตาแล้ว ความโดดเด้งของหนังยังเตะตาค่ายมาร์เวล จนเขาได้รับโอกาสให้มากุมบังเหียนหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Spider-Man เวอร์ชั่นรีบูต!
Cop Car ทำให้วัตต์สได้รับเสียงชื่นชมจากเหล่านักวิจารณ์ถึงความสามารถในการวางสมดุลระหว่างความเป็นหนังแนวข้ามพ้นวัยอันแสนสะเทือนใจแบบ Stand by Me (1986, ร็อบ ไรเนอร์) และกลิ่นอายความระทึกเลือดเย็นแบบหนังอาชญากรรมของ พี่น้องโคเอน อย่าง Blood Simple (1985) เนื่องจากเขาผสมผสานโลกอันบริสุทธิ์ของเยาวชนผู้ไม่รู้ประสีประสากับโลกที่อัดแน่นด้วยมลทินของผู้ใหญ่ได้อย่างเหมาะเหม็ง นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งมองว่า การที่เด็กชายสองคนออกมาผจญโลกกว้างซึ่งแวดล้อมด้วยสิ่งที่ก่อให้เกิดความซับซ้อนทางอารมณ์นั้น เปรียบเสมือนการแตกสลายของชายคากำบังที่คุ้มครองผู้เยาว์จากสิ่งยั่วยุและความไม่มั่นคงทางจิตใจจากผู้ใหญ่ที่ขาดคุณธรรม
ยิ่งไปกว่านั้น หนังยังพาคนดูไปสำรวจจิตใจของเด็กชายที่กำลังจะก้าวข้ามวัย ผ่านการถ่ายทอดสภาวะความสับสนภายในจิตใจของคู่ตัวเอกเมื่อถึงภาวะต้อง ‘เลือก’ (เช่นเดียวกับ Clown ที่วัตต์สใช้ความไร้เดียงสาของลูกชายวัยใสของพระเอกมาสะท้อนจิตใจของพระเอกเองที่ค่อยๆ บิดเบี้ยวเมื่อถูกปีศาจตัวตลกครอบงำร่าง) ซึ่งการสำรวจประเด็นนี้ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้หนังยิ่งระทึก เพราะเราต้องคอยลุ้นว่า ในสถานการณ์ชี้เป็นชี้ตาย ตัวละครวัยละอ่อนทั้งสองจะรับมือกับมันอย่างไร และพวกเขาจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตของชีวิตไปได้หรือไม่
ความน่าสนใจของหนังอีกประการหนึ่งก็คือ การได้ชื่อว่าเป็นหนัง ‘มินิมอลิสต์ธริลเลอร์’ เพราะวัตต์สเลือกนำเสนอแบบ ‘น้อยแต่มาก’
“ในแง่ของตัวบทและการเล่าเรื่องนั้น ผมว่ามันคล้ายกับ Le Samouraï (1967) ของ ฌ็อง-ปีแยร์ เมลวิลล์ ซึ่งเราแทบไม่รู้จักเลยว่าตัวละครเป็นใคร มีปูมหลังเป็นอย่างไร เราก็แค่ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ เท่านั้น ไม่สำคัญหรอกว่าตัวละครเหล่านั้นคือใคร แต่สิ่งที่พวกเขากำลังทำนี่สิสำคัญ” เช่นกันกับเบคอน-ผู้รับบทนายอำเภอตัวฉกาจ-ที่ยืนยันว่า การนำเสนอรายละเอียดของตัวละครเพียงบางๆ ยิ่งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้ชม “การให้ผู้ชมคิดเอาเองว่าเกิดบ้าอะไรขึ้นกันแน่นั้น จะทำให้พวกเขามีอารมณ์ร่วมมากกว่าการที่หนังบรรยายว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อตัวหนังไม่ได้ให้ข้อมูลคุณทุกอย่างว่า เด็กพวกนี้เป็นใครมาจากไหน, อยู่ที่ไหน, ใครเป็นเจ้าของรถ, เกิดเรื่องอะไรขึ้น, นายอำเภอคนนี้ทำอะไรกันแน่ ฯลฯ ผมว่ามันเป็นวิธีสร้างความตึงเครียดที่ฉลาดมาก”
วัตต์สดู The Good, the Bad, and the Ugly (1966) อีกรอบก่อนเริ่มถ่ายทำ หนังคาวบอยขึ้นหิ้งของ แซร์จิโอ เลโอเน เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อการกำกับ Cop Car ไม่เพียงในแง่ของการถ่ายภาพมุมกว้าง (โดยเฉพาะช็อตเปิดของหนังที่เผยทัศนียภาพสวยงามของทุ่งกว้างในโคโลราโดให้เห็นเต็มตา) แต่รวมถึงการสร้างความตื่นเต้นด้วยเสียงดนตรีในฉากไคลแม็กซ์ด้วย
เรื่องสุดท้ายที่ชวนให้สงสัยก็คือ ในเมื่อหนังกล้าแตะประเด็นละเอียดอ่อนอย่างพฤติกรรมทุจริตเน่าเฟะในแวดวงตำรวจ แล้วไม่ถูกเหล่าตำรวจตัวจริงเสียงจริงต่อต้านหรือ? วัตต์สตอบว่า ตอนแรกเขาไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้มากนัก ทั้งๆ ที่ก็มีเรื่องอื้อฉาวของนายอำเภอในเทศมณฑลละแวกนั้นพอดิบพอดี “ตอนเราไปถึงที่เมืองฟาวน์เทน รัฐโคโลราโด (ซึ่งเป็นโลเคชั่นถ่ายทำของหนังและเป็นบ้านเกิดของวัตต์สด้วย) เพื่อขออนุญาตถ่ายทำ พวกตำรวจก็ถามเราว่า ‘นี่มันเกี่ยวกับเขาคนนั้นหรือเปล่านี่?’ เรารีบปฏิเสธแล้วบอกว่านี่เป็นแค่เรื่องสมมติ เพราะตอนนั้น เราก็ไม่เห็นข่าวนั้นเหมือนกัน อย่างไรก็ดี พวกเขาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะไม่เคยมีใครมาถ่ายหนังที่นี่ พวกเขาปิดถนนให้และปล่อยให้เราทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ
“…อันที่จริง ตำรวจบางคนก็ได้บทเล็กๆ ในหนังด้วยนะ” เขายิ้ม
ติดตามรับชม
Cop Car ล่าไม่เลี้ยง
คืนวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน เวลา 00.00 น. ทางช่อง MONO29
สามารถชมทางออนไลน์ได้ที่ : https://mono29.com/livetv
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
: https://bioscope.mthai.com/