“วิโรจน์” จี้ตำรวจหยุดค้าสำนวน ชี้เดินหน้าปราบส่วยรถบรรทุกต้องแก้กฎหมายคู่กับปราบปราม เผยพบส่วยรถเกือบทุกประเภท ขณะสหพันธ์ขนส่งทางบกฯเชื่อ หากโทษเหมาะสมก็ไม่มีส่วย”
…
ในรายการเจาะข่าวเด็ด The Day News Update Special ทางช่อง Mono 29 พิธีกร คุณบ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ พูดคุยกับ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และคุณอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ในประเด็นส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก หลังพรรคก้าวไกลออกมาแฉเรื่องดังกล่าว จนมีหลายหน่วยงานรับลูก ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ กระทั่งล่าสุดสหพันธ์การขนส่งฯเอง ก็ได้ส่งมอบหลักฐานเด็ดให้กับพรรคก้าวไกล หวังแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์อย่างถอนรากถอนโคก
พิธีกร : ส่วยทางหลวงวันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกพูดถึงตลอดทั้งสัปดาห์ วันนี้มาสานต่อหลังแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ
หลังออกมาเปิดเผยสติกเกอร์ ซึ่งมีมานาน ทำไมจึงเลือกออกมาเปิดเผยช่วงนี้
คุณวิโรจน์ : ความเดือดร้อนเกิดขึ้นตอนนี้ จริงๆมีมา 30 กว่าปี คนที่ทำธุรกิจขนส่งมักจะพูดว่าทำค้าขาย อย่าค้าความ ถ้ากำไรพอเหลือจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะบ้างก็พอไหว แต่นี่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นจากโควิด แม้รายได้จะเพิ่มขึ้น แต่ไม่เหมือนกับอดีต แล้วตอนนี้ค่าน้ำมันก็แพงขึ้น มีการตัดราคากัน แล้วยังถูกเรียกส่วย เหมือนทำธุรกิจโดยไม่มีกำไร ซึ่งเมื่อไหร่ที่อยู่ในแวดวงส่วย ก็ต้องอยู่ในไลน์เค้า ต้องโอนเงินทุกเดือน เดือนไหนไม่โอนหรือโอนช้า กลับถูกจิกด่า ทั้งที่เราเอาเงินไปให้เค้าแท้ๆ เหมือนแก๊งทวงหนี้ แต่เราไม่ได้เป็นหนี้ คนรับเงินควรจะสำนึกบุญคุณคนจ่ายส่วย แต่กลับใช้อำนาจข่มขู่
สติกเกอร์ดวงเดียวก็ไม่จบ คิดว่าเหมาจ่าย กลับต้องไปเคลียร์อีกที่ ต้องซื้อสติกเกอร์เพิ่มบานปลายไม่จบ
ประเด็นที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายคือมีการไหว้วานให้ไปขนของ แต่ไม่รู้ว่าข้างในคืออะไร หากเป็นยาเสพติด คนไหว้วานก็คงไม่รับผิด มีทั้งขอซื้อบัตร ขอซื้อตั๋ว ขอดูแลนาย ขอเงินเพิ่มบวกๆ สุดท้ายทำธุรกิจหรือต้องเป็นทาสส่งเงินให้กับคนเหล่านั้น
พิธีกร : อัดอั้นขนาดนั้นเลยใช่มั้ย
คุณอภิชาติ : 99.9% อยู่แล้ว สมมุติวิ่งจากขอนแก่น จะข้ามไปภาคใต้ ต้องซื้ออีกฟาก เพื่อดูแลพื้นที่ภาคใต้ กินเป็นพื้นที่ ถ้าจะคุ้มครองยาวต้องใช้ป้ายพรีเมียม ราคา 25,000-27,000 บาท ต่อคัน แล้วถ้าจะเข้า จ.เพชรบุรี ก็จะเป็นอีกป้ายหนึ่ง ป้ายนี้จะไปถึงใต้สุดเลย พรีเมียมเหมือนกัน
พิธีกร : นี่คือความลำบากของผู้ประกอบการ ที่บอกว่าตอนนี้ค้าขายไม่ดี กว่าที่จะได้กำไรมาชดเชยช่วงโควิด แต่ส่วยต้องจ่ายเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม ที่บอกว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำให้ทนไม่ไหว
คุณอภิชาติ : ตั้งแต่ คสช.เข้ามา จนกระทั่งรัฐบาลลุงตู่ 4 ปีหลัง รุนแรงขึ้น ในอดีตน้ำหนักที่แบกก็ไม่เกิน 10-15 ตันจากน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด
พิธีกร : ตอนปี 57 ที่แก้กฎหมาย เป็น 50.05 แล้วส่วนที่เกินจากนี้ก็ต้องไปจ่ายส่วยใช่มั้ย
คุณอภิชาติ : ราคามันไม่สูงขนาดนี้ พอหลังจากยุคคสช. ราคาป้ายปรับขึ้น ความหลากหลายของสติกเกอร์มากขึ้น ก็มาจากเจ้าหน้าที่เองบ้าง ผู้ทรงอิทธิพลในพื้นที่บ้าง ก็มีมาเรื่อย ๆ
พิธีกร : ที่คุณอภิชาติบอกว่ารถบรรทุกที่อยู่ในสหพันธ์ ไม่จ่าย
คุณอภิชาติ : ไม่จ่าย เจอการกดดัน ทั้งอ้างว่าป้ายลบเลือน รถที่วิ่งมาจากต่างจังหวัด ผ่านสวน ผ่านฝุ่น เค้าก็ตั้งข้อหาว่ารถสกปรก แล้วดอกยางเค้าก็จะมาวัดเลย ไฟที่อยู่บนหลังคาจะมี 5 ดวง ถ้าใครติดเพิ่มให้สว่างขึ้น ก็โดน 5,000 บาท นี่เป็นสิ่งที่คนทำถูกกฎหมายโดน
พิธีกร : ถ้าทำถูกกฎหมาย ไม่มีผิดเลยจะโดนมั้ย
คุณอภิชาติ : โดนหมด มีหลากหลาย กฎจราจรมีมาตั้งแต่ปี 2490 แล้ว บางฉบับยังใช้อยู่ แล้วก็มีการเพิ่มกฎข้อบังคับมา แล้วคนที่ออกกฎหมายไม่ได้มาควบคุม ก็ปล่อยให้เจ้าหน้าที่เปิดมาตรามาจับ
คุณวิโรจน์ : ต่อให้ไม่ผิดกฎหมาย ลองคิดถึงคนขับรถ ถูกเรียกตรวจบ่อย ๆ เสียเวลา ส่งสินค้าไม่ทันโดนปรับ โดนลูกค้าต่อว่า โดนตัดออเดอร์ แล้วคนที่ทำถูกทั้งหมดก็โดนเรียกตรวจเรื่อย ๆ หากเป็นพนักงานขับรถก็ไม่มีความสุข เป็นตนโดนแบบนี้ 1-2 เที่ยวก็ลาออกแล้ว มันเครียด นี่ยังไม่นับโทษจุกจิก ตั้งคำถามว่าคนที่ทำธุรกิจในรูปแบบสุจริตเพื่ออะไร ต้องการความสะดวกสบาย แต่ตอนนี้คนที่จ่ายสวยกลับได้รับความสะดวกสบาย จะทำอะไรก็ได้ แบกน้ำหนักเท่าไหร่ก็ได้ รถจะทรุดโทรมก็ได้ มันกลับตาลปัตรกัน คนที่ยอมจ่ายส่วยได้รับการอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ในขณะที่คนที่ตั้งใจสุจริตกลับถูกจับผิดทุกเม็ด เหมือนเราทำงาน เจ้านายเรียกคุยทุกวัน บอกไม่มีอะไรเรียกคุยเฉยๆแต่คุยทุกวัน ก็ไม่มีความสุข
คุณอภิชาติ : แล้วปัญหาที่ตามมาคือถ้าหาจุดผิดพลาดไม่ได้ก็จะจับพนักงานขับรถตรวจปัสสาวะ
พิธีกร : ก็ตรวจสิ ใช้เวลาไม่นาน
คุณอภิชาติ : ก็ตรวจ บางทีไม่มีเลยแต่ทำให้มีได้ ค่าเคลียร์เรื่องปัสสาวะประมาณ 5-6 หมื่นบาท ถ้าโดน
พิธีกร : แล้วอยู่ได้ยังไง
คุณอภิชาติ : ต้องบอกก่อนว่า สำนักงานของพวกเราที่ทำโลจิสติก ก่อนที่จะไปรับสินค้า เราจะมีการตรวจสุขภาพ ความดัน เบาหวาน ตรวจปัสสาวะเพื่อหาแอลกอฮอล์ จึงจะปล่อยงาน แต่ไปถึงกลางทางกลับถูกตรวจปัสสาวะโดยไม่มีเจ้าหน้าที่อนามัยมาร่วมด้วย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วบอกให้ไปฉี่ในป่า เราก็ไม่รู้ เปลี่ยนเป็นฉี่สีม่วงก็มี มีบ่อย
พิธีกร : แล้วที่ทำถูกกฎหมาย 4 แสนกว่าคันที่อยู่ในสมาพันธ์ เค้าอยู่ได้ยังไง
คุณอภิชาติ : ทุกวันนี้ผมถูกกดดันจากสมาชิกว่าทำไมประธานมาชวนให้อยู่ภายใต้กฎหมาย แล้วเคยรับปากว่าจะแก้ไขตรงนี้ให้ ก็บอกว่าทำถึงที่สุดแล้ว ถึงหัวหน้ารัฐบาลแล้ว ถึงผบ.ตร.แล้ว ถึงคมนาคมแล้ว แต่ทุกอย่างก็อย่างที่เห็น ตั้งแต่ปี 39 แล้วเป็นแบบนี้
พิธีกร : ไม่หายเลยเหรอ
คุณอภิชาติ : ที่หนักที่สุดก็ในยุค คสช.
คุณวิโรจน์ : ถามว่าทำไมที่ผ่านมา พอเป็นข่าวก็หายไปพักหนึ่ง จริง ๆ สติกเกอร์มีมานานแล้ว พอเป็นข่าวก็หายไป 6 เดือน – 1 ปี เพราะเค้าปราบอย่างเดียว ย้ายผู้การทางหลวงเซ่น บางทีอาจจะผิดจุด เพราะระบบไม่ได้ถูกแก้
พิธีกร : เค้าขอย้ายตัวเองเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ
คุณวิโรจน์ : ท่านแรกท่านพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ทีนี้การย้ายตัวเองมันเป็นการแก้ปัญหาที่คน แต่ถ้าระบบมันไม่แก้ สุดท้ายก็เหมือนเดิม
พิธีกร : อย่างนี้ถ้าจะแก้ระบบ เห็นบอกว่ามีแนวทาง
คุณวิโรจน์ : เรื่องปราบปราม ก็ต้องทำจริงจัง ทุกคนไม่แย้งอยู่แล้ว แต่สำหรับนโยบายในการอุดหนุน สังเกตตอนน้ำมันขึ้น รัฐบาลที่ผ่านมาไม่พยายามใช้นโยบายอุดหนุนแบบพุ่งเป้า เช่นอุดหนุนเรื่องเงินชดเชย หรือเงินหนุนหนุนค่าพลังงานให้รถโดยสารสาธารณะ รถขนส่ง เพื่อให้ราคาไม่สะท้อนมายังค่าสินค้าและบริการ ซึ่งมันจะกระทบกับค่าครองชีพ ส่วนใหญ่มักจะอุดหนุนทุกหัวจ่าย แต่เราไม่ได้เพิ่มเติมการอุดหนุนมายังกิจการขนส่งและรถโดยสารสาธารณะ สุดท้ายเค้าแบกรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยที่รู้สึกว่ารัฐไม่ได้เหลียวแล แล้วยังมากดเค้าไม่ให้ขึ้นค่าขนส่ง สุดท้ายเค้าก็ต้องแบกเพิ่ม พอแบกน้ำหนักเพิ่มก็สบโอกาส ด้วยสภาวะความเป็นจริงมันอยู่ไม่ได้ เค้าก็ต้องแบกน้ำหนักเพิ่ม ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำไม่ดี
พิธีกร : เค้ามากดค่าขนส่งด้วย น้ำมันขึ้น
คุณวิโรจน์ : ก็ตัดราคากัน รัฐไม่มีนโยบายในการอุดหนุนแบบพุ่งเป้าไปยังกิจการขนส่งและรถยนต์สาธารณะ สุดท้ายต้องแบกน้ำหนักเพิ่มเพื่อลดต้นทุนลง ก็สบโอกาสเจ้าหน้าที่บางคนเข้ามาขายสติกเกอร์โดยเอากฎหมายมาขู่ ถ้ามันไม่แพงเค้าจ่ายไหวก็จ่าย แต่หลังๆเริ่มมากขึ้น
พิธีกร : ตอนนี้ถ้าสมมุติว่าไม่มีส่วย เราลดน้ำหนักลงมาตามมาตรฐานเลย ค่าครองชีพเราจะแพงขึ้นมั้ย
คุณวิโรจน์ : อยู่ที่นโยบายการอุดหนุนของรัฐบาลด้วยส่วนหนึ่ง สองคือเรื่องกฎระเบียบที่จุกจิก ก็ต้องถึงเวลาที่ต้องทบทวนว่าเรื่องน้ำหนักเราเอาหลักเกณฑ์วิศวกรรมมาคำนวนกันใหม่ดีมั้ย ว่าตามหลักวิศวกรรม จำนวนเพลาแบบนี้ จำนวนล้อแบบนี้ มันควรจะเป็นเท่าไหร่ ตรงนี้ไม่ได้เข้าข้างว่าต้องเพิ่มหรือลดน้ำหนัก หรือคงเดิม แต่เรื่องแบบนี้ใช้หลักวิศวกรรมในการคำนวณได้ ปรึกษาสภาวิศวกร หรือถามความเห็นจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยได้ มีคำตอบอยู่แล้ว ไม่ต้องเถียงกัน
พิธีกร : การกำหนดกฎหมายมันมาจากคำตอบเหล่านี้ ใช่มั้ย ที่มีการคำนวนมาก่อนหน้านี้
คุณวิโรจน์ : ถูกต้อง แต่เดิม 52-58 เปลี่ยนมาเป็น 50.05 ตัน ก็ต้องถามว่าใช้การคำนวณอะไรถึงเปลี่ยนมาเป็น 50.05ตัน และที่ผ่านมา 52-58 ก็เชื่อว่ามีหลักเกณฑ์ในการคำนวนเหมือนกัน
พิธีกร : นั่นหมายความว่าแนวทางในการเสนอเพื่อแก้กฎหมาย อันดับแรกคือปรับตัวเลขน้ำหนัก
คุณวิโรจน์ : อาจจะมีเรื่องระเบียบต่างๆ ตัวกฎหมายหลักเกณฑ์ กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ที่เป็นอุปสรรคของคนที่ทำมาหากินแบบสุจริต ก็ต้องไปดูว่าเป็นจริงมั้ย สอดคล้องกับหลักสากลมั้ย หน้างานจริงเป็นไปได้มั้ย อันนี้เป็นเรื่องกฎหมาย กฎหมายมันมี 2 มิติ มิติหนึ่งคือตัวเนื้อหาสาระของกฎหมาย อีกตัวหนึ่งคือระเบียบวิธีการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าตัวระเบียบวิธีการบังคับใช้กฎหมาย มันเอื้อให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจล้นเกิน คิดจะโบกก็โบก ไปถ่วงเวลาทำให้เค้าเสียเวลา วันหนึ่งแทนที่เค้าจะวิ่งได้ 2-3 เที่ยว ก็วิ่งได้เที่ยวเดียว แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดที่อยากจะเล่าคือ พนักงานสอบสวนทั่วประเทศฟังดีๆ หยุดค้าสำนวนได้แล้ว
พิธีกร : คืออะไร ค้าสำนวน
คุณวิโรจน์ : เรายึดที่ 50.05 ตันก่อน อยู่ดี ๆ สินค้าพืชผลการเกษตร เวลาขับรถฝ่าฝน น้ำอุ้มไว้ที่ตัวกระบะ อยู่ดี ๆ น้ำหนักเกินไปซัก 80 – 100 กิโลกรัม คุณคิดว่าเจตนาเค้าจะทุจริตจริงเหรอ บางครั้งตาชั่งก็ไม่เท่ากัน 4 แสนคันของคุณอภิชาติ มีการชั่งก่อนออกอยู่แล้วซึ่งมีการเปรียบเทียบเครื่องชั่งตามมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าด่านชั่งต่างๆ มีการเปรียบเทียบหรือไม่
พิธีกร : ให้มีมาตรฐานเดียวกัน
คุณวิโรจน์ : ใช่ แต่คราวนี้ก็อาจมีเรื่องความชื้นต่างๆ แต่ต้องดูที่เจตนา คนที่จะแบกเกินคงไม่เกินแค่ 100 กิโลกรัมอยู่แล้ว เวลาจะเกินเค้าเกินที่ 30 ตัน แต่ปรากฏว่าโทษไม่ได้เปรียบเทียบปรับ โทษคือยึดรถเหมือนกันไม่ว่าจะเกินเท่าไหร่ ทีนี้เกิดการค้าสำนวนคืออะไร เจ้าหน้าที่ด่านชั่งบางคนก็เชื่อมโยงกับพนักงานสอบสวน ย้ำว่าบางคน ตำรวจพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับงานจราจรด้วย เชื่อมกันก็ส่งคดีให้กับพนักงานสอบสวน ก็เลือกทรัพย์ เดิมเป็นการยึดรถนายจ้างก็เปลี่ยนสัญญาเป็นการเช่าขับ เปลี่ยนความสำคัญจากลูกจ้างขับรถกับนายจ้าง เป็นผู้เช่าขับกับผู้ให้เช่า
พิธีกร : นายจ้างมีแค่เอารถไปให้เช่า
คุณวิโรจน์ : เพื่อให้เอารถคืนกลับมาได้
พิธีกร : ถ้าเป็นการเช่ารถไปขับ เจ้าของที่ให้เช่าไม่ผิด
คุณวิโรจน์ : ก็ถือว่าไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ถ้าเป็นนายจ้างให้ลูกน้องขับ ก็ถูกยึดรถได้ แล้วรถคันหนึ่ง ก็ 3.5 ล้านบางทีอาจจะมากกว่านั้น แล้วที่สำคัญที่สุด ต่อให้ไม่ริบ ถูกอายัดไว้ระหว่างดำเนินคดีก็ทมาหากินไม่ได้
คุณอภิชาติ : บางทีเป็นปีเลย เป็นแบบนี้จริงๆ สิ่งที่ส.ส.วิโรจน์พูดมาถูกทั้งหมด แต่ขอเพิ่มรายละเอียด เมื่อเร็ว ๆ นี้เกินแค่ 250 กิโลกรัม ถูกจับกุม เสีย 5 หมื่น คือส่วยที่ขอเปลี่ยนสำนวน รถ 1 คันต่อเที่ยว ใช้เวลาไป-กลับ 3 วัน จะเหลือกำไรประมาณ 2,000 กว่าบาท หลังจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมัน หักลบกลบหนี้ไปแล้ว 2,000 กว่าบาทที่เหลือ ยังไม่ได้คำนวณถึงการสึกหลอของยางอีก
พิธีกร : หมายความว่ารถคันนี้วิ่งตามกฎหมายมาทั้งเดือน มาโดนคดีนี้คดีเดียวหมดเลย
คุณอภิชาติ : ใช่ครับ
คุณวิโรจน์ : แล้วรู้ไหมเวลาศาลท่านปรับ ท่านก็พิจารณาว่าไม่มีเจตนา แต่ผิดจริง ก็ปรับ ส่วนใหญ่คือ 3,000-5,000 บาท แต่ปรากฏว่าก็ถูกพนักงานสอบสวนบางคนที่ไม่ดี ขู่ว่าจะริบรถ ต้องจ่ายส่วย50,000-70,000 บาท อย่างถูกก็ 30,000 บาท
คุณอภิชาติ : บางครั้ง 100,000-150,000 บาท
พิธีกร : ไม่จ่ายถูกริบจริงๆใช่มั้ย
คุณอภิชาติ : ที่จ่ายแสนกว่าบาท พวกที่แบกน้ำหนักจริงๆ เพื่อวิ่งเต้นไม่ให้ถูกยึดรถ
คุณวิโรจน์ : มีคนที่เกินมาแบบไม่มีเจตนา ต้องไปจ่ายเพราะกลัวถูกริบรถ กลัวถูกยึดอุปกรณ์ทำมาหากิน มีถูกพลเมืองดีชี้ให้จับ ก็ขายสำนวน ค้าสำนวนได้อีก เรียกเงิน 70,000-100,000 บาท เพื่อเปลี่ยนความสัมพันธ์จากลูกจ้างกับนายจ้างเป็นผู้เช่ากับให้เช่า และเปลี่ยนเนื้อหาจาก 100 ตัน เป็น 52 ตัน เพื่อให้ศาลลงโทษแบบลหุโทษ แบบนี้ก็มี ต้องส่งสัญญาณเตือนว่าอย่าทำเลย
พิธีกร : ต้องถามผู้ประกอบการ ตอนนี้มีความมั่นใจกับก้าวไกล กับคุณวิโรจน์มั้ย ว่าจะแก้ไขปัญหาส่วยได้
คุณอภิชาติ : มั่นใจเต็ม 100 เพราะอดีตที่ผ่านมาเวลาเค้ารับเรื่องของเรา ก็บอกเพียงจะติดตามและส่งให้ แต่นี่คุณวิโรจน์เจาะลึกเลย ลุยเองด้วย จริงๆ 1-2 วันแรกที่เผยแพร่ตะวันยิ้มหรือกระต่าย ยังคิดว่าเล่นมุกอะไร ก็ดูอยู่
สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมขณะนี้เพราะประชาชนได้พิสูจน์แล้วว่า 8-9 ปีที่ผ่านมา เราไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่ถอยหลังลงคลอง เพราะฉะนั้นอะไรที่จะเปลี่ยนภาคธุรกิจให้ดีขึ้น จังหวะนี้แหละ ส่วนการไม่มีประสบการณ์ ทุกคนไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด ในเมื่อมีการเรียนรู้ก็ทำให้เรามั่นใจว่าทำจริง
พิธีกร : แล้วทางคุณวิโรจน์ สติกเกอร์ได้ข้อมูลจากไหนมา
คุณวิโรจน์ : มาจากผู้ประกอบการกิจการขนส่ง สหพันธ์เข้ามาประสานงานในภายหลัง พอเห็นว่ามีข้อมูล ก็มีการติดต่อมาพูดคุยกัน ทักมาทางเพจ เราก็อยากแก้ปัญหาจริงๆ การมีประสบการณ์บางครั้งก็มีอุปสรรค มีเรื่องบุญคุณกันมา แต่ไม่มีใครมามีบุญคุณกับก้าวไกล และก้าวไกลก็ไม่ได้รับเงินทุนสีดำ สีเทาที่เกี่ยวกับธุรกิจแบบนี้ ส่วยเราก็ไม่เกี่ยวข้องด้วย จึงสามารถจัดการได้ตามครรลองครองธรรม เราไม่ได้ปราบอย่างเดียว อย่างเรื่องกฎหมายก็ต้องดูเรื่องเปรียบเทียบปรับด้วยหรือไม่
มีความสุขมากๆที่ได้คุยกับทางสหพันธ์ เค้าบอกว่าถ้าผิดก็ยินดีรับผิด แต่อยากให้โทษสมสัดส่วนที่ควรจะเป็น
พิธีกร : เพราะฉะนั้นจึงเสนอแนวทางการลงโทษ ถ้าเกินเล็ก ๆ น้อย ๆ
คุณวิโรจน์ : เปรียบเทียบปรับ ก็ต้องไปแก้กฎหมาย ไม่ใช่เกิน 100 กิโลกรัม จะไปริบรถเค้า มันก็เอื้อประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ดีบางคนใช้เป็นเครื่องมือในการรีดไถอีก
พิธีกร : แนวทางของเราในวันนี้จะมีตออะไรมาขวางอีกมั้ย
คุณวิโรจน์ : ก็คงทำงานร่วมกันกับทางสหพันธ์ขนส่งทางบกฯ และสมาคมผู้ประกอบการด้านการขนส่งอื่นๆ แก้ไขกฎระเบียบต่างๆให้มันเป็นจริง และสอดคล้องกับหลักวิศวกรรม
พิธีกร : มีการประเมินมั้ยว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ ส่วยรถบรรทุกจะได้หมดไป
คุณวิโรจน์ : คิดว่าตอนนี้เบาลงแล้ว แต่ที่ต้องแก้ต่อคือการไม่ให้เกิดขึ้นอีก และผู้ประกอบการที่สุจริตต้องอยู่รอดได้ พอแก้กฎหมาย เดี๋ยวนโยบายในการสนับสนุน อุดหนุน หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการกิจการขนส่งและรถโดยสารสาธารณะ ที่เราบอกว่าจะทำนโยบายพุ่งเป้า ก็ต้องมาพิจารณากัน ถ้าเค้าได้รับการดูแลให้สามารถทำกำไรได้โดยสุจริต ไม่มีกฎระเบียบอะไรให้เจ้าหน้าที่ไปจุกจิก ก่อความเดือดร้อนรังควาญเพื่อรีดเอาส่วย ก็ไปกันได้ สุดท้ายต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้ด้วย ซึ่งวันนี้เรามีการชั่งน้ำหนักรถวิ่งแล้ว ถ้าเกินเท่าไหร่ เป็นลหุโทษก็ส่งใบสั่งทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังผู้ประกอบการ เพราะเรามีกล้องจับ พอส่งแล้วผู้ประกอบการก็ชำระค่าปรับทางออนไลน์ ไม่ต้องมาถูกรีด เจ้าหน้าที่ที่ทำงานสุจริตก็สบายใจ เพราะเราแก้ปัญหาแบบทั้งระบบ ปราบปราม แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โทษเปรียบเทียบปรับสมสัดส่วน มีการใช้เทคโนโลยี และที่สำคัญที่สุดคือยกเลิกระบบตั๋วและการซื้อขายตำแหน่งในแวดวงข้าราชการ ถ้าทำทั้ง 4 ธงได้ ก็จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
พิธีกร : ถ้าสมมุติว่า ก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล จะมีโอกาสเกิดเกมส์พลิก ส่วยก็จะหายไปพร้อมก้าวไกลหรือไม่
คุณวิโรจน์ : วาระในการทำให้ประเทศนี้อยู่ในร่องในรอย ในความถูกต้องปราศจากคอร์รัปชัน คิดว่าไม่ใช่แค่ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น อยู่ที่ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมร่วมขับเคลื่อน ไม่ว่าก้าวไกลอยู่ในสถานะใด คอร์รัปชันเป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้ เราจะใช้กลไกอำนาจเท่าที่เรามีอย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะสกัดกั้นไม่ให้เกิดปัญหาคอร์รัปชัน
พิธีกร : ตอนนี้มีความสบายใจบ้างหรือยัง
คุณอภิชาติ : ทนมาตั้ง 20 กว่าปี ถ้าจะรออีก 4 ปีข้างหน้า ก็ยินดีรอ เพราะเรามีความมั่นใจกับการไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ในฐานะประชาชนเราทำใจอยู่แล้วเพราะเราเห็นปัญหาที่รายล้อม เราเข้าใจ ในอดีตก็เคยถูกเตะตัดขา ก็ต้องมุ่งมั่นอดทน
พิธีกร : เรื่องนี้ต้องเอาให้สุดมั้ย
คุณวิโรจน์ : ถ้าการจัดการกับปัญหาเรื่องส่วยแล้วจะไม่ได้เป็นรัฐบาล ประเทศนี้ก็แปลกแล้ว ก็เอารัฐบาลแบบส่วยๆไปแล้วกัน
พิธีกร : มีส่วยอะไรอีกอยู่ในมือ ที่จะเอามาปราบปราม
คุณวิโรจน์ : อย่างเมื่อกี้เราก็พูดถึงเรื่องการค้าสำนวน ส่วยลอตเตอรี่ ศุลกากร แรงงานต่างชาติก็ยังมีประเด็น รถตู้ รถนักเรียน ทุกรถ รถกระบะ สติกเกอร์มันเยอะ
คุณอภิชาติ : ยืนยันว่าทุกประเภท
พิธีกร : คุณวิโรจน์ต้องนั่งตำแหน่งไหน
คุณวิโรจน์ : ยังไม่สำคัญ คำว่าหมดไปหรือเปล่า คนที่ทำไม่ดีต้องแอบทำแบบเงียบๆ โตไม่ได้ โตเมื่อไหร่ถูกปราบเรียบ